มูลค่าหุ้นของสี่ตระกูลมหาเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ร่ำรวยที่สุดในฮ่องกงหายไปกว่า 1 ใน 3 หรือราว 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หลังเผชิญแรงกดดันทั้งจากมาตรการควบคุมโควิดและอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
4 ตระกูลที่กุมอำนาจในตลาดอสังหาของฮ่องกง ได้แก่ ตระกูล Li แห่ง CK Asset, ตระกูล Kwok แห่ง Sun Hung Kai Properties, ตระกูล Lee แห่ง Henderson Land และตระกูล Cheng แห่ง New World Development
ราคาหุ้นของบรรดาเจ้าสัวเหล่านี้ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหุ้นฮ่องกงลดลงเฉลี่ย 35% นับแต่เดือนเมษายน 2019 ส่งผลให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ของทั้ง 4 บริษัทรวมกันลดลงจาก 1.32 แสนล้านดอลลาร์ มาเหลือ 8.6 หมื่นล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยราคาหุ้นของ New World และ Henderson ลดลงมากที่สุด 62% และ 40% ตามลำดับ
John Burns ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและบริหารรัฐกิจของ University of Hong Kong กล่าวว่า “ตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมากกว่าในอดีตที่ผ่านมา”
ภายใต้นโยบายที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ยุคที่ฮ่องกงอยู่ภายใต้อาณานิคมของบริติช มีเพียงกลุ่มครอบครัวที่ร่ำรวยไม่กี่กลุ่มที่สามารถประมูลซื้อที่ดินจากรัฐบาลได้ การเพิ่มขึ้นของราคาอสังหาในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ช่วยให้ครอบครัวเหล่านี้ขยายธุรกิจออกไปครอบคลุมทั้งในส่วนค้าปลีก โครงสร้างพื้นฐาน และโทรคมนาคม
แต่หลังจากที่ราคาขายบ้านในฮ่องกงดิ่งลง 40% เช่นเดียวกับอสังหาในกลุ่มของที่อยู่อาศัยอื่นๆ ดิ่งลง 15% เมื่อปีก่อน ทำให้กำไรของ Sun Hung Kai ผู้พัฒนาอสังหาที่มีมูลค่าตลาดมากที่สุดของฮ่องกง ลดลง 36% เช่นเดียวกับ New World Development ที่มีกำไรลดลง 14% สำหรับช่วงเวลา 6 เดือนหลังของปี 2022 ในขณะที่กำไรทั้งปีของ Henderson Land ดิ่งลง 29%
ด้าน CK Asset ซึ่งก่อตั้งโดยบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในฮ่องกงอย่าง Li Ka-shing ยังคงสร้างกำไรเติบโตขึ้นได้ 2% เมื่อปีก่อน แม้ว่ารายได้จากการขายอสังหาในฮ่องกงและจีนแผ่นดินใหญ่จะดิ่งลง 30% เนื่องจากการตัดขายสินทรัพย์บางส่วน และการที่ธุรกิจผับในสหราชอาณาจักรอย่าง Greene King กลับมาทำกำไรได้
ทั้งนี้ ผลกระทบจากนโยบายล็อกดาวน์ในจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้รายได้ของทั้ง 4 บริษัท ทำได้รวมกันเพียง 4.8 พันล้านดอลลาร์ ลดลง 40% จากปีก่อนหน้า และเป็นระดับต่ำสุดนับแต่ปี 2019
นอกจากแรงกดดันในเรื่องธุรกิจแล้ว มหาเศรษฐีในฮ่องกงกำลังเผชิญกับความท้าทายจากอำนาจต่อรองกับทางการจีนที่เริ่มลดลง
Ho-fung Hung ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐกิจการเมืองจีนของ John Hopkins University กล่าวว่า การที่รัฐบาลจีนเริ่มไม่ไว้วางใจเจ้าสัวของฮ่องกงนับเป็นปัจจัยที่บ่งชี้ถึงการลดอำนาจของพวกเขาภายในรัฐบาลลง
“รัฐบาลจีนกำลังพยายามลดอิทธิพลด้านการเมืองของเจ้าสัวฮ่องกง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับนโยบายของรัฐบาลจากการเป็นพันธมิตรกับภาคธุรกิจในจีนและฮ่องกง ไปสู่การตรวจสอบและแม้กระทั่งลดอิทธิพลของพวกเขาลง”
แรงกดดันที่สำคัญอย่างหนึ่งต่อตระกูลเจ้าสัวเหล่านี้คือ การที่ประชาชนในฮ่องกงส่วนใหญ่ยังไม่สามารถที่จะเป็นเจ้าของบ้านของตัวเอง ขณะที่ Burns กล่าวเสริมว่า “รัฐบาลจีนกำลังบอกพวกเขาว่าเราต้องการความร่วมมือ ต้องการความช่วยเหลือ แต่คุณต้องทำงานร่วมกับเราโดยให้ความสำคัญกับนโยบายของเราเป็นหลัก”
อย่างไรก็ตาม ในอีกมุมหนึ่งของตลาดอสังหาที่ซบเซาลงก็เป็นโอกาสสำหรับการขายให้กับชาวจีนที่สนใจมากขึ้น โดย 3 ใน 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ ยกเว้น Sun Hung Kai Properties ต่างมีสัดส่วนยอดขายจากชาวจีนแผ่นดินใหญ่เพิ่มขึ้น และปัจจุบันก็เริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวของภาคอสังหาให้เห็นแล้ว
ช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Sun Hung Kai สามารถขายห้องชุดจำนวน 352 ยูนิต ในโครงการใหม่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 255 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ราคาบ้านในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 7% นับแต่ต้นปีที่ผ่านมา อ้างอิงจากข้อมูลของ Centaline
ด้าน Heron Lim นักเศรษฐศาสตร์ของ Moody’s Analytics กล่าวว่า “ผู้พัฒนาอสังหาของฮ่องกงยังไม่ได้เผชิญกับปัญหาหนี้อย่างที่เกิดขึ้นในจีน ทำให้บริษัทอสังหาในฮ่องกงอยู่ในจุดที่ได้เปรียบมากกว่า”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ‘ดอกเบี้ยขาขึ้น’ กำลังเขย่าตลาดที่อยู่อาศัยในหลายประเทศทั่วโลก ราคาบ้านในออสเตรเลีย-แคนาดาร่วงกว่า 10%
- ภาระ ‘ผ่อนบ้าน’ อาจเป็นพายุลูกใหม่ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลก เมื่อดอกเบี้ยบ้านแพงสุดรอบ 15 ปี
- ผู้ซื้อบ้านชาวจีนกลับลำ เร่งชำระคืนเงินกู้ที่อยู่อาศัยล่วงหน้า ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
อ้างอิง: