×

5 ภาพยนตร์ออสการ์ที่สะท้อนบทบาทและจุดยืนของวงการสื่อสารมวลชน

02.03.2018
  • LOADING...
oscasrs2019

หนึ่งในหมวดภาพยนตร์ที่มักได้รับความนิยมช่วงเทศกาลแจกรางวัลของฮอลลีวูดคือหนังเรื่องราววงการสื่อสารมวลชนที่สร้างมาจากเรื่องจริง ซึ่งถูกจารึกเป็นโมเมนต์ประวัติศาสตร์โลกและปฏิวัติสังคมที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้ สำหรับปีนี้ หนังเรื่อง The Post ของผู้กำกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก ก็ได้ช่วยปลุกกระแสหนังแนวนี้อีกครั้ง แต่มากไปกว่านั้นคือสถานภาพของสังคมตอนนี้ โดยเฉพาะวงการฮอลลีวูดที่ถูกสั่นคลอนเรื่องการทำงานของสื่อที่เปิดโปงเรื่องประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ เช่นทีม The New York Times และ The New Yorker เกี่ยวกับฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ส่วนล่าสุดทีม Spotlight ของ The Boston Globe ก็ออกมาเปิดเผยเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศของบุคคลในวงการแฟชั่น

 

THE STANDARD ได้รวบรวม 5 สุดยอดภาพยนตร์จากเวทีออสการ์ที่กลับไปดูทีไรก็ยังเปี่ยมไปด้วยความคลั่ง และทำให้เห็นว่าเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ต้องพึ่งการทำงานของสื่อเป็นอย่างมาก แม้จะอยู่ในยุคที่ Disruptive สุดๆก็ตาม

 

 

All the President’s Men (1976)

กำกับโดย อลัน เจ. ปาคูลา

หนังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ 8 สาขา ชนะไป 4 รางวัล ในสาขาออกแบบงานสร้างยอดเยี่ยม, บันทึกเสียงยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม  

 

หนังอิงมาจากหนังสือชื่อเดียวกันในปี 1974 เรื่อง All the President’s Men ซึ่งเล่าเรื่องของ บ็อบ วูดเวิร์ด และคาร์ล เบิร์นสตีน สองนักข่าวจาก The Washington Post ที่ร่วมกันสืบสวนคดีวอเตอร์เกต เหตุการณ์อื้อฉาวทางการเมือง จากจุดเริ่มต้นที่พวกเขาเห็นความไม่ชอบมาพากลในคดีโจรกรรมสำนักงานใหญ่พรรคเดโมแครต จนนำไปสู่การลาออกของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ซึ่งเป็นการลาออกของประธานาธิบดีครั้งแรกและครั้งเดียวในประวัติศาสตร์อเมริกา

 

คดีวอเตอร์เกตเกิดขึ้นในช่วงต้นยุค 70s ถือว่าเป็นการเปิดโปงการทำงานของคณะทำงานและประธานาธิบดีนิกสันจนนำไปสู่การฟ้องร้อง การไต่สวนของคณะรัฐบาล เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อมีการจับกุมผู้ลักลอบโจรกรรมข้อมูลที่ทำการใหญ่พรรคเดโมแครต ซึ่งตั้งอยู่ในอาคารวอเตอร์เกตคอมเพล็กซ์ โดยทาง FBI ได้สืบสาวเรื่องราวจนพบว่าคนร้ายมีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินทุนของคณะทำงานให้กับประธานาธิบดี คณะสอบสวนยังพบการบันทึกเสียงในห้องทำงานของประธานาธิบดีนิกสัน ซึ่งเป็นหลักฐานให้เห็นว่าเขาพยายามปกปิดข้อมูลเรื่องการโจรกรรมดังกล่าว ทั้งยังมีความพยายามกดดันให้ The Washington Post ล้มเลิกการทำข่าวนี้ แต่ก็ไม่เป็นผล สุดท้ายประธานาธิบดีนิกสันที่ได้รับแรงกดดันมากมายจากสังคมได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 1974

 

 

Network (1976)

กำกับโดย ซิดนีย์ ลูเม็ต

หนังเข้าชิงรางวัลออสการ์ 10 สาขา ชนะไป 4 รางวัล ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, นักแสดงหญิงนำหญิงยอดเยี่ยม, นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม และบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม

 

Network เล่าเรื่องราวของสถานีโทรทัศน์ UBS สถานีท้ายแถวที่เรตติ้งร่วง ทางสถานีได้พยายามดิ้นรนเพื่อปรับปรุงกิจการ และได้ตัดสินใจปลดนักข่าว ฮาเวิร์ด บีล ออกจากงาน เมื่อรู้ว่าตัวเองกำลังจะตกงาน เขาได้ประกาศออกรายการว่าในวันสุดท้ายของการทำงาน เขาจะระเบิดสมองตัวเองให้ดูกันสดๆ แน่นอนว่าวิธีนี้ทำให้รายการเรตติ้งดีขึ้น และทำให้ฮาเวิร์ดต้องคิดมุกใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อทำให้คนติดตามดู แต่เมื่อหมดมุก คนดูก็เริ่มเบื่อ ตัวเขาก็คิดหาวิธีแก้ปัญหาต่อไปเรื่อยๆ

 

ส่วนหนึ่งที่ซิดนีย์ ลูเม็ต สร้างหนังเรื่องนี้ขึ้นมาก็เพื่อจิกกัดธุรกิจสื่อยักษ์ใหญ่เชิงพาณิชย์ที่สนใจแต่เรื่องรายได้และเรตติ้ง โดยมองข้ามเรื่องศีลธรรมไปแทบทั้งหมด ซึ่งถึงแม้ว่าหนังจะสร้างมา 40 กว่าปีแล้ว แต่ก็ยังคงสะท้อนปัญหานี้ได้ในหลายภาคส่วน

 

 

Good Night, and Good Luck (2005)

กำกับโดย จอร์จ คลูนีย์

หนังได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ 6 สาขาคือ ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม, ถ่ายภาพยอดเยี่ยม และกำกับศิลป์ยอดเยี่ยม

 

หนังเรื่องนี้ถ่ายเป็นโทนสีขาว-ดำทั้งหมด เล่าถึงเหตุการณ์ช่วงต้นยุค 50s ที่อเมริกาหวาดระแวงเกี่ยวกับการขยายอำนาจและการครอบงำของคอมมิวนิสต์ โดยวุฒิสมาชิกรัฐวิสคอนซินอย่าง โจเซฟ แม็กคาร์ธี ได้ให้กลุ่ม Senate Permanent Subcommittee on Investigations สอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐที่ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์และนำมาแฉให้คนในอเมริการู้ถึงสิ่งที่ผิดศีลธรรมนี้ ในขณะที่สื่อส่วนใหญ่ไม่กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ เอ็ดเวิร์ด อาร์ เมอร์โรว์ ผู้สื่อข่าวของสถานี CBS และเฟรด เฟรนด์ลี โปรดิวเซอร์ของรายการ กลับตัดสินใจท้าทายและเปิดโปงแม็กคาร์ธีผ่านรายการทีวี See It Now ทางช่อง CBS

 

สำหรับจอร์จ คลูนีย์ แล้ว ภาพยนตร์หลายเรื่องที่เขากำกับก็มักจับประเด็นเรื่องราวหรือบุคคลในแวดวงสื่อและวงการบันเทิง เช่น Confessions of a Dangerous Mind (2002) และ The Ides of March (2011) ส่วนในชีวิตจริง นิค คลูนีย์ พ่อของจอร์จ ก็เป็นผู้ประกาศข่าวและผู้สื่อข่าวชื่อดังอีกด้วย

 

 

Citizenfour (2014)

กำกับโดย ลอรา พอยทราส

หนังชนะรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยม ในปี 2015

 

ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับ เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน อดีต CIA และลูกจ้างสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NSA ที่ออกมาเปิดโปงโครงการลับที่ทางสหรัฐฯ ร่วมมือกับบริษัทคอมพิวเตอร์เพื่อสอดส่องและล้วงข้อมูลประชาชน ทำให้เขากลายเป็นผู้ต้องหาที่ทางสหรัฐฯ ต้องการตัวจนต้องหลบหนีไปต่างประเทศ

 

หลังจากที่ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ถูกปล่อยออกมา หนังได้รับคำวิจารณ์ด้านบวกมากมาย และได้คะแนนในเว็บไซต์ Rotten Tomatoes สูงถึง 96% ส่วนผู้กำกับสาว ลอรา พอยทราส เธอมักจะทำภาพยนตร์สารคดีที่สะท้อนประเด็นทางการเมือง ทั้งเรื่อง My Country, My Country (2006) ที่เกี่ยวกับฐานกองกำลังทหารอเมริกันในอิรัก และเรื่อง The Oath (2010) ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์หลังจากการก่อการร้าย 9/11

 

 

Spotlight (2015)

กำกับโดย ทอม แม็กคาร์ธี

หนังเข้าชิงรางวัลออสการ์ 6 สาขา และชนะไป 2 รางวัลคือภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม ปี 2016

 

หนังสร้างจากเรื่องจริงของทีมข่าวสืบสวน Spotlight จากหนังสือพิมพ์ The Boston Globe ที่ทำการสืบสวนและเขียนข่าวเปิดโปงเรื่องของบาทหลวงในศาสนจักรคาทอลิกที่ล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์ หลังการตีพิมพ์ข่าวชิ้นนี้ เรื่องราวได้แพร่กระจายไปกว่า 100 เมืองทั่วอเมริกาและทั่วโลก แค่ในเมืองบอสตัน มีบาทหลวงมากกว่า 250 รูปที่ถูกกล่าวหาว่าได้ทำการล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์

 

ในปี 2003 ทางหนังสือพิมพ์ The Boston Globe ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ด้านบริการสาธารณะ จากข่าวเปิดโปงชิ้นนี้ และทีมข่าว Spotlight ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของหนังสือพิมพ์ The Boston Globe จนถึงทุกวันนี้

 

COVER PHOTO: All the President’s Men (1976)

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X