×

Cryptomind ชี้ Bitcoin Halving รอบนี้อาจไม่ช่วยดันราคาได้แรงเท่าในอดีต แต่มองราคาตอนนี้เป็นจุดน่าลงทุน

05.04.2023
  • LOADING...
Bitcoin Halving

เมื่อวันที่ 4 เมษายน Cryptomind จัดงานประชุมในหัวข้อ ‘Investment Outlook 2023’ เพื่อฉายภาพทิศทางอุตสาหกรรมคริปโตที่กำลังเกิดขึ้น โดยมี สัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Cryptomind Advisory และผู้ร่วมก่อตั้ง Cryptomind Group, พีรพัฒน์ หาญคงแก้ว ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนของ Cryptomind Advisory และผู้ก่อตั้ง Blockchain Review รวมทั้ง มานะ คานิโยว หัวหน้าฝ่ายการพาณิชย์และการลงทุนของ Merkle Capital เป็นผู้ดำเนินงานดังกล่าว   

 

ในหัวข้อ ‘Research Investment Outlook’ พีรพัฒน์พูดถึงประเด็นทิศทางราคาของ Bitcoin และภาพรวมของตลาดคริปโต โดยระบุว่า หนึ่งในดัชนีที่ควรติดตามสำหรับการลงทุนใน Bitcoin คือ ‘Market Value to Realised Value’ (MVRV) ซึ่งเป็นดัชนี ที่บ่งบอกว่า ณ ระดับราคา Bitcoin ขณะนั้น นักลงทุนรายอื่นมีต้นทุนของ Bitcoin มากกว่าหรือน้อยกว่าเพียงใด

 

ซึ่งหาก MVRV มีค่ามากกว่า 1 หมายความว่าต้นทุนสำหรับการซื้อ Bitcoin ที่ระดับราคานั้นๆ จะสูงกว่านักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด แต่ถ้าหาก MVRV มีค่าต่ำกว่า 1 ก็หมายความว่าต้นทุนสำหรับการซื้อ Bitcoin ที่ระดับราคานั้นๆ ต่ำกว่านักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาด

 

โดยพีรพัฒน์ชี้ว่า ณ ราคา Bitcoin ในขณะนี้ มีค่า MVRV ที่เกิน 1 มาเพียงเล็กน้อย ซึ่งโดยส่วนมากจากอดีต ถ้าซื้อที่ MVRV ประมาณนี้ก็จะตีความได้ว่า ได้ต้นทุนในระดับที่ไม่ได้แพงมาก เพราะเวลาตลาดเข้าสู่ภาวะกระทิง ค่า MVRV เคยไต่ไปจนถึงระดับ 3 เท่า หรือ 4 เท่า ซึ่งควรพิจารณาว่าเป็นจุดขาย

 

พีรพัฒน์กล่าวต่อถึงวัฏจักรการ Halving ของ Bitcoin ว่า ในอดีตที่ผ่านมา ที่การ Halving มีผลต่อราคา Bitcoin เพราะปัจจัยด้านอุปทานที่ลดลงพอสมควร ดังที่เห็นในรอบก่อนหน้าว่าเคยลดจากระดับ 25 BTC ต่อบล็อก เหลือ 12.5 BTC ต่อบล็อก และเหลือเพียง 6.25 BTC ต่อบล็อกในรอบก่อนหน้า

 

ซึ่งในวัฏจักรครั้งถัดไป ซัพพลายจะลดลงจาก 6.25 BTC ต่อบล็อก เหลือเพียง 3.125 BTC ต่อบล็อก ซึ่งอาจจะไม่ได้มีนัยมาก แต่ในส่วนของจิตวิทยาการลงทุนก็อาจมีผลให้ Bitcoin ในรอบหน้าดีดตัวไปได้ แต่อาจไม่รุนแรงเหมือนครั้งก่อน

            

ในแง่ Web3 infrastructure อย่าง ‘Chainlink’ ที่ถือได้ว่าเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ จากการนำข้อมูลจากโลกความจริงไปใส่ในบล็อกเชน โดยมีการนำไปใช้และต่อยอดอย่างมาก ซึ่งล่าสุดระบบ ‘Swift‘ ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรกับ Chainlink ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามการนำบล็อกเชนไปทำ Web3 ด้านอื่นๆ อย่าง Social Media อาจจะยังมีปัญหาเรื่อง User Experience ที่ยังไม่ค่อยดีเท่าไรนัก

 

นอกจากนี้ มานะได้กล่าวถึงกลยุทธ์การลงทุนในคริปโต โดยชี้ว่าการกระจายการลงทุนไปยังคริปโตในสัดส่วนหนึ่งของพอร์ตการลงทุนและถือไว้ได้นานพอ หรือเกิน 5 ปีขึ้นไป จะช่วยขับเคลื่อนผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนได้ดีพอสมควร

 

ด้านสัญชัยกล่าวในหัวข้อ ‘Thailand Landscape’ ว่า การทำธุรกิจด้านคริปโตในประเทศไทยในช่วงนี้นับว่าเป็นโอกาสที่ดี เนื่องจาก 6 ปัจจัยอันได้แก่ 

 

  1. คนไทยให้ความสนใจในสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มขึ้นอย่างมาก 
  2. ประเทศไทยมีกฎหมายที่สนับสนุนธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัล
  3. ประเทศไทยมีระบบนิเวศสำหรับคริปโตที่ครบถ้วน 
  4. ประเทศไทยมีธุรกิจด้านคริปโตที่ดำเนินการอยู่แล้ว 
  5. มีโอกาสจากผลวิเคราะห์ของแบบสำรวจ 
  6. ไทยมีโอกาสเป็นศูนย์กลางด้านสินทรัพย์ดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

สถิติเผย คนไทย 4.14% มีบัญชีเทรดคริปโต 

สัญชัยชี้ว่า จากสถิติของ CoinMarketCap ประจำปี 2022 เผยว่าประชากรไทยมีการเข้าชมเว็บไซต์ CoinMarketCap เฉลี่ย 920,000 ครั้งต่อเดือน จากประชากรทั้งหมด 69 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 1.2% ของประชากรรวม 

 

ไม่เพียงเท่านั้น ประชากรไทยยังมีจำนวนบัญชีคริปโตที่เปิดกับศูนย์การแลกเปลี่ยนของไทยกว่า 2,910,801 บัญชี คิดเป็นสัดส่วน 4.14% ของประชากรทั้งหมด เทียบกับตลาดหลักทรัพย์ที่เปิดมากว่า 47 ปี กลับมีจำนวนบัญชีรวมเพียงแค่ 3.4 ล้านบัญชี

 

การพัฒนากฎหมายด้านสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในระยะเริ่มต้น ทาง ก.ล.ต. และหน่วยงานรัฐต่างพร้อมรับฟังและปรับกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจได้ประโยชน์

 

ทั้งนี้ หลังจากเกิดเหตุการณ์ล่มสลายของบริษัทคริปโตชั้นนำอย่าง FTX ในช่วงปี 2022 ทำให้หน่วยงานด้านกำกับดูแลต่างตื่นตัวและดำเนินนโยบายอย่างเคร่งครัดมากยิ่งขึ้น

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีการออกใบอนุญาตที่เป็นระเบียบแบบแผนต่อการดำเนินการธุรกิจด้านคริปโตในแต่ละส่วนอย่างชัดเจน เช่น Digital Asset Exchange , Digital Asset Broker, Digital Asset Dealer, Digital Asset Fund Manager และ Digital Asset Advisor ซึ่งแตกต่างจากฮ่องกงที่รวบใบอนุญาตด้านคริปโตไว้เพียงแค่ใบเดียว

 

สำหรับโอกาสของการทำธุรกิจในประเทศไทยอยู่ทั้งในฝั่งของการ Tokenization ที่นำสินทรัพย์จากโลกความเป็นจริงผ่านบล็อกเชนอย่างกรณีของ Siri Token, Destiny Token และทางฝั่งของ NFTs ที่หลายแบรนด์ทั่วโลกเริ่มนำไปใช้ในการสื่อสาร และการให้สิทธิประโยชน์กับลูกค้า ซึ่งมีการยกตัวอย่างในกรณีของ Bar B Q Plaza ที่ออก GO(N)FT, Central Shopping Bag NFTs เป็นต้น

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X