รายงานด้านพลังงานฉบับล่าสุดที่จัดทำโดยกลุ่ม NGO อย่าง Global Energy Monitor (GEM) ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริกาชี้ว่า โลกพัฒนาและใช้ประโยชน์จากพลังงานถ่านหินเพิ่มมากขึ้น แม้เชื้อเพลิงเหล่านี้จะก่อให้เกิดมลพิษตามมาอย่างมากก็ตาม
โดยรัฐบาลของประเทศในประชาคมโลกต่างเห็นพ้องที่จะปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงาน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในความตกลงปารีส ซึ่งเห็นว่าสถานีหรือโรงไฟฟ้าที่ใช้ประโยชน์จากพลังงานถ่านหินทั้งหมดควรจะต้องยุติการดำเนินงานลงภายในปี 2040
GEM เฝ้าติดตามสถานการณ์ด้านการใช้พลังงานในหลายประเทศทั่วโลกแล้วพบว่า โครงการถ่านหินที่สร้างใหม่เกือบทั้งหมดอยู่ในประเทศจีน โดยทั้งประชาคมโลกมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินแล้วประมาณ 2,100 กิกะวัตต์ (GW) และกำลังอยู่ในระหว่างการผลิตเพิ่มเติมอีก 176 กิกะวัตต์จากโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 189 แห่ง รวมถึงอยู่ในระยะวางแผนอีกราว 280 กิกะวัตต์
โดยโครงการถ่านหินแห่งใหม่ราว 90% อยู่ในจีน ขณะที่อินเดีย อินโดนีเซีย ตุรกี และซิมบับเว ก็เป็นประเทศที่เพิ่งประกาศจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ภายในประเทศเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ รายงานของ GEM ยังเผยอีกว่า ความสามารถในการเผาถ่านหินทั่วโลกเพิ่มขึ้น 19.5 กิกะวัตต์เมื่อปี 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งเพียงพอที่จะใช้เป็นพลังงานให้แสงสว่างในย่านที่พักอาศัยราว 15 ล้านหลังคาเรือน
อีกทั้งปริมาณการใช้ประโยชน์จากพลังงานถ่านหินที่เพิ่มสูงขึ้น 1% จะยิ่งทำให้โลกควรปลดระวางการใช้ถ่านหินเร็วขึ้น 4.5 เท่า เพื่อให้การบรรลุเป้าหมายในความตกลงปารีสที่ต้องการจะควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรมพอจะเกิดขึ้นจริงได้ โดยจำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เตรียมจะปิดตัวลงมีเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า ขณะที่จำนวนโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปิดตัวแล้วจริงๆ ยังแทบไม่ปรากฏให้เห็น
ทางด้าน ฟลอรา แชมปีนอยส์ หนึ่งในทีมผู้เขียนรายงานระบุว่า หากการใช้ประโยชน์จากถ่านหินยังคงอยู่ในเกณฑ์นี้ต่อไป การปรับเปลี่ยนแนวทางในอนาคตอาจไม่เพียงพอที่จะหลีกเลี่ยงความแปรปรวนทางด้านสภาพภูมิอากาศ
โดย GEM ได้เสนอแนะให้บรรดาประเทศที่มีความมั่งคั่งช่วยประเทศที่เหลือในประชาคมโลกยุติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและสถานีพลังงานถ่านหินใหม่ รวมถึงสนับสนุนและปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานถ่านหินมาเป็นพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง
ขณะนี้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 2,500 แห่งทั่วโลก โดยถ่านหินคิดเป็นประมาณ 1 ใน 3 ของพลังงานเชื้อเพลิงที่มีการติดตั้งโครงสร้างทางพลังงานขึ้นในประชาคมโลก ตามมาด้วยพลังงานเชื้อเพลิงดึกดำบรรพ์ พลังงานนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียน
แฟ้มภาพ: Rudmer Zwerver / Shutterstock
อ้างอิง: