หนึ่งในกติกาการเมืองที่เป็นเสมือน ‘ประตูปิดตาย’ ประเทศไทย คือการเปิดช่องให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากการแต่งตั้ง 250 คน มีสิทธิในการโหวตเลือก ‘นายกรัฐมนตรี’
กลไกเช่นนี้ทำให้การสืบทอดอำนาจ ‘3 ป.-คสช.’ เป็นไปอย่างไร้รอยต่อ และด้วยกลไกเดียวกันนี้เองที่บีบแคบให้นายกรัฐมนตรีคนถัดไปหลังการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 มีแนวโน้มเหลือเพียง 2 ชื่อ
8 ธันวาคม 2561 มีการจัดงานสังสรรค์ประจำปีของ ‘เด็กวัดทุกรุ่น’ ที่เคยสังกัด ‘วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร’ ย่านสัมพันธวงศ์ วงสังสรรค์ซึ่งสมาชิกในวงล้วนเติบโตเป็นข้าราชการ, ทหาร, ตำรวจ, ผู้หลักผู้ใหญ่, พ่อค้า, นักธุรกิจ
หนึ่งในสมาชิกของวงสังสรรค์ค่ำคืนนั้น คือ ส.ว. และทนาย วันชัย สอนศิริ
จาก ‘วันชัย’ ถึง ‘สามเณรวันชัย’
ในวัยเด็กเขาเข้าบวชเรียนที่วัดไตรมิตรฯ จนได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ขณะยังเป็นสามเณร เมื่ออายุได้ 17-18 ปี หลังสอบเทียบ ม.ศ.5 ได้สำเร็จ สามเณรวันชัยตัดสินใจสึกจากพระอาราม ก่อนคว้าปริญญานิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้สำเร็จ
วันชัยยังถือเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของสมเด็จพระมหารัชมงคลมุนี (เจ้าคุณธงชัย) เจ้าคณะใหญ่หนกลาง วัดไตรมิตรฯ ศูนย์กลางของถนนหลายสายทั้งในแวดวงการเมือง การทหาร ธุรกิจ
ชีวิตผ่านตำแหน่งหลากหลาย ทั้งเป็นทนายความ, เลขาธิการสภาทนายความฯ, สมาชิกสภาเขต กทม., พิธีกรรายการโทรทัศน์, ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี, อาจารย์พิเศษ และ ส.ว. สรรหาในปี 2554
หลังการรัฐประหารปี 2557 เขาเข้าสู่วงอำนาจในตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง ก่อนมีพระบรมราชโองการเมื่อ 14 พฤษภาคม 2562 แต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา
ในงานสังสรรค์ค่ำคืนนั้นเขาจับไมค์ประกาศด้วยความภูมิใจว่า “ผมเป็นเด็กวัดไตรมิตรฯ เป็นคนหนึ่งซึ่งเป็นคนเริ่มต้นคำถามพ่วงและมีคนโหวตเห็นด้วย 15 ล้านเสียง ปรบมือหน่อยครับ”
วางกลไกให้ ส.ว. มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี
ในวงสังสรรค์ค่ำคืนนั้นวันชัยเล่าว่า “ปกติ ส.ว. มันไม่ค่อยมีน้ำหนักเท่าไร ไม่มีสิทธิไปโหวตใครเป็นนายกรัฐมนตรี ผมเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญโดยเสนอในสมัยที่ผมเป็น สปท. (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) ให้ ส.ว. 250 คนนี้มีสิทธิร่วมในการโหวตคนที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วเป็นคำถามพ่วง พวกเราจำได้หรือเปล่า คำถามพ่วงนี้ก็โหวตทั่วประเทศได้ 15 ล้านเสียง”
คำถามพ่วงดังกล่าวได้รับข้อวิจารณ์ก่อนหน้าวันลงประชามติ เมื่อ 7 สิงหาคม 2559 ว่าแยบยล ซ่อนกล และมีเป้าหมายชัดเจนอยู่ที่การสืบทอดอำนาจ คสช.
หลังวงอำนาจ 3 ป. เริ่มบริหารประเทศในปี 2562 นำไปสู่การรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ปิดสวิตช์ ส.ว. ยกเลิกมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน
ความพยายามกว่า 6 ครั้งในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่สภาเพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. เป็นอันตกไปทุกครั้ง ไม่มีร่างแก้ไขใดได้รับเสียงเห็นชอบจาก ส.ว. ถึงอย่างน้อย 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ซึ่งเป็นจำนวนขั้นต่ำที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้รับความเห็นชอบ
เมื่อถูกโจมตีว่าเป็นกติกาที่สร้างขึ้นมาเพื่อสืบทอดอำนาจ ส.ว. วันชัย อธิบายเจตนารมณ์ของกติกานี้แตกต่างออกไป
“เหตุผลสำคัญของผมที่เสนอให้ ส.ว. 250 คน เลือกนายกรัฐมนตรีได้ เพราะต้องการให้ทั้ง 2 ฝ่ายคือ ฝ่ายความมั่นคง ซึ่งก็คือ คสช. มีอำนาจแต่งตั้ง ส.ว. 250 คนเข้ามา รวมทั้ง ผบ.เหล่าทัพที่อยู่ใน ส.ว. 250 คนนั้นโดยตำแหน่งด้วย กับฝ่ายที่มาจากประชาชนคือ ส.ส. 500 คน มีการประนีประนอมรอมชอมอำนาจกัน มีอะไรคุยกันในรัฐสภา เพื่อป้องกันรัฐประหารในช่วงเปลี่ยนผ่านภายใน 5 ปีนี้” (เว็บไซต์ thebuddh.com)
3 คำทำนาย คำอ่านทางการเมือง ก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566
แฟนเพจเฟซบุ๊กของ ส.ว. วันชัย ไม่เพียงเป็นพื้นที่ที่ช่วยให้เห็นความคิด การประเมินการเมืองของตัวเขาเท่านั้น แต่ยังเป็นภาพสะท้อนความคิดอ่าน ความปรารถนาของ ส.ว. ฝ่าย คสช.
มี 3 คำทำนายก่อนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2566 ที่เขาได้ประเมินไว้
- จะเป็นรัฐบาลได้ ต้องสร้างสมดุลทางการเมืองได้ ไม่ให้สวิงไปข้างใดข้างหนึ่ง
“มาตรา 272 เขาต้องการให้ฝ่ายรัฐประหารกับฝ่ายเลือกตั้งประนอมอำนาจซึ่งกันและกันในระยะเปลี่ยนผ่าน ถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันไม่ให้สวิงไปข้างใดข้างหนึ่งมากนัก
“สมมติว่าเพื่อไทยได้เกิน 250 เสียง และรวมกับพรรคอื่นๆ ได้ถึง 350 เสียง ก็ยังเป็นรัฐบาลไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าคนจะเป็นนายกฯ ได้ต้องมีเสียงถึง 376 เสียง แต่ถ้าหากพลังประชารัฐโดย พล.อ. ประวิตร มี 150 เสียง รวมกับ ส.ว. 250 เสียง เป็น 400 เสียง ก็ตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็อยู่ต่อไปไม่ได้ ส่วนเพื่อไทยสามารถที่จะอยู่ได้ แต่ไม่สามารถที่จะเข้าเป็นรัฐบาลได้”
- อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ยังมีเวลาบ่มเพาะอีกยาวไกล แบ่งรัฐประหารให้ครอบครัวอื่นบ้าง
“อย่าลืมว่าตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่ใช่ของเล่นที่ใครจะเอาไปเล่นกันได้ง่ายๆ และไม่ใช่ตำแหน่งประธานหรือผู้จัดการบริษัทที่ใครจะมอบให้แก่ใครอย่างไรก็ได้ หรือจะมอบให้แก่พี่ น้อง ลูก เมีย เมื่อไรก็ได้ อุ๊งอิ๊งยังมีเวลาบ่มเพาะอีกยาวไกล ไม่ต้องรีบชิงสุกก่อนห่าม…
“ถ้าจะมีปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นมาอีก ก็แบ่งให้คนในครอบครัวอื่นเขาโดนเสียบ้าง อย่าเหมาเอาแต่ครอบครัวของเราเลย”
- พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือผู้จัดการตั้งรัฐบาล ผู้ประสานสิบทิศ
“พลังประชารัฐโดย พล.อ. ประวิตร คงจะเป็นผู้จัดการตั้งรัฐบาลและเป็นแกนนำตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งแน่นอน และจะดึงพรรคไหนมาร่วมเป็นรัฐบาลก็คอยดูหลังจากการเลือกตั้งก็แล้วกัน
“ใครจะเป็นผู้ประสานสิบทิศ…ดูแล้วมีแต่ พล.อ. ประวิตร เท่านั้นเพราะ 1. ท่านเข้าได้กับทุกฝ่าย ทุกพรรคการเมือง 2. เป็นที่ยอมรับของ ส.ส. ในกลุ่มอำนาจเดิมและกลุ่มอำนาจใหม่ อาจเว้นก้าวไกล 3. ท่านมีเสียงทั้ง ส.ส. และ ส.ว. สนับสนุน 4. ท่านมีความพร้อมทุกด้าน ใจถึงพึ่งได้ คำไหนคำนั้น นักเลงทางการเมือง 5. เคยเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลมาแล้ว…”
ดังประมวล 3 ฉากทัศน์ เป็นข้อสรุปได้ว่า “พล.อ. ประวิตร พลังประชารัฐจะเป็นผู้ประสานทั้งภูมิใจไทย เพื่อไทย ร่วมกันเป็นรัฐบาล นอกนั้นรวมทั้งก้าวไกลด้วยก็อาจเป็นฝ่ายค้าน สมการการเมืองจะลงตัวในลักษณะนี้ในช่วงปีครึ่งถึง 2 ปี ทักษิณยังไม่ได้กลับบ้าน อุ๊งอิ๊งก็ไม่ได้เป็นนายกฯ”
นี่คือคือทำนาย คำอ่านทางการเมืองของ ส.ว. วันชัย ผู้ที่ประเมินการเมือง ทั้งผ่านกลไกที่เขาได้ริเริ่มไว้ สถานการณ์การเมืองของจริงที่อยู่ตรงหน้า พร้อมทั้งผสมคำทำนายทายทักตามฉบับสำนักวัดไตรมิตรฯ ที่เขาได้เคยร่ำเรียน