เกิดอะไรขึ้น:
ราคาสัตว์บกในประเทศลดลง นำโดยราคาสุกรลดลง 14%MoM สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือนที่ 84 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนกุมภาพันธ์ (ลดลง 7%YoY) และอยู่ที่ 91 บาทต่อกิโลกรัมใน 1Q66TD (ลดลง 4%YoY และ 11%QoQ) หลักๆ ได้รับผลกระทบจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกรผิดกฎหมาย น้ำหนักสุกรต่อตัวที่เพิ่มขึ้นจากการเลี้ยงสุกรนานกว่าคาดของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรบางราย และส่วนหนึ่งเกิดจากอุปสงค์ที่ลดลงหลังตรุษจีน
ส่วนราคาไก่เนื้อในประเทศลดลง 7%MoM สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 11 เดือนที่ 40 บาทต่อกิโลกรัมในเดือนกุมภาพันธ์ (เพิ่มขึ้น 3%YoY) และอยู่ที่ 41.5 บาทต่อกิโลกรัมใน 1Q66TD (เพิ่มขึ้น 6%YoY แต่ลดลง 7%QoQ) เพราะอุปสงค์ลดลงหลังตรุษจีน และราคาสุกร (ผลิตภัณฑ์ทดแทน) ลดลง
InnovestX Research คาดว่าราคาสุกรในประเทศจะปรับขึ้น MoM ในช่วงปลาย 1Q66 ถึงต้น 2Q66 จากอุปทานที่ตึงตัวขึ้นตามฤดูกาลในฤดูร้อน แต่มีแนวโน้มที่จะลดลง YoY เพราะอุปทานเพิ่มขึ้น โดยผู้เล่นรายใหญ่คาดว่าอุปทานสุกรจะค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติที่ระดับก่อนเกิดโรค ASF ในปี 2567 ราคาไก่เนื้อในประเทศซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ทดแทน มีแนวโน้มที่จะปรับตัวในทิศทางเดียวกัน
ด้านต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวขึ้นต่อสู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยราคาข้าวโพดในประเทศปรับขึ้นสู่ 13.5 บาทต่อกิโลกรัมใน 1Q66TD (เพิ่มขึ้น 17%YoY และ 8%QoQ) และราคากากถั่วเหลืองนำเข้าปรับขึ้นสู่ 23.4 บาทต่อกิโลกรัมใน 1Q66TD (เพิ่มขึ้น 9%YoY และ 2%QoQ) ทั้งนี้ ในเดือนมีนาคม USDA ได้ปรับประมาณการอุปทานข้าวโพดและกากถั่วเหลืองทั่วโลกในปี FY2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) ลดลง 1% และ 3% จากเดือนธันวาคม 2565 หลักๆ เกิดจากอุปทานที่ลดลงจากภัยแล้งในอาร์เจนตินา จึงคาดว่าราคาข้าวโพดและกากถั่วเหลืองจะยังอยู่ในระดับสูงในระยะสั้น
ในต่างประเทศราคาสุกรลดลง QoQ โดยราคาสุกรในจีนลดลง 6%MoM สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนที่ 15 หยวนต่อกิโลกรัมใน 1Q66TD (เพิ่มขึ้น 12%YoY, ลดลง 36%QoQ) ราคาสุกรในเวียดนามอยู่ในระดับทรงตัว MoM ที่ 51,500 ดองต่อกิโลกรัมใน 1Q66TD (ลดลง 3%YoY และ QoQ) เนื่องจากปัจจุบันอุปทานสุกรฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรค ASF แล้ว ดังนั้นอุปสงค์ที่ปรับตัวดีขึ้นจะเป็นปัจจัยกระตุ้นราคาผลิตภัณฑ์ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าบ่งชี้ว่าราคาสุกรในจีนจะเพิ่มขึ้นสู่ 16-18.5 หยวนต่อกิโลกรัมในช่วงที่เหลือของปี 2566
สำหรับต้นทุนสัตว์น้ำหลักๆ เพิ่มขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ ราคาปลาทูน่าท้องแถบในตลาดจรเพิ่มขึ้น 7%MoM สู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน (เพิ่มขึ้น 9%YoY) อันเป็นผลมาจากการจับปลาได้ลดลงเพราะสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ขณะที่ราคาปลาแซลมอนเพิ่มขึ้น 10%MoM สู่ระดับสูงสุดในรอบ 8 เดือน (เพิ่มขึ้น 18%YoY) เนื่องจากอุปทานทั่วโลกตึงตัวขึ้น ส่วนราคากุ้งในประเทศลดลง 3%MoM สู่ 155 บาทต่อกิโลกรัม (ลดลง 14%YoY)
กระทบอย่างไร:
ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มอาหาร (SETFOOD) ปรับลดลง 2.12%MoM ขณะที่ SET Index ปรับลดลง 3.90%MoM
กลยุทธ์การลงทุน:
InnovestX Research มีมุมมองระมัดระวังต่อกำไร 1Q66 ของกลุ่มอาหาร ซึ่งคาดว่าจะลดลง YoY และ QoQ เพราะมาร์จิ้นแคบลงใน 1Q66TD เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ลดลง (ราคาสุกรในประเทศต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และราคาไก่เนื้อในประเทศต่ำสุดในรอบ 11 เดือนในเดือนกุมภาพันธ์) และต้นทุนอาหารสัตว์สูงขึ้น (ต้นทุนข้าวโพดและกากถั่วเหลืองทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนกุมภาพันธ์)
ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ก็ไม่เอื้ออำนวย โดยราคาสุกรในจีนและเวียดนามลดลง QoQ และต้นทุนปลาทูน่าท้องแถบและปลาแซลมอนสูงขึ้น YoY และ QoQ ใน 1Q66TD อย่างไรก็ตาม เลือกหุ้นเด่นของกลุ่มอาหาร (BTG, CPF, GFPT, TU) เป็น CPF โดยมีปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้นจากราคาสุกรในจีนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ ราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงเนื่องจากกำลังซื้อเปราะบาง อันเป็นผลมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อและอุปทานที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น จากการวิเคราะห์ความอ่อนไหว เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลกระทบต่อกำไร 3-4% สำหรับ TU และ 1% สำหรับบริษัทอื่นๆ ที่เหลือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ นำตลาดผันผวน หลัง IMF มองว่าความเสี่ยง Recession น้อยลง
- ตลท. ขยายกรอบ ‘Ceiling & Floor’ ใหม่ให้สอดคล้องกับตลาดหุ้นนอก พร้อมประกาศเพิ่มเครื่องหมาย P เตือนหุ้นที่ซื้อขายผิดปกติ เริ่มมีผลใช้ใน 1Q66
- ย้อนรอย ‘ออลล์ อินสไปร์’ ก่อนเบี้ยวดอกเบี้ยหุ้นกู้ ฟากผู้บริหารชิงขายหุ้น ก่อนราคาดิ่ง 90% จากจุดสูงสุด