จากการวิจัยของ Amazon Web Services (AWS) ที่ทำร่วมกับ Gallup สะท้อนว่าแรงงานในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูงมีโอกาสที่จะได้รับค่าจ้างสูงกว่าผู้ที่ไม่มีได้ถึง 65%
โดยทักษะดิจิทัลขั้นสูงที่ว่าหมายถึงการพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชัน ปัญญาประดิษฐ์ และการเรียนรู้ของเครื่อง สถาปนิก และนักพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบคลาวด์ เหล่านี้ถือเป็นคนทำงานด้านดิจิทัลขั้นสูง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- LinkedIn เปิดโผ 20 ทักษะในการทำงานที่องค์กรตามหากันมากที่สุด พร้อมคอร์สเรียนออนไลน์ที่ได้ใบประกาศฯ
- เปิดโผ 10 อาชีพ รายได้งาม ความเครียดต่ำ ส่วนมากไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตคนและไม่ต้องเผชิญหน้ากับลูกค้า
- เพราะ ‘งานในฝัน’ ไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับชาว Gen Z อีกต่อไป อะไรคือสิ่งที่พวกเขาต้องการ และ ‘บอส’ ทุกคนควรทำความเข้าใจ
ตามรายงานทักษะดิจิทัลของเอเชีย-แปซิฟิกปี 2023 แรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลจะช่วยเพิ่มมูลค่าประมาณ 4.7 ล้านล้านดอลลาร์ให้แก่ GDP ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
นอกจากนี้ในรายงานยังระบุว่า องค์กรในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่จ้างพนักงานดิจิทัลขั้นสูง เช่น นักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือสถาปนิกคลาวด์ รายงานรายได้ประจำปี 2021 สูงกว่าองค์กรที่จ้างพนักงานดิจิทัลขั้นพื้นฐานถึง 150% และสูงกว่าองค์กรที่จ้างพนักงานดิจิทัลระดับกลางถึง 286%
ในงานวิจัยมีพนักงานมากกว่า 30,000 คน และนายจ้าง 9,000 คน ใน 19 ประเทศเข้าร่วมการสำรวจ ผู้ตอบแบบสอบถามมาจากประเทศต่างๆ ได้แก่ ออสเตรเลีย, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และไทย
ผลการวิจัยพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วคนทำงานด้านดิจิทัลที่มีทักษะสูงจะได้รับค่าจ้างสูงกว่าเพื่อนร่วมงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะด้านดิจิทัลถึง 58% โดยเฉพาะในสิงคโปร์และอินโดนีเซีย พนักงานที่ใช้ทักษะดิจิทัลในระดับใดก็ตามจะได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้นถึง 97% และ 93% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับพนักงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะดิจิทัล
Gallup ประมาณการว่า 72% ของพนักงานในเอเชีย-แปซิฟิกไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ในที่ทำงาน และพนักงานในอินเดียมากถึง 83% ไม่ใช้คอมพิวเตอร์ สำหรับ 28% ที่ใช้คอมพิวเตอร์จริงๆ มีเพียง 8% เท่านั้นที่ใช้ทักษะดิจิทัลขั้นสูง ในขณะที่ 14% ใช้ทักษะดิจิทัลในขั้นพื้นฐานเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม รายงานเผยว่า 72% ของนายจ้างในเอเชีย-แปซิฟิกพบว่าการจ้างแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลเป็นเรื่องท้าทาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะข้อกำหนดที่ต้องใช้วุฒิขั้นตํ่าปริญญาตรีสำหรับการเปิดรับสมัครงานเหล่านั้น
ในขณะที่เกือบ 2 ใน 3 ของคนทำงานด้านดิจิทัลที่ก้าวหน้าที่สุดต่างมีใบรับรองด้านดิจิทัล แต่ไม่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรี สิ่งนี้ทำให้พวกเขาไม่มีสิทธิ์สมัครงานแม้ว่าจะมีทักษะที่จำเป็นก็ตาม
AWS และ Gallup กล่าวว่าพนักงานดิจิทัลในเอเชีย-แปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะได้รับใบรับรองดิจิทัลมากกว่าปริญญาถึง 2 เท่า บริษัทหลายแห่งในภูมิภาคนี้ทราบดีว่ากำลังจำกัดกลุ่มการจ้างงานให้แคบลง เนื่องจากข้อกำหนดด้านปริญญาที่เข้มงวด และกำลังพยายามปรับแนวปฏิบัติในการจ้างงาน
ประเทศที่พบว่าจ้างคนทำงานด้านดิจิทัลได้ยากที่สุด ได้แก่ ไทย อินเดีย อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งมีแนวโน้มมากที่สุดที่จะต้องใช้ปริญญาบัตรสำหรับงานด้านเทคโนโลยีระดับเริ่มต้น
ในขณะเดียวกันประเทศที่มีเศรษฐกิจก้าวหน้ากว่า เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น มีข้อกำหนดระดับปริญญาที่ผ่อนปรนสำหรับผู้ทำงานด้านเทคโนโลยี แม้ว่าจะมีสัดส่วนของผู้สำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยจำนวนมากอยู่ในตลาดแรงงานก็ตาม
ทักษะดิจิทัลขั้นสูงจะช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศไทยได้เกือบ 1 ล้านล้านบาท
การศึกษาล่าสุดของ AWS ที่ดำเนินการโดย Gallup แสดงให้เห็นว่าบุคลากรในประเทศไทยที่ใช้ทักษะด้านดิจิทัลขั้นสูง รวมถึงทักษะด้านสถาปัตยกรรมคลาวด์หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์ สร้างรายได้ประมาณ 75,800 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 930,800 ล้านบาท ให้กับ GDP ประเทศไทย
โดยเป็นผลมาจากบุคลากรทักษะดิจิทัลขั้นสูงที่มีรายได้มากกว่า 57% ต่อปี ซึ่งมากกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาใกล้เคียงกันแต่ไม่ได้ใช้ทักษะดิจิทัลในการทำงาน
นอกจากนี้ ผลการศึกษาพบว่าบุคลากรที่ทำงานด้านดิจิทัลขั้นสูงในประเทศไทยได้รับประโยชน์มากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ โดย 89% ของบุคลากรที่ใช้ทักษะดิจิทัลขั้นสูงมีความพึงพอใจในการทำงานในระดับสูง เทียบกับ 58% ของบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐาน ขณะที่ 93% ของบุคลากรในไทยที่สำเร็จการฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลในปีที่ผ่านมาจะได้รับประโยชน์ เช่น โอกาสในการเลื่อนตำแหน่งที่เพิ่มขึ้น
หลายองค์กรกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการจ้างงานในอนาคต โดยการศึกษาของ Gallup ได้พิจารณาเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น AI, Edge และ Quantum Computing, Blockchain และสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ซึ่ง 92% ของนายจ้างในประเทศไทยเชื่อว่าเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างน้อย 1 อย่างมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจในอนาคต ทั้งนี้ 5G เป็นสิ่งที่นายจ้างเชื่อว่ามีแนวโน้มที่จะนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในอนาคตมากที่สุด
Jonathan Rothwell หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Gallup เผยว่าคนไทยกําลังเข้าสู่ยุคดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่วิธีการทํางานไปจนถึงการใช้ชีวิต การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าทักษะดิจิทัลมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และเศรษฐกิจมหภาคเป็นอย่างมาก
“เมื่อองค์กรต่างๆ ย้ายระบบไอทีไปยังระบบคลาวด์มากขึ้นในทศวรรษหน้า และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้น การแปลงข้อมูลไปสู่รูปแบบดิจิทัลจะช่วยเพิ่มตำแหน่งงานใหม่จํานวนมาก โอกาสที่ประเทศไทยจะสามารถแข่งขันในเศรษฐกิจดิจิทัลนั้นขึ้นอยู่กับการมีบุคลากรที่แข็งแกร่งและมีทักษะสูงเพื่อรองรับนวัตกรรมต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต” Jonathan ระบุ
อ้างอิง: