กบน. หั่นราคาดีเซล 50 สตางค์ เหลือ 33.44 บาทต่อลิตร มีผลวันที่ 24 มีนาคมนี้ หลังจากราคาน้ำมันตลาดโลกปรับตัวลดลง อีกทั้งรัฐต่อเวลาลดภาษีสรรพสามิตไปอีก 2 เดือน พร้อมจับตารัสเซียลดกำลังผลิตน้ำมัน 5 แสนบาร์เรล และผลกระทบแบงก์สหรัฐฯ ล้มที่อาจลามสู่ยุโรป ซึ่งจะกดดันให้เงินบาทผันผวน
วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2566 ว่า กบน. เห็นชอบในการปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลงอีก 0.50 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกดีเซลอยู่ที่ 33.44 บาทต่อลิตร โดยราคาขายปลีกดีเซลใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคมเป็นต้นไป ซึ่งการปรับลดครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 หลังจากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาปรับลดไปแล้ว 2 ครั้ง รวม 1 บาทต่อลิตร
โดยการปรับลดราคาขายปลีกดีเซลให้กับประชาชน นอกจากจะช่วยประคับประคองค่าครองชีพประชาชนแล้ว ยังมีส่วนช่วยไม่ให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลเพิ่มสูงขึ้นจนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ตาม กบน. ยังเฝ้าระวังปัจจัยรุมเร้ารอบด้าน อาทิ การปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของรัสเซีย การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนหลังเปิดประเทศ ความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ
วิศักดิ์กล่าวว่า สาเหตุของการปรับลดราคาครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากค่าเฉลี่ยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตลาดโลกโดยเฉพาะน้ำมันดีเซลลด โดยตั้งแต่เดือนมกราคมถึง 15 มีนาคม 2566 พบว่า ราคาน้ำมันดีเซลเดือนมกราคมเฉลี่ยอยู่ที่ 113.95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เดือนกุมภาพันธ์ 103.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และวันที่ 1-15 มีนาคมเฉลี่ย 102.21 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ขยายระยะเวลาปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาทออกไปอีก 2 เดือน ตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม – 20 กรกฎาคม 2566 และสถานะของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเริ่มดีขึ้น มีฐานะติดลบต่ำกว่าหลักแสนล้านบาทแล้ว
โดยล่าสุดฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงวันที่ 12 มีนาคม 2566 กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิติดลบ 99,662 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 53,290 ล้านบาท และบัญชีก๊าซแอลพีจีติดลบ 46,372 ล้านบาท โดยบัญชีน้ำมันมีรายได้จากการเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเข้ากองทุน 5.05 บาทต่อลิตร ณ วันที่ 17 มีนาคม 2566 จากที่กองทุนเคยอุดหนุนสูงถึง 10 บาทต่อลิตร ส่วนความคืบหน้าการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ล่าสุดจากสถานการณ์ราคาโลกเริ่มปรับตัวลง คาดว่าอาจใช้ไม่ถึงตามกรอบ และเหลืออยู่ประมาณ 1.1 แสนล้านบาท โดยกองทุนหวังว่าอาจน้อยกว่านี้หากไม่มีปัจจัยลบรุนแรง อาทิ สงคราม” วิศักดิ์กล่าว
“แต่ความผันผวนของราคาน้ำมันยังต้องจับตาเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงผันผวนปรับขึ้นลง อาทิ ประเทศรัสเซียปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 5 แสนบาร์เรลต่อวันในเดือนมีนาคมนี้ หรือคิดเป็น 5% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนหลังเปิดประเทศ และการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ส่งสัญญาณปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีก รวมทั้งกรณีวิกฤตภาคการเงินสหรัฐฯ และสถานะการเงินที่ต้องการความช่วยเหลือของธนาคารเครดิตสวิส ที่เป็นธนาคารรายใหญ่อันดับ 2 ของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งล้วนกดดันให้ค่าเงินบาทผันผวน” วิศักดิ์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิด 5 เหตุผล ทำไมจีนเปิดประเทศแล้ว แต่ตลาดน้ำมันโลกยังนิ่ง
- ‘บีซีพีจี’ ทุ่ม 9 พันล้านบาท ฮุบธุรกิจ ‘คลังน้ำมันและท่าเรือ’ เปิดทางสู่ธุรกิจ ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ ระบุมีกระแสเงินสดพร้อมลงทุน ไร้แผนเพิ่มทุน
- สะพัด ‘บางจาก’ ทุ่ม 5 หมื่นล้านบาท ปิดดีลเทกโอเวอร์ ESSO จ่อชงบอร์ด 9 ม.ค. 66 ต่อยอดธุรกิจ Jet Fuel ปูทางขายน้ำมันเข้าสนามบินทั่วประเทศ