×

สรรพากร 4.0 ทำไมเราควรเลิกกลัวเรื่องภาษี และมันดีอย่างไรเมื่อทุกอย่างอยู่ในระบบ

23.07.2018
  • LOADING...

The Money Case by The Money Coach กับแขกรับเชิญ พรี่หนอม TaxBugnoms ที่มาแชร์เรื่องภาษีในอนาคต เมื่อทุกอย่างโกออนไลน์ ทุกอย่างเข้าสู่ระบบ และสังคมไร้เงินสดเป็นเรื่องที่ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

 

คนที่ไม่เคยเสียภาษีจะถูกนำเข้าระบบอย่างไร ทำไมพร้อมเพย์จึงไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และมีนโยบายอะไรอีกบ้างที่รัฐบาลกำลังเอาจริงในเรื่องภาษี แล้วมันจะส่งผลดีกับทุกคนอย่างไร  

 


ปัญหาใหญ่ของการเก็บภาษีคือคนนอกระบบไม่เสียภาษี แต่คนในระบบเสียภาษีเยอะ

ปัญหานี้มนุษย์เงินเดือนที่อยู่ในระบบจะรู้สึกไม่เป็นธรรม เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมานาน จะแก้โดยการเพิ่มเจ้าหน้าที่ตรวจสอบก็คงยากที่จะครอบคลุมจำนวนคนไทยทั้งหมด วิธีแก้ที่ง่ายที่สุดคือการทำให้ทุกอย่างอยู่ในระบบเพื่อที่คนจะอยู่นอกระบบไม่ได้

 

ตอนนี้ภาครัฐเลยมีนโยบาย National e-Payment หรือระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ เพื่อเอาทุกอย่างมาไว้ในระบบซึ่งมีหลายเฟส เริ่มตั้งแต่การมีพร้อมเพย์ เครื่องรูดบัตรเดบิต ระบบภาษี การจ่ายเงินนโยบายภาครัฐ การลงทะเบียนคนจน

 

พอเห็นระบบเข้ามาอย่างนี้ คนจะกลัวว่าต้องเสียภาษีเยอะขึ้น

จริงๆ แล้วมันคือการทำให้คนนอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบก่อน โดยการมีข้อมูลซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย เพราะข้อมูลทุกวันนี้ยังขาดหรือที่ได้มาก็ยังไม่ใช่ข้อมูลที่ตรงเป๊ะ เพราะมีเรื่องของการประมาณการ ทำให้ข้อมูลเรื่อง GDP รายได้ประชากรต่อหัว เศรษฐกิจในประเทศไม่ตรงตามความเป็นจริง โครงร่างนี้เริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2558 เป็นการค่อยๆ เซตระบบและค่อยๆ เปิดตัวทีละเฟส

 

พร้อมเพย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว

พร้อมเพย์ คือการรับเงินผ่านเลขไอดีหรือเลขแสดงตัวตน ส่วนใหญ่จะใช้เลขบัตรประชาชนกับเบอร์โทรศัพท์ แต่คนจะกลัวเรื่องภาษีที่อาจโดนตรวจสอบและความปลอดภัยของข้อมูลที่ส่งผ่านส่วนกลาง ซึ่งจริงๆ เจ้าหน้าที่มีสิทธิ์ในการตรวจสอบเต็มที่และต้องขออนุญาตทางธนาคารอยู่แล้ว และข้อมูลตรงนี้จริงๆ มีความปลอดภัยสูงมากเหมือนระบบบัญชีธนาคาร

 

อีกอย่างที่คนมักเข้าใจผิดคือการบอกเลขบัตรประชาชนหรือเบอร์โทรศัพท์เป็นสิ่งไม่ควร แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องน่ากลัวเลย เราบอกกันเป็นปกติอยู่แล้ว จะเห็นว่าเมื่อยิ่งใช้พร้อมเพย์ มันจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ใช้ธนาคารไหนก็ฟรีค่าธรรมเนียมการโอน ตอนนี้แม้แต่เลข e-Wallet ก็สามารถลงทะเบียนพร้อมเพย์และรับเงินผ่านทางนี้ได้เช่นกัน โดยประโยชน์ของพร้อมเพย์ที่เห็นได้ชัดคือลดการคอร์รัปชัน ทุกอย่างมีหลักฐาน ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินของภาครัฐที่ไม่ต้องถูกหักหัวคิว

 

คนส่วนใหญ่กลัวเรื่องภาษี ผมเลยอยากให้คิดอยู่สองเรื่องคือ หนึ่ง ของพวกนี้มันมีประโยชน์ต่อชีวิตเราไหม สะดวกขึ้นหรือเปล่า สอง ถ้าคุณไม่ชอบ กลัวเรื่องภาษี กฎหมายบังคับให้คุณทำหรือเปล่า ถ้าไม่บังคับ คุณก็มีสิทธิ์เลือกว่าจะใช้หรือไม่ใช้ แต่วันข้างหน้ามันจะใช้กันหมด  

 

นโยบายลดการใช้เงินสด

ปัจจุบันธนาคารให้เครื่องรูดบัตร (EDC) และ QR Code กับพวกร้านค้ามากขึ้นเพื่อลดต้นทุนธุรกรรมทางการเงิน ซึ่งรวมถึงรายจ่ายรถขนเงิน การผลิตแบงก์ และอื่นๆ ซึ่งนโยบายนี้จะค่อยๆ เปลี่ยนพฤติกรรมผู้คน ในมุมมองลูกค้า ถ้าร้านค้าไหนมีพร้อมเพย์ถือว่าดี สะดวก และเพิ่มโอกาสการขาย

 

โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์


e-Withholding Tax

เริ่มจากเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากแต่ก่อนต้องใช้เอกสาร ต่อไปอาจไม่ต้อง เพราะระบบออนไลน์และธนาคารจะจัดการให้ได้หมดเลย รวมทั้งจัดส่งกรมสรรพากรให้อีกด้วย

 

เป้าที่ตั้งกันไว้ในอนาคตอาจไปถึงการแค่ล็อกอินเข้าเว็บสรรพากรแล้วเจอลิสต์ว่าเราถูกหักภาษีอะไรไปบ้าง จากนั้นก็แค่คอนเฟิร์มว่าถูกต้องไหม โดยที่ไม่ต้องเก็บเอกสารและยื่นภาษีอะไรให้วุ่นวาย

 

e-Donation

การบริจาคออนไลน์ เช่น เวลาไปบริจาคเงินที่วัด แล้ววัดจะขอชื่อและนามสกุลเพื่อยื่นให้กรมสรรพากร โดยที่เราไม่ต้องเก็บรวบรวมหลักฐานเพื่อลดหย่อน

 

e-Tax Invoice

เวลาทำธุรกิจ เราต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้า ต้องเก็บสำเนาเพื่อเอามาทำรายงาน สรุปยอด หาส่วนต่าง แล้วยื่นแบบส่งสรรพากรทุกๆ เดือน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่วุ่นวายมาก แต่ e-Tax Invoice จะพัฒนาระบบรายงานภาษีมูลค่าเพิ่มโดยที่เราไม่ต้องทำรายงาน ไม่ต้องเก็บสำเนา หรือออกใบกำกับภาษีใดๆ เพราะทุกอย่างจะเป็นออนไลน์ เราเพียงแค่อัปโหลดข้อมูลซื้อ-ขายและส่วนต่างที่จ่ายภาษี โดยสามารถทำได้ 3 วิธีหลัก

 

  1. คู่ค้ารายใหญ่ สามารถเชื่อมต่อโดยตรงกับเซิร์ฟเวอร์สรรพากรได้เลย
  2. การว่าจ้างคนนอกมาทำ
  3. อัปโหลดเองผ่านเว็บของกรมสรรพากร

 

ข้อดีของ e-Tax Invoice คือลดความวุ่นวายและขั้นตอนต่างๆ ได้มาก หากข้อมูลผิดพลาด ไม่ตรงกันระหว่างผู้ซื้อ-ผู้ขายก็สามารถเช็กได้ทันทีภายในเดือนนั้น ซึ่งอาจต้องเสียภาษีเพิ่ม แต่แทบไม่ต้องเสียดอกเบี้ย เปรียบเทียบกับระบบปัจจุบัน การเจอข้อผิดพลาดใช้เวลา 2-3 ปี โดยที่เราต้องเสียดอก 1.5% ต่อเดือน หรือ 18% ต่อปี ฉะนั้นระบบนี้จะมาช่วยจัดระเบียบ ลดภาระพนักงานบัญชี ไม่ต้องคีย์ข้อมูล เก็บข้อมูล เพียงแค่คอยตรวจสอบความถูกต้อง

 

แนวโน้มโครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

เนื่องจากยังต้องเซตระบบ จึงใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง กลายเป็นขยายเวลาก่อนจะบังคับใช้จริง แต่หน่วยงานรัฐรายใหญ่ๆ ก็เริ่มเข้าระบบแล้ว กฎหมายจะแก้ไขเพื่อรองรับระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้น นโยบายการตรวจของกรมต่างๆ ก็จะดีขึ้นด้วย รวมถึงเรื่องสำคัญคืองบการเงินที่กฎหมายจะบังคับว่าตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 จะต้องใช้งบที่ยื่นกับกรมสรรพากรเท่านั้นในการขอกู้หรือทำธุรกรรมกับธนาคาร

 

ต่อไปการตรวจสอบภาษีควรจะได้ใช้ระบบและข้อเท็จจริงมากขึ้น แทนที่จะใช้วิจารณญาณหรือดุลพินิจของพนักงานเป็นหลัก ระบบจะทำให้เราเห็นภาพรวมและประวัติการเสียภาษีของแต่ละคนชัดเจนขึ้น ต่อยอดไปถึงเรื่องจัดเกรดกลุ่มคนแบ่งเป็นกลุ่มดีและกลุ่มเสี่ยง กลุ่มดีก็จะสามารถขอคืนภาษีได้เร็ว ทำอะไรก็ได้ง่าย การตรวจสอบน้อย ส่วนกลุ่มเสี่ยงจะถูกเพ่งเล็งจากภาครัฐมากกว่าปกติ

 

ระบบที่ดีเป็นพื้นฐานให้คนปรับตัว สามารถเชื่อมโยงกับ Big Data เราจะรู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ของเราเป็นคนแบบไหน ธุรกิจแบบไหนได้รับความนิยม ธุรกิจแบบไหนเสียภาษีเยอะ ซึ่งทำให้ภาครัฐสามารถออกนโยบาย ออกแบบโครงสร้างตามการใช้ชีวิตของคนไทยได้ ในอนาคตอาจใช้ AI มาตรวจสอบแทนได้อีกด้วย

เทคโนโลยีทำให้เราต้องรีเซตประสบการณ์ใหม่พร้อมกันหมด ฉะนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นคนรุ่นไหน ถ้าคุณปรับตัว คุณจะรอด ชีวิตจะง่ายขึ้น และยังพวกทำลายวิชามาร เช่น บริษัทที่ปรึกษา หรือคนที่ให้ความรู้แบบผิดๆ ก็จะหมดไป


ฟังพอดแคสต์ The Money Case by The Money Coach โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Spotify, Podbean, SoundCloud, YouTube หรือแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) 


 

Credits

 

The Host จักรพงษ์ เมษพันธุ์

The Guests ถนอม เกตุเอม


Show Creator จักรพงษ์ เมษพันธุ์

Show Producer & Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์

Shownote ปนัสยา เลิศทนงศักดิ์

Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

FYI
  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising