×

KKP ผ่อนคันเร่ง ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โตเหลือ 13% ห่วงความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจโลกถดถอยกระทบคุณภาพหนี้

31.01.2023
  • LOADING...

KKP เผยกลยุทธ์ธุรกิจปี 2566 เติบโตสินเชื่ออย่างระมัดระวังตาม ห่วงความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยกระทบคุณภาพหนี้ ตั้งเป้าใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลขยายฐานลูกค้า Mass Affluent แต่ยังไม่สนตั้ง Virtual Bank 

 

อภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เปิดเผยว่า สำนักวิจัยของกลุ่มธุรกิจฯ KKP Research วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ยังมีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อสูง ดอกเบี้ยขาขึ้น และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยที่จะส่งผลกระทบในวงกว้างและอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อ ทำให้กลยุทธ์ทางธุรกิจของกลุ่มสำหรับปี 2566 จึงเป็นการเติบโตแบบระมัดระวัง โดยตั้งเป้าเติบโตสินเชื่อรวมในปีนี้ไว้ที่ 13% ลดลงจากที่ขยายตัว 21.4% ในปีที่ผ่านมา 

 

“การเติบโตในปีนี้เราจะเบาคันเร่งลง เน้นคุณภาพมากขึ้น หลังจากปีที่ผ่านมาโตไปค่อนข้างมาก ดอกเบี้ยขาขึ้นจะทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น ซึ่งอาจมีผลกระทบให้ส่วนต่างดอกเบี้ยเราลดจาก 5.4% ในปีก่อนลงมาเหลือ 5% ขณะที่ต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อจะเพิ่มขึ้นจาก 2.10% เป็น 2.20%” อภินันท์กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของหนี้เสีย (NPL) ยังคาดว่าจะปรับลดลงจาก 3.3% ในปีก่อนลงมาอยู่ที่ 3.1% เนื่องจากเริ่มเห็นสัญญาณของสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Stage 2) ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าการบริหารจัดการหนี้เสียของกลุ่มซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อรถยนต์สามารถทำได้ไม่ยาก เมื่อรวมกับการคัดกรองลูกค้าใหม่ที่เข้มงวดจึงคาดว่าหนี้เสียจะปรับลดลงได้

 

“สินเชื่อที่เรามองว่ายังมีความเปราะบาง เช่น สินเชื่อ SMEs และสินเชื่อกลุ่มอสังหา เราจะไม่ขยายเพิ่มแต่จะเน้นการดูแลช่วยเหลือลูกค้าที่มีปัญหา โดยปัจจุบันฐานสินเชื่อในกลุ่มนี้อยู่ที่ 5 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มโรงแรมประมาณ 1 หมื่นล้านบาท” อภินันท์กล่าว

 

อภินันท์ระบุอีกว่า ในปีนี้กลุ่มฯ จะมุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าสินเชื่อในกลุ่มที่มีศักยภาพ (Mass Affluent) ผ่านการขายขายผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้อง (Cross-Selling) และผลักดันการเข้าถึงที่ครอบคลุมยิ่งขึ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการออมและการลงทุนของกลุ่มธุรกิจฯ ทั้ง Edge (เอดจ์) และ Dime (ไดม์) ที่จะเปิดตัวในระยะต่อไป โดยปัจจุบัน แอปพลิเคชัน Dime มีผู้ดาวน์โหลดแล้วกว่า 100,000 ราย และจะจับมือกับพาร์ตเนอร์เพื่อขยายฐานลูกค้าและพัฒนาฟีเจอร์ที่ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่หลากหลายยิ่งขึ้น 

 

สำหรับแผนการจัดตั้งธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา หรือ Virtual Bank อภินันท์กล่าวว่า ขณะนี้ทางกลุ่มฯ ยังไม่แผนการจัดตั้ง Virtual Bank เนื่องจากยังไม่เห็นความชัดเจนว่าประโยชน์ที่ได้รับจากใบอนุญาตดังกล่าวจะคุ้มค่ากับข้อกำหนดต่างๆ เช่น การลงทุน Core Banking ใหม่ โดยปัจจุบันทางกลุ่มได้ทำสินเชื่อออนไลน์ร่วมกับพันธมิตรอยู่แล้ว และในอนาคตก็จะมีการขยายความร่วมมือกับพันธมิตรรายอื่นๆ อีก จึงยังไม่จำเป็นต้องหาพันธมิตรในรูปแบบการร่วมทุน

 

นอกจากนั้น อภินันท์ยังกล่าวถึงภาพรวมผลประกอบการของกลุ่มฯ ในปีที่ผ่านมาว่า กำไรส่วนใหญ่มาจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ที่สินเชื่อรวมขยายตัวถึง 21.4% จากการขยายตัวในสินเชื่อทุกประเภท ด้านธุรกิจตลาดทุนยังคงความสามารถในการสร้างรายได้ที่ดี โดยธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ยังคงครองส่วนแบ่งอันดับ 1 ของตลาด สำหรับธุรกิจการจัดการกองทุนก็มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจการลงทุนยังคงเติบโตได้ดีจากฝ่ายค้าหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Equity and Derivative Trading) ที่ทำกำไรได้ดีในสภาวะผันผวน 

 

ด้านวานิชธนกิจมีรายได้ในระดับที่ดีจากธุรกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ในขณะที่ธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล (Wealth Management) ปัจจุบันมีปริมาณทรัพย์สินภายใต้คำแนะนำ (Asset Under Advice: AUA) อยู่ที่กว่า 7 แสนล้านบาท

 

ฟิลิป เชียง ชอง แทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ให้รายละเอียดในส่วนของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ว่า แนวทางการดำเนินธุรกิจในปี 2566 ของธนาคารจะเป็นการเติบโตแบบมีกลยุทธ์ (Smart Growth) หรือการเลือกขยายสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพและสินเชื่อที่มีหลักประกัน เช่น สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน การเดินหน้าเจาะตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ของธนาคารคือ ‘รถเรียกเงิน’ และการใช้ประโยชน์จากช่องทางดิจิทัลของธนาคารมากขึ้น ไม่ว่าแอป KKP Mobile หรือแอปของบริษัทในกลุ่มอย่าง EDGE เพื่อเชื่อมโยงบริการของธนาคารเข้ากับบริการด้านการลงทุนที่เป็นความชำนาญของกลุ่มธุรกิจฯ

 

ปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ให้รายละเอียดเกี่ยวข้อมูลทางการเงินของผลการดำเนินงานปี 2565 ว่า กลุ่มธุรกิจฯ มีกำไรสุทธิเท่ากับ 7,602 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.3% และมีกำไรเบ็ดเสร็จ 10,120 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.2% จากปี 2564 โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 758 ล้านบาท และเป็นกำไรเบ็ดเสร็จของธุรกิจตลาดทุน จำนวน 1,077 ล้านบาท ในส่วนของการตั้งสำรองสำหรับปี 2565 ยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ 154.4% 

 

นอกจากนี้ ธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิรวมถึงรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 19,081 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 21.5% ในขณะที่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 8,457 ล้านบาท ลดลง 1.0% จากปี 2564 และธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2565 อยู่ที่ 16.26% และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 จะเท่ากับ 12.88%

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X