×

เลือกตั้ง 2566 : กรณ์ประกาศรื้อโครงสร้างพลังงานไม่กลัวใคร ชี้มีคนร่ำรวยจากการสร้างโรงไฟฟ้า แต่ประชาชนแบกรับหมด หลังค่าไฟพุ่งสูง

โดย THE STANDARD TEAM
19.04.2023
  • LOADING...
กรณ์ โครงสร้างพลังงาน

วันนี้ (19 เมษายน) กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ลงพื้นที่เพื่อช่วย ธาม สมุทรานนท์ ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เขตบางกะปิ หมายเลข 8 และ กอบกฤต สุขสถิตย์ ผู้สมัคร ส.ส. กทม. เขตห้วยขวาง หมายเลข 13 ณ ตลาดซอยลาดพร้าว 87 โดยมีพ่อค้า แม่ค้า และประชาชน ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี 

 

พร้อมทั้งสะท้อนปัญหาค่าไฟที่เพิ่มขึ้นให้กับกรณ์ฟัง เนื่องจากทราบว่ากรณ์เป็นผู้ที่ต่อสู้เรื่องค่าไฟฟ้า และพรรคชาติพัฒนากล้าเองก็ประกาศจะรื้อโครงสร้างพลังงาน เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน 

 

กรณ์ระบุว่า ประชาชนสะท้อนเป็นเสียงเดียวกันว่าค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทุกครัวเรือน และในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รัฐบาลประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าตามมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน โดยจะปรับขึ้นค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนจาก 4.72 บาท เป็น 4.77 บาท แต่ลดให้ค่าไฟฟ้าภาคอุตสาหกรรมจาก 5.33 บาท ลงมาเท่ากับภาคครัวเรือนคือ 4.77 บาท เดือนพฤษภาคมจึงเป็นวันเผาจริงของประชาชน

 

กรณ์กล่าวว่า ไฟฟ้าส่วนใหญ่ใช้โดยภาคอุตสาหกรรม ตนเห็นด้วยที่จะลดราคาให้ แต่ขอให้ลดเพียง 8-9% ได้ไหม เพราะเป็นจำนวนที่ไม่ต้องเพิ่มภาระให้ประชาชนในช่วงที่พวกเขาเดือดร้อน และมันก็ไม่มีเหตุผลที่มีตรรกะอธิบายได้ว่าทำไมต้องขึ้นเวลานี้ เนื่องจากต้นทุนสำคัญในการผลิตไฟฟ้าคือการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ ในอดีตก๊าซที่เราใช้ส่วนใหญ่เป็นก๊าซจากอ่าวไทย แต่ในช่วงหลังมีประเด็นปัญหา ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปริมาณก๊าซลดลงตามธรรมชาติ 

 

อีกส่วนคือการโอนถ่ายสัมปทาน ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการทำงานของบริษัทในเครือ ปตท. คือ ปตท.สผ. พอปริมาณก๊าศที่เราผลิตจากอ่าวไทยลดลง มันเลยทำให้เราต้องไปซื้อก๊าซที่เป็น LNG จากต่างประเทศมากขึ้น และโชคไม่ดีไปเจอช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาสูงขึ้น ส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟในช่วงเวลานั้นสูงขึ้น แต่ถ้าเรามาดูความเคลื่อนไหวของราคาก๊าซ LNG ตั้งแต่ระดับช่วงที่สูงที่สุดอยู่ที่ 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู และได้ลดราคาลงมาอย่างรวดเร็วภายใน 6 เดือน เหลือ 11 ดอลลาร์สหรัฐ ต้นทุนค่าใช้จ่ายของตัวเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าลดลง ทำไมถึงต้องปรับค่าไฟเพิ่มขึ้น 

 

นอกจากนี้อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทเรารักษาเสถียรภาพได้ดี ต้นทุนในการซื้อก๊าซก็ถูกลงด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อต้นทุนราคาก๊าซถูกลง เงินบาทก็แข็ง ไม่มีเหตุผลใดที่ต้องปรับขึ้นค่าไฟ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนเรื่องของโครงสร้างอุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องของค่าไฟฟ้า

 

กรณ์กล่าวอีกว่า วันนี้ประชาชนรับภาระเต็มๆ โดยที่ไม่ได้มีการประเมินเลยว่าสาเหตุที่ต้นทุนมันเพิ่มขึ้นด้วยเหตุใด มีการอภิปรายในสภาหลายครั้งว่า ในอดีตการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ไปอนุมัติเซ็นสัญญาที่จะซื้อไฟจากภาคเอกชนในปริมาณที่มากเกินความต้องการ 

 

โดยปกติการรักษาเสถียรภาพอุตสาหกรรมไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 15% ซึ่งเป็นปริมาณที่เหลือเฟือเพียงพอแล้ว แต่วันนี้กำลังผลิตของเรามีมากกว่าความต้องการถึง 50% ซึ่งมันเป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายของ กฟผ. ที่ต้องไปจ่ายให้กับภาคเอกชน คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 20% ที่โยนภาระให้ประชาชนแบกรับ 

 

อีกปัญหาคือ เรื่องของปริมาณก๊าซที่เราสามารถผลิตในอ่าวไทย ตรงนั้นมันก็เกิดจากความผิดพลาดในการถ่ายโอนตัวสัมปทานระหว่างเชฟรอนกับ ปตท.สผ. ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ปริมาณก๊าซที่เราผลิตได้ในต้นทุนราคาที่ต่ำในอ่าวไทยมีปริมาณน้อยมาก 

 

น่าแปลกตรงที่ ปตท. สามารถโอนต้นทุนที่จะต้องไปซื้อก๊าซจากต่างประเทศมาในราคาแพงขึ้นให้กับ กฟผ. ได้ ซึ่ง กฟผ. ผิดพลาดก็สามารถที่จะโอนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นส่งต่อมาให้กับประชาชนได้ ประชาชนเป็นผู้รับภาระแต่เพียงผู้เดียว ไม่มีอำนาจที่จะเจรจาต่อรองใดๆ เลย ซึ่งตรงนี้เป็นโครงสร้างที่ต้องปรับเปลี่ยน เป็นเรื่องที่ชาติพัฒนากล้าจะต้องมาทุบเรื่องนี้แน่นอน

 

“ระบบการกำหนดค่าไฟบ้านเราเป็นระบบส่งต่อให้ประชาชนทั้งหมด ผู้ผลิตไม่รับความเสี่ยงอะไรเอาไว้เลย ต้นทุนเท่าไรก็ส่งมาที่ประชาชน ไม่แปลกที่จะทำให้มีคนร่ำรวยจากการสร้างโรงไฟฟ้า ผมมองว่ามันไม่ยุติธรรม 

 

“และที่มีการออกมาให้ข่าวว่าไม่สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ เนื่องจากได้ลงนามในสัญญาแล้ว ก็ต้องรอการเปลี่ยนแปลงครับ ถ้าท่านไม่ทำจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม แต่ส่วนตัวผมเชื่อว่าทำได้ มันอยู่ที่ความตั้งใจ เรื่องของการรื้อระบบ การคำนวณราคาค่าไฟฟ้า มันเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อทุนใหญ่แน่นอน เพราะมีผู้เสียประโยชน์ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราไม่กลัว และสาเหตุที่เราเลือกอยู่พรรคเล็ก เพราะการมีอิสระทางความคิดและนโยบาย เราไม่ต้องพึ่งทุนมากมายจากใคร ทำให้เราสามารถรักษาความซื่อสัตย์ต่อประโยชน์ที่มีต่อประชาชนไว้ได้” กรณ์กล่าว 

 

สำหรับ ธาม สมุทรานนท์ ผู้สมัคร ส.ส. เขตบางกะปิ จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยลอนดอน ปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ จากคิงส์คอลเลจลอนดอน ซึ่งเป็นวิทยาลัยหนึ่งในมหาวิทยาลัยลอนดอน 

 

เมื่อจบการศึกษาได้กลับมาทำเรื่องที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เข้าสู่เส้นทางการเมือง และเป็นผู้ที่คิดโครงการ ‘อารยสถาปัตย์’ ปรับปรุงบ้านให้ผู้สูงอายุและคนพิการ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในบ้าน ด้วยมีประสบการณ์ฝังใจจากคุณทวดและคุณย่าที่เกิดอุบัติเหตุล้มในบ้าน คุณทวดเสียชีวิต ส่วนคุณย่ากลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง จึงผันตัวเองสู่การทำธุรกิจบ้านจัดสรร ก่อนจะตัดสินใจเข้าสู่การเมือง เพื่อผลักดันนโยบายการสร้างที่อยู่อาศัยเพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุและคนพิการให้ปลอดภัย 

 

สำหรับ กอบกฤต สุขสถิตย์ ผู้สมัคร ส.ส. เขตห้วยขวาง เป็นอาจารย์หนุ่มรุ่นใหม่ที่ต้องการมาเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และใช้สโลแกนในการหาเสียงว่า ‘การเมืองไทยจะดีขึ้นได้ ต้องเริ่มต้นจากคนธรรมดาเข้าสภา’

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X