วางแผนการเงิน คืออะไร ขอบข่ายอยู่ตรงไหน คนไม่มีเงินล่ะต้องวางแผนไหม อะไรคือเส้นบางๆ ระหว่างนักวางแผนการเงินกับคนขายประกัน การวางแผนมันสำคัญกับภาพใหญ่ในชีวิตอย่างไร
มันนี่โค้ช ชวน คุณเอ-ศักดา สรรพปัญญาวงศ์ และ คุณเอ้-ศิวัตม์ สิงหสุตกร นักวางแผนการเงินจาก Avenger Planner มาพูดคุยกันให้หายสงสัยในทุกประเด็น
วางแผนการเงิน คืออะไร
เปรียบเทียบให้เห็นภาพ การวางแผนการเงินจะเหมือนการจัดทริปเดินทางท่องเที่ยวไกลๆ สักที่หนึ่ง เริ่มต้นจากเราต้องรู้ว่าจะไปที่ไหน จุดที่จะแวะมีอะไรบ้าง การวางแผนการเงินไม่ใช่เรื่องมีความสุขตอนเกษียณอย่างเดียว แต่ระหว่างทางมันมีทั้งเรื่องบ้าน รถ แต่งงาน เรียน เจ็บป่วย เราต้องมองให้กว้างและยาว ถ้าเราไม่ได้ไปเที่ยวมาก่อนเราก็มองไม่หมด นั่นทำให้การวางแผนการเงินจึงเป็นศาสตร์ที่ว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก มันอยู่ที่ว่าขอบเขตที่เราจะไปคือแค่ไหน
อีกมุมหนึ่ง การวางแผนทางการเงินก็เป็นเหมือนการวางแผนชีวิต ถ้าเราไม่เคยวางแผนเลย เราอาจจะหลงลืมว่าเราจะไปจุดไหน บางคนทำงานมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ทำไปอย่างนั้นโดยที่ไม่รู้ว่าอนาคตคือทิศทางที่เราอยากจะเดินไปหรือเปล่า วันที่เราตั้งใจวางแผน มันจะกระตุ้นให้เราต้องตั้งโจทย์ชีวิตขึ้นมา และพิจารณาว่า นี่คือชีวิตที่เราอยากเดินไปจริงๆ หรือเปล่า และอะไรคือที่ที่เราอยากจะเดินทางต่อไป อีกทั้งยังสร้างเส้นทางที่เราจะไปถึงเป้าหมายขึ้นมา ซึ่งบางครั้งอาจจะไม่ได้ชัดเจน แต่อย่างน้อยมันก็เหมือนเป็นเส้นประให้เรามีทิศทางในการเดินอย่างถูกต้องมากขึ้น
ถ้าการเกษียณเป็นความมั่งคั่งที่ปลายทาง ระหว่างทางก็มีทั้งเรื่องเงินสำรอง หนี้สิน การเก็บเงินเพื่อเรียนต่อ เก็บเงินเพื่อให้ลูก
บางครั้งไม่เกี่ยวกับเงินก็มี เช่น การตัดสินใจว่าจะทำอาชีพนี้ต่อไปหรือไม่ หรือการตัดสินใจว่าเรียนต่อไหม เรียนที่ไหน สาขาไหน ซึ่งจริงๆ เกี่ยวข้องกับการวางแผนทางการเงินเหมือนกัน หรือเกี่ยวข้องกับชีวิตที่มีเงินเป็นเรื่องสนับสนุน บางไลฟ์สไตล์ที่เรามองว่าห่างไกลจากเงิน เช่น คนที่อยากเข้าวัดเข้าวา ไม่แสวงหาวัตถุอะไรแล้ว ก็ยังมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวในระดับหนึ่งอยู่ดี เราจะไปทางนั้นมันก็ต้องเตรียมความพร้อม ไม่ใช่ว่าไปแล้วมีคนเดือดร้อน คำสอนในศาสนาเท่าที่รู้ก็ยังมีคำสอนเรื่องเงิน แปลว่ามันใช้ได้กับทุกคน ไม่ได้หมายความว่าอยากรวยถึงอยากวางแผน แต่ใครก็ตามที่สัมผัสกับเงินและต้องจัดการมัน ต้องวางแผนทั้งนั้น
คนไม่มีเงินต้องวางแผนการเงินหรือไม่
ยิ่งต้องวางแผนเลยครับ เพราะการวางแผนการเงิน มันจะมีอยู่ 2 ทิศทาง กลุ่มแรกเราอาจจะคิดว่าอยากรวยเลยต้องวางแผน และอีกกลุ่มหนึ่งถ้าไม่วางแผนก็ต้องแก้ปัญหา ถ้าเราไม่ได้วางแผน เราก็จะไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วต้นตอของปัญหาอยู่ตรงไหน และเราควรจะแก้ยังไงให้ถูกจุด เพราะฉะนั้นคนที่อาจจะไม่ได้มองไกล แต่ทุกวันนี้มีปัญหาอยู่แล้วก็ต้องมาวางแผน
หลายคนเข้าใจผิดเรื่องการวางแผนทางการเงิน เข้าใจว่าคือการออมหรือการลงทุนเท่านั้น จริงๆ มันเริ่มตั้งแต่เราไม่มีเงินด้วยซ้ำ ทำอย่างไรให้มันมี หรือมีอยู่แล้วทำอย่างไรให้รักษาไว้ได้ หรือมีอยู่แล้ว แต่ทำอย่างไรให้มีเงินเหลือเก็บ
แสดงว่าแทบจะไม่มีใครไม่ต้องวางแผนการเงิน
มหาเศรษฐีก็ต้องวางแผน ปัญหาของเขาก็จะต่างกัน เขาอาจจะมีปัญหาเรื่องภาษี หรือมีลูกหลาน มีทรัพย์สินเยอะ จะแบ่งอย่างไร แบ่งให้ใครและแบ่งตอนไหน
คนทั่วไปสามารถศึกษาการวางแผนการเงินเองได้ไหม
เปรียบเทียบกับการจัดทริปเหมือนเดิม เช่น ถ้าเราจะไปญี่ปุ่นเองโดยที่ไม่เคยไปมาก่อน ถามว่าแพลนทริปเองได้ไหม ก็ได้ เราก็เสิร์ชในกูเกิล มีคนจัดทริปไว้ให้แล้วด้วยซ้ำว่าไปที่ไหน แวะที่ไหนบ้าง แต่บางทีด้วยเวลาที่กระชั้น หรือเราเกิดไม่แน่ใจว่าอันนี้มันถูกต้องไหม เพราะเราไม่เคยไป หรือถ้ามีปัญหาที่นั่นก็ไม่รู้จะให้ใครช่วย ถ้าเราไม่หาข้อมูลไปล่วงหน้า มันก็เหมือนคนตาบอด หูหนวก ไม่รู้จะเอาอย่างไรดี
คนที่แพลนเองได้ก็ควรแพลนเอง เพราะเงินของเราเรารู้ดีที่สุด ต่อให้ใช้นักวางแผนการเงินก็ควรมีความรู้ระดับหนึ่ง ถ้ามาแบบไม่รู้อะไรเลย จากประสบการณ์ที่เคยทำกันมาโอกาสที่จะไม่สำเร็จมีสูงมาก
คนไทย 100 คน อาจสนใจเรื่องเงิน 20 คน และใน 20 คน อาจมี 5 คนที่มีความสามารถและแรงผลักดันพอให้ทำเองได้และทำได้ดีด้วย ส่วน 15 คนที่เหลือยังไม่มั่นใจ ยังรู้สึกว่าอยากได้ความช่วยเหลือ แต่ข้างในนี่ตื่นแล้วว่าอยากจัดการเรื่องนี้ และ 15 คนนี้แหละที่เหมาะที่จะมีที่ปรึกษาหรือนักวางแผนทางการเงิน เพราะมีความต้องการเกิดขึ้นในใจมาเจอกับนักวางแผนที่ใช่มันทำงานร่วมกันได้ ไม่เสียเวลาทั้งสองฝ่าย
เราควรมีความรู้เพื่อป้องกันตัวเอง ถ้าเราไม่มีความรู้เลย โยนให้ที่ปรึกษาจัดการทั้งหมด เราจะรู้ได้อย่างไรว่าแผนนั้นเหมาะกับเราจริงๆ เงินของเราเราต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง เหมือนกับเราไปหาหมอ แล้วหมอวินิจฉัยว่าเราต้องผ่าตัดรุนแรง แต่เรายังสามารถไปหาหมอโรงพยาบาลอื่นเพื่อฟังความคิดเห็นอื่นๆ ในการตัดสินใจ เรื่องเงินก็เช่นเดียวกัน
ถ้าคนกลุ่มหนึ่งที่วางแผนการเงินไม่คล่องมาก เริ่มศึกษาความรู้ระดับหนึ่ง ก็อาจจะใช้ความช่วยเหลือจากที่ปรึกษาทางการเงินได้ แล้วหน้าที่จริงๆ ของนักวางแผนการเงิน หรือที่ปรึกษาทางด้านการเงินนั้นทำอะไรบ้าง
หน้าที่ของเราคือวางแผน ออกแบบกลยุทธ์วิธีการให้ผู้ขอรับคำปรึกษาไปถึงเป้าหมายที่เขาต้องการได้ ไม่ต้องได้ผลตอบแทนสูงสุด แต่มีโอกาสบรรลุเป้าหมายมากที่สุด ภายใต้ความเสี่ยงที่เขายอมรับ นั่นถือว่าหน้าที่เราจบแล้ว
เหมือนเป็นคนออกแบบทริปให้ โดยเขาต้องเป็นคนเดินทางเอง
แผนที่ออกมาไม่ใช่ว่าจะมาจากความเห็นเราทั้งหมด คือระหว่างทางเราต้องสื่อสารกับเขาตลอดเวลาว่าถ้าแนะนำประมาณนี้โอเคไหม หรืออยากให้ปรับเปลี่ยนอะไร จนกว่าเราจะได้แผนที่เหมาะกับเขาจริงๆ ดังนั้นการวางแผนการเงินไม่ใช่มาจากนักวางแผนอย่างเดียว เราต้องทำงานร่วมกันกับผู้ขอรับคำปรึกษา มันไม่มีแผนสำเร็จรูปที่ใช้ได้กับทุกคน และก็ไม่มีแผนที่โง่ เชื่อว่าคนที่ศึกษาการเงินมาใหม่ๆ จะรู้เรื่องค่าเสียโอกาส ทำไมเอาเงินไปอยู่ตรงนั้นไม่เอามาลงทุน แต่ในมุมของการวางแผนการเงิน บางครั้งก็เป็นเรื่องความสบายใจ หรือความต้องการส่วนตัว บางคนไม่อยากเสี่ยง เงินอยู่ได้เป็น 20 ปี แต่อยากได้ความปลอดภัย เขาลงทุนแค่ตราสารหนี้หรือแค่ฝากธนาคารก็ได้ ถ้าเป็นความต้องการ มันจะไม่มีการตั้งธงไว้ก่อน อันนี้เป็นข้อเตือนใจที่อยากบอกว่างานนี้มันไม่ใช่การสื่อสารทางเดียว
ถ้าเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน (Financial Professional) สุดท้ายทุกคนก็ต้องขายสินค้าหรือบริการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดั้งเดิมเป็นเรื่องการโน้มน้าวและปิดการขายให้ได้ จูงใจ มีบทพูดต่างๆ มากมาย นั่นคือการเงินในโลกเก่า เป็นการใช้วิธีการขายอื่นๆ มาใช้กับการเงิน แต่ปัจจุบัน เป็นยุคที่คนตื่นรู้ และมีความต้องการเฉพาะตัวมากขึ้น แผนการเงินที่ดีมันคือการปิดการขายที่ดีในตัวอยู่แล้ว
การวางแผนทางการเงินจริงๆ ไม่ได้มีแค่การซื้อผลิตภัณฑ์ บางครั้งคือการเปลี่ยนวิถีชีวิต ปรับระบบทางการเงิน ชวนให้ลูกค้าใส่ใจชีวิตและสุขภาพมากขึ้น หรือปรับเปลี่ยนวิธีการยื่นภาษี เช่น เงินภาษีที่ถูกหักรายเดือน เปลี่ยนวิธีกรอกหรือแสดงล่วงหน้าไหม จะได้เอารายเดือนไปออม แล้วสิ้นปีค่อย net ทีเดียวว่าต้องเสียหรือไม่
บางครั้งอาจจะปรับเปลี่ยนไปถึงการหารายได้ด้วยหรือเปล่า
บางรายคุยกันไปถึงขั้นว่างานที่ทำทุกวันนี้มันไม่คืบหน้าเลย โตช้า ขณะเดียวกันก็อึดอัด และเพื่อนร่วมสายอาชีพเขาก็ไปไกลกันกว่านี้แล้ว ก็เป็นคำถามว่า เราควรจะเปลี่ยนงานหรือเปล่า ลูกค้าไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย พอเราพูดขึ้นมาเขาก็ได้ประเด็นกลับไปคิด แต่เราไม่ได้มีหน้าที่จะบอกเขาว่าต้องเปลี่ยนงาน หลายครั้งที่เขาได้ input จากเราแล้วเขาไปทำงานต่อเอง
สังเกตว่าถ้าเป็นนักวางแผนการเงินจริงๆ เขาจะมาคุยเก็บข้อมูล ดูรายละเอียด รู้ความตั้งใจและเป้าหมายของเรา ใช้เวลาด้วยกันเยอะมาก ส่วนคนขายผลิตภัณฑ์การเงินอาจจะไม่ต้องใช้เวลาร่วมกับเรามากก็ได้ มันเหมือนการขายของ
สิ่งที่สังเกตได้ง่ายเลยคือ จะมีส่วนของการถามและรับฟังมากกว่าการตั้งธงและคอยบอก
นักวางแผนการเงินจะฟังเยอะ นักขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินจะพูดเยอะ
แต่ลูกค้าบางคนที่พูดน้อย เราก็ต้องพยายามทำอย่างไรก็ได้ให้ได้ข้อมูลจากเขา เพราะบางคนยังไม่เปิดใจ รูปแบบคำถามก็ต้องเปลี่ยนไป เป็นคำถามปลายปิดหลายคำถาม หรือบางครั้งเราฟังก็จะรู้ว่าเขาพูดไม่ทั้งหมด เลยต้องย้อนกลับไปว่า การวางแผนการเงินด้วยตัวเองดีที่สุด เพราะเราไม่ต้องเอาเรื่องเงินไปแชร์กับใครจริงๆ
สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรคาดหวังจากนักวางแผนการเงิน คือคิดเขาจะชี้ทางให้ถูกต้องทั้งหมด เพราะขึ้นชื่อว่าการวางแผน เวลามาทำจริงก็จะไม่ค่อยตรงตามนั้น การวางแผนมีทางผิดรออยู่ข้างหน้า แต่การผิดแบบมีแผนมันมีวิธีการปรับแก้ และวางแผนกันใหม่บนพื้นฐานความเป็นไปได้ ผิด ปรับแก้ แล้วเราก็ทำใหม่ แต่ถ้าใครชี้ทางแบบฟันธงได้เลย แบบนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะไม่มีใครล่วงรู้อนาคต
ถ้าเปรียบเทียบกับฟุตบอล การวางแผนก็เหมือนการแก้เกม เราอยากชนะในเกมนี้ แต่ไม่รู้ว่าสถานการณ์จริงเป็นอย่างไร อาจจะโดนใบแดง จุดโทษ เราก็ต้องปรับแผนตามสถานการณ์
คนไทยเข้าใจคำว่า วางแผนการเงิน แค่ไหน
คนจะเข้าใจเป็น 2 ทาง คือเข้าใจว่าเหมือนคนขายประกัน กับอีกทางหนึ่งคนจะเข้าใจว่า คือคนที่ให้คำปรึกษาเรื่องการลงทุน แต่ในความเป็นจริงแล้วอยากสื่อสารให้เข้าใจว่า นักวางแผนทางการเงินไม่ได้มองเจาะจงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ต้องมองภาพรวมของชีวิตเราออก เช่น ทีมของเราที่ทำงานอยู่ถ้ามีลูกค้า ลูกค้าอาจจะไม่ต้องบอกว่าต้องการอะไร แต่ต้องบอกว่ากำลังคิดเรื่องนี้อยู่ แต่ไม่ต้องฟันธงมาว่าเรื่องนี้เรื่องเดียว และจะมาผ่านกระบวนการของทางทีมว่าจริงๆ แล้วลูกค้าต้องทำอะไรกันแน่ แล้วลูกค้าจะค่อยๆ เริ่มเข้าใจว่าชีวิตต้องทำเรื่องอะไรบ้าง
นักวางแผนการเงินที่ดีต้องมองทุกมิติที่เกี่ยวข้องกับตัวลูกค้า แต่นักวางแผนก็ไม่ใช่พระเจ้าที่จะประทานทุกสิ่งทุกอย่างให้เขาได้
คนส่วนใหญ่มาถึงเพราะอยากจะรวย กับเรื่องการเกษียณ ที่คนตื่นตัวกันมาก มาถึงก็ตั้งธงมาว่าอยากจะจัดพอร์ต อยากจะลงทุน LTF RMF แต่พอไปดูรายรับ-รายจ่ายก็แทบจะปริ่มๆ ออมได้น้อย อาชีพไม่ได้มั่นคงมาก เงินเก็บติดตัวไม่มาก คนกลุ่มนี้จะลงทุนไม่ได้ จนเขาเก็บเงินสำรองได้ สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ เงินสำรองนี้มันรองรับความเสี่ยงได้แค่ไหน บางคนทำงานเป็นฟรีแลนซ์แต่เกิดต้องผ่าตัดไส้ติ่งเข้าโรงพยาบาล ใช้เงินประมาณ 100,000 บาท เงินสำรอง 30,000 บาทที่เก็บไว้ก็หายไปในพริบตา ดังนั้นก็ต้องมีเรื่องประกันเข้ามาเกี่ยวข้อง หรือถ้าประกันไม่ไหวก็ต้องกลับไปที่สวัสดิการรัฐว่าเรารับได้ไหมกับสวัสดิการรัฐแบบนี้ จะเห็นว่าจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ลงทุนเลย แปลว่าเราไม่ตามใจลูกค้า ถ้ามันยังไม่ใช่ก็ไม่สามารถทำตามที่เขาต้องการได้ เราก็เขียนแผนไปให้เขา
การที่ลูกค้าสามารถทำตามแผนทางการเงินได้สำเร็จ ไม่ได้เกิดจากนักวางแผน เพราะนักวางแผนเป็นแค่คนชี้ทาง แต่จะสำเร็จหรือไม่จะอยู่ที่ลูกค้าที่เดินไปเอง ตัดสินใจเอง หรือถ้าลงทุนบรรลุตามเป้าหมายได้จริงๆ คนที่ทำให้สำเร็จจริงๆ คือผู้จัดการกองทุน นักวางแผนเป็นแค่คนชี้ทาง แต่ถ้าเกิดไม่สำเร็จหรือเสียหาย ก็ไม่ใช่ว่านักวางแผนทางการเงินจะไม่รับผิดชอบอะไรเลย เราก็ควรเป็นคนรับผิดชอบเช่นกัน
Credits
Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์
The Guest ศักดา สรรพปัญญาวงศ์
ศิวัตม์ สิงหสุตกร
Episode Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Shownote อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com
- คุณเอ-ศักดา สรรพปัญญาวงศ์ เป็นหนึ่งในทีมคนไทยฉลาดการเงิน เจ้าของเพจ A-academy และผู้ร่วมก่องตั้ง Avenger Planner
- คุณเอ้-ศิวัตม์ สิงหสุตกร หนึ่งในทีมคนไทยฉลาดการเงินเช่นกัน หลายคนรู้จักในฉายา Insuranger บล็อกเกอร์ประจำของ aomMoney และแพลนเนอร์ประจำ Avenger Planner