หน่วยงานกำกับดูแลทางการเงินของสหรัฐฯ ได้เริ่มเพ่งเล็งและสอบสวนบริษัทคริปโตหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา และ Binance เว็บเทรดคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลกก็เป็นหนึ่งในนั้น การเข้มงวดด้านกฎระเบียบนี้อาจเป็นการผลักไสให้บริษัทคริปโตที่มีศักยภาพต้องย้ายถิ่นฐานไปประเทศอื่นที่เป็นมิตรมากกว่า และนี่ย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศที่มีขนาดอุตสาหกรรมอันดับ 1 ของโลก ซึ่งดูเหมือนว่า ดูไบ ยุโรป ฮ่องกง และสิงคโปร์ กำลังได้รับความสนใจมากขึ้น
สหรัฐฯ เข้มงวดต่อบริษัทคริปโตอย่างไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา
Ripple Labs บริษัทผู้สร้างเหรียญ XRP เป็นรายแรกๆ ที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สหรัฐอเมริกา ฟ้องร้องในกรณีขายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียน คดีฟ้องร้องนี้เกิดขึ้นเมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 และได้รับความสนใจจากอุตสาหกรรมคริปโตอย่างมาก เนื่องจากบทสรุปคดีนี้อาจกำหนดทิศทางอุตสาหกรรมในอนาคตต่อไป จนถึงทุกวันนี้ คดีฟ้องร้องนี้ยังคงไม่จบและยังหาข้อสรุปไม่ได้
หลังจากนั้นเป็นต้นมา มีบริษัทคริปโตอีกหลายแห่งที่โดนฟ้องร้องในข้อหาเดียวกัน แต่ความเข้มงวดได้เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ FTX อดีตเว็บเทรดคริปโตชั้นนำของโลกประกาศล้มละลาย และโทเคน FTT ร่วงลงจนแทบไร้มูลค่า
แกรี เกนสเลอร์ ประธาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ ยังเคยแสดงความเห็นว่า แม้แต่ Ethereum (ETH) สกุลเงินดิจิทัลอันดับ 2 ของโลกก็อาจถูกจับตามองต่อไปว่าเข้าข่ายเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่จดทะเบียนหรือไม่ หลังจากที่เครือข่ายได้เปลี่ยนมาเป็น Proof of Stake (PoS) เมื่อปีที่แล้ว
Kraken เว็บเทรดคริปโตชั้นนำอีกแห่งถูกสำนักงาน ก.ล.ต. สหรัฐฯ ปรับเป็นเงินจำนวน 30 ล้านดอลลาร์ และถูกสั่งให้ยุติบริการ Staking คริปโต เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
หลังจากนั้นไม่นาน Paxos Trust Co. บริษัทที่ออกเหรียญ BUSD ซึ่งเป็นเหรียญ Stablecoin อันดับ 3 ของโลก ได้ถูก ก.ล.ต. สหรัฐฯ ตั้งข้อกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายคุ้มครองนักลงทุนของสหรัฐฯ และขายหลักทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียน ก่อนที่จะถูกหน่วยงานกำกับด้านการเงินของนิวยอร์กสั่งให้หยุดออกเหรียญ BUSD ในเวลาต่อมา
Binance เว็บเทรดคริปโตที่ใหญ่ที่สุดในโลกขณะนี้ กำลังเจอศึกรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความโปร่งใสมากขึ้นเกี่ยวกับทุนสำรองสินทรัพย์และโครงสร้างองค์กร การถูกกล่าวหาว่ามีส่วนอำนวยความสะดวกในเรื่องการฟอกเงิน และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งทาง Binance ก็เปิดเผยว่าจะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับเพื่อพิสูจน์ความโปร่งใสต่อไป
นักลงทุนและบริษัทต่างๆ อาจย้ายออกจากสหรัฐฯ
การที่สหรัฐฯ เข้มงวดเรื่องกฎระเบียบคริปโตมากขึ้น ในขณะที่อีกหลายประเทศในโลกให้การสนับสนุนและวางตัวเองให้เป็นศูนย์กลางด้านคริปโต อาจเป็นการผลักไสให้บริษัทคริปโตที่มีศักยภาพต้องย้ายถิ่นฐานไปประเทศอื่นที่เป็นมิตรมากกว่า และนี่ย่อมไม่เป็นผลดีต่อประเทศที่มีขนาดอุตสาหกรรมอันดับ 1 ของโลก ซึ่งดูเหมือนว่า ดูไบ ยุโรป ฮ่องกง และสิงคโปร์ กำลังได้รับความสนใจมากขึ้นสำหรับบริษัทเหล่านี้
เมื่อปีที่แล้ว หน่วยงานกำกับดูแลของฮ่องกงประกาศว่า มีแผนที่จะออกกฎระเบียบเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตแลกเปลี่ยน ซึ่งจะเริ่มในเดือนมิถุนายน 2023 ทางด้านดูไบได้ออกกฎหมายคริปโต โดยให้ใบอนุญาตเต็มรูปแบบในการประกอบธุรกิจ และยังมีปัจจัยเรื่องภาษีในการดึงดูดนักลงทุนอีกด้วย ขณะที่สิงคโปร์ก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีกฎระเบียบทางด้านการเงินและสินทรัพย์ดิจิทัลที่ชัดเจนและทันสมัย
การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงและความผันผวนสูงมาก นักลงทุนจึงควรกระจายความเสี่ยง ศึกษาหาข้อมูล และวางแผนในการลงทุนด้วยความรอบคอบ บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ย้อนรอยวิกฤตคริปโต การล่มสลายของ FTX รอบนี้จะสั่นสะเทือนตลาดคริปโตได้เหมือนรอบ Mt.Gox ปี 2014 หรือไม่?
- บิล แอคแมน เริ่มใจอ่อน เผย มองคริปโตในมุมบวกมากขึ้น ถึงขั้นเริ่มเข้าลงทุนบ้างแล้ว
- แม้แต่ ‘จัสติน บีเบอร์’ ยังขาดทุน! ผลงาน NFT จาก Bored Ape Yacht Club ที่ซื้อมาด้วยราคา 46.4 ล้านบาท ตอนนี้หล่นลงเหลือ 2.5 ล้านบาท
อ้างอิง: