×

KJL กางแผนขยายธุรกิจ ลงทุนนำเข้าหุ่นยนต์พัฒนาโปรดักต์ เพิ่มกำลังผลิต เจาะลูกค้าทุกตลาด ตั้งเป้าโต 2 เท่าภายในปี 2570

27.02.2023
  • LOADING...
KJL

ที่ไหนมีไฟ ที่นั่นต้องมี KJL กลยุทธ์สำคัญของ ‘KJL’ มุ่งเดินหน้าขยายธุรกิจ ลงทุนนำเข้าหุ่นยนต์พัฒนาโปรดักต์ เพิ่มกำลังผลิต 10-15% เจาะลูกค้าทุกอุตสาหกรรม ตั้งเป้าสร้างรายได้และกำไรโต 2 เท่าภายในปี 2570 

 

เกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ KJL เริ่มทำแบรนด์สินค้าเป็นของตัวเองในปี 2554 ด้วยการพัฒนาทั้งสินค้า บริการ การทำตลาด เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ โรงพยาบาล อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรม IT และ Data Center  

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

สำหรับยุทธศาสตร์การทำธุรกิจของบริษัทอยู่ภายใต้คำนิยามของ FIST ประกอบด้วย 1. Flexible: ยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ 2. Innovation: ล้ำหน้า ต้องมีนวัตกรรมที่ทันสมัย 3. Speed: ฉับไว รวดเร็ว ตรงต่อเวลา และ 4.Trustworthy เชื่อมั่น และไว้วางใจ และที่สำคัญ ที่ไหนมีไฟ ที่นั่นต้องมี KJL โดยหวังสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

หากเจาะลึกลงมาถึงกลุ่มสินค้า KJL มีตั้งแต่ตู้ไฟ รางไฟ พร้อมด้วยบริการงานออกแบบและติดตั้งระบบไฟฟ้า ตลอดจนงานตัด เจาะ พับ ชิ้นงานโลหะแผ่นตามแบบ พร้อมบริการออกแบบงานตู้อัตโนมัติ โดยมีกระบวนการผลิตจากเครื่องจักรที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่น

 

เกษมสันต์กล่าวต่อถึงแผนการดำเนินธุรกิจในปี 2566 บริษัทได้สั่งนำเข้าระบบออโตเมชันและหุ่นยนต์เข้ามา เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าแบรนด์ KJL เพิ่มขึ้น 10-15% จากเดิมที่มีกำลังผลิตสินค้า 20 ล้านชิ้นต่อปี ควบคู่กับการออกแบบด้วยโปรแกรม 3 มิติ เพื่อผลิตสินค้าตามความต้องการของลูกค้าแบบไม่มีขั้นต่ำ หรือจะสั่งผลิตเพียงชิ้นเดียวก็ได้ เช่น ตู้กดบัตรคิว ตู้ ATM ตู้เติมเงิน ตู้เวนดิ้งแมชชีน และเครื่องมือทางการแพทย์ต่างๆ เพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น รวมถึงการลงทุนนำโซลาร์รูฟท็อปมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าช่วยแก้ปัญหาค่าไฟแพง 

 

โดยปัจจุบันกลุ่มลูกค้ามีทั้งตัวแทนจำหน่าย ร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ผู้รับเหมา และช่างไฟ โดยมี KJL Network กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ ที่สำคัญปัจจุบันสามารถสั่งสินค้าในช่วงเช้า ส่งได้ช่วงบ่าย เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น 

 

ทั้งนี้ในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 1,026.07 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21.38% หรือมีรายได้ 180.73 ล้านบาท จากปีก่อนหน้าที่มีรายได้รวม 845.34 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 131.63 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.59 ล้านบาท

 

รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจากยอดขายสินค้า ประกอบไปด้วยตู้สวิตช์บอร์ด รางเดินสายไฟ และกล่องพูลบ็อกซ์ และการขยายการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC รวมถึงรายได้จากการขายสินค้าสั่งผลิต และการขายเศษเหล็กที่เพิ่มขึ้น

 

ขณะที่กำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการปรับขึ้นราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิต รวมถึงการใช้เทคโนโลยีระบบควบคุมการผลิตแบบ Industry 4.0 เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ได้แก่ เครื่องตัดเลเซอร์ เครื่องเจาะด้วยระบบคอมพิวเตอร์ เครื่องพับ และหุ่นยนต์พับอัตโนมัติ ทำให้มีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับพนักงานฝ่ายผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าการเติบโตทั้งกำไรและรายได้มากกว่า 2 เท่า ภายในปี 2570 โดยหลักๆ จะมาจากการขยายตัวแทนจำหน่ายไปทั่วประเทศ และขยายกำลังการผลิตของโรงงาน และที่สำคัญมีแผนที่จะนำเสนอสินค้าให้ครอบคลุมทุกอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเป็นเทรนด์ที่กำลังมาแรงในปัจจุบัน 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X