ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ (BANK) ร่วงลงมา 3.84% หลังจากเป็นกลุ่มที่โดดเด่นที่สุดในสัปดาห์แรกจากการปรับตัวขึ้น 4.06%
การปรับฐานของหุ้นกลุ่มแบงก์มาจากเรื่องของผลประกอบการไตรมาส 4/65 ที่ทยอยประกาศออกมา และค่อนข้างจะต่ำกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์และความคาดหวังของตลาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ นำตลาดผันผวน หลัง IMF มองว่าความเสี่ยง Recession น้อยลง
- ตลท. ขยายกรอบ ‘Ceiling & Floor’ ใหม่ให้สอดคล้องกับตลาดหุ้นนอก พร้อมประกาศเพิ่มเครื่องหมาย P เตือนหุ้นที่ซื้อขายผิดปกติ เริ่มมีผลใช้ใน 1Q66
- ย้อนรอย ‘ออลล์ อินสไปร์’ ก่อนเบี้ยวดอกเบี้ยหุ้นกู้ ฟากผู้บริหารชิงขายหุ้น ก่อนราคาดิ่ง 90% จากจุดสูงสุด
งบแบงก์ปี 65 แย่กว่าคาด
“กำไรของหุ้นแบงก์แย่กว่าคาดเป็นส่วนใหญ่ ภายใต้การวิเคราะห์ของเรา มีเพียงแค่ TTB ที่กำไรออกมาดีกว่าคาด และ KTB ที่ใกล้เคียงกับที่คาดไว้” กรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าว
โดยรวมกำไรของหุ้นกลุ่มแบงก์แย่กว่าที่เราคาดไว้ 17% และแย่กว่าที่ตลาดคาด 12% สาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองที่สูงกว่าที่ประเมินไว้
จากตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 4 ที่ออกมา สะท้อนว่าหุ้นอย่างธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) หรือแม้แต่ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และ บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) ที่กำไรออกมาต่ำกว่าคาด น่าจะเป็นกลุ่มที่ทำได้ดีในปีนี้
TISCO ตั้งใจตั้งสำรองสูงเพื่อรองรับความเสี่ยงเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย และขาดทุนจากรถยึดที่อาจจะสูงขึ้น รวมทั้งการเข้ามาของรถยนต์ไฟฟ้า ส่วน BBL ถูกกดดันจากผลขาดทุนในส่วนของการลงทุน แต่การดำเนินงานของธุรกิจหลักยังฟื้นตัวดีขึ้น
นอกจากนี้ แม้ว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของทั้ง 4 แบงก์ข้างต้นจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นการเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่ได้น่ากลัวนัก
ในมุมกลับกัน กรกชมองว่าสองหุ้นกลุ่มแบงก์ที่นักลงทุนต้องระมัดระวังในปีนี้คือ บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) และธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP)
SCB แม้ว่า NPL จะเพิ่มขึ้นเพียง 0.1% แต่ในรายละเอียดจะเห็นว่า NPL ใหม่เพิ่มขึ้นมาก และในปีนี้บริษัทไม่ได้ให้ข้อมูลว่า NPL ที่เพิ่มเข้ามาใหม่นี้เกิดจากลูกค้ากลุ่มใดเป็นพิเศษ แต่โดยรวมถือว่าเป็นลบต่อคุณภาพของสินทรัพย์
ส่วน KKP มีกำไรต่ำกว่าคาดในไตรมาส 4 จากการตั้งสำรอง 700 ล้านบาท จากกรณีของหุ้น บมจ.มอร์ รีเทิร์น (MORE) แม้ว่ากำไรจากการดำเนินงานปกติจะทำได้ตามคาด หนุนจากค่าธรรมเนียมวาณิชธนกิจ แต่ NPL และผลขาดทุนจากรถยึดที่เพิ่มขึ้น 3 ไตรมาสติดกันเป็นสิ่งที่น่ากังวล
“ตอนนี้หุ้นแบงก์กระจายซื้อทุกตัวไม่ได้ ต้องเลือกบางตัวที่ปลอดภัย เช่น KTB ที่คุณภาพสินทรัพย์ยังดี และมี ROE ราว 8% ขณะที่ SCB และ KKP ยังไม่น่าสนใจ การปรับฐานรอบนี้เป็นโอกาสซื้อ แต่ไม่ใช่ทุกตัว อย่าง BBL ที่ร่วงลงมาเมื่อวันศุกร์ทั้งที่ไม่น่ากลัวอะไร ก็ฟื้นตัวกลับมาได้”
กำไร 4Q65 อาจเป็นจุดต่ำสุดไปแล้ว
“แม้กำไรไตรมาส 4 แย่กว่าคาด แต่เมื่อคุยกับผู้บริหารที่ให้เป้าหมายในปีนี้ กลายเป็นว่ามีอัปไซด์จากประมาณการของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ย้อนแย้งเล็กน้อยกับตัวเลขที่ออกมา” กรกชกล่าวถึงเป้าหมายของผู้บริหารแบงก์ในปีนี้
เป้าหมายด้านการเติบโตของสินเชื่ออย่าง TISCO คาดว่าจะโต 5-7% SCB คาดเติบโต 5% ส่วนประมาณการของเราอยู่ที่เพียง 3% โดยผู้บริหารเชื่อว่ากลุ่มลูกค้าองค์กรขนาดใหญ่และสินเชื่อบุคคลจะเติบโตดี โดยมีเพียง SMEs ที่อาจยังไม่มั่นใจ
ขณะเดียวกัน ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) น่าจะยังเพิ่มขึ้นต่อในครึ่งปีแรกของปีนี้ โดยผู้บริหารดูมั่นใจมากขึ้นว่าจะสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยตามการขึ้นดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ในปีนี้
ส่วนการเพิ่มขึ้นของ NPL ถูกลดความเสี่ยงลงด้วยการตั้งสำรอง (Coverage Ratio) ที่ค่อนข้างสูง ปัจจุบันอยู่ที่เฉลี่ย 170% เทียบกับช่วงก่อนโควิดที่เฉลี่ย 130% ในปีนี้ NPL ของกลุ่มแบงก์น่าจะกลับมาแตะระดับ 4% จากช่วงโควิดที่ลดลงไปเหลือ 3.5% เพราะมาตรการช่วยเหลือ และทำให้ Coverage Ratio ลดลงมาเหลือประมาณ 150%
ธนภัทร ฉัตรเสถียร ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า งบกลุ่มแบงก์ออกมาต่ำกว่าคาดในระดับหนึ่ง แต่เกิดจากเพียงบางแบงก์ที่ตั้งสำรองสูงเป็นพิเศษในไตรมาส 4
“สิ่งที่ต้องโฟกัสคือปี 2566 กำไรน่าจะดีขึ้น หลังจากตั้งสำรองลดลง โดยสำรองที่สูงในไตรมาส 4 มาจากสองส่วนคือ ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลก และ NPL ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นจุดแย่สุดไปแล้ว”
ในปี 2566 น่าจะเห็นการตั้งสำรองลดลง หากเศรษฐกิจไม่ได้แย่มากอย่างที่คาด ขณะที่ NPL ที่เพิ่มขึ้นหลังจากจบมาตรการช่วยเหลือน่าจะสะท้อนไปค่อนข้างมากแล้ว
ยก ‘KTB-BBL’ ดาวเด่นของกลุ่ม
ธนภัทรมองว่า รายได้กลุ่มแบงก์ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย รวมทั้งมูลค่าการปล่อยสินเชื่อน่าจะเติบโตได้ในปีนี้ โดย NIM น่าจะเพิ่มขึ้นต่อได้ราว 0.2-0.3%
“จะเห็นว่าเมื่อตลาดตกใจ ราคาหุ้นทั้งกลุ่มร่วงลงมา แต่จะเห็นว่า KTB และ BBL ฟื้นตัวได้ดีกว่ากลุ่ม เนื่องจากแนวโน้มธุรกิจที่ค่อนข้างแน่นอนกว่า”
ส่วนอีกหนึ่งแบงก์ใหญ่คือ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) น่าจะยังถูกกดดันต่อเนื่องในปีนี้ เพราะนอกจากการตั้งสำรองจากสองส่วนหลัก ยังมีส่วนของสินเชื่อดิจิทัล ซึ่งอาจจะกดดันผลประกอบการต่อเนื่องในปีนี้ และทำให้หุ้น KBANK อาจจะไม่โดดเด่นเท่าใดนัก
ขณะที่ SCB แม้กำไรไตรมาส 4 อาจจะผิดคาด แต่กำไรปี 2566 ก็น่าจะฟื้นตัวได้ดีจากฐานที่ต่ำ
“โดยภาพรวมหุ้นแบงก์ยังเป็นหนึ่งในกลุ่มที่น่าจะดีขึ้นในปีนี้ ล้อไปกับธีม Domestic Play แต่แน่นอนว่าการเติบโตในปีนี้จะเด่นแค่บางตัว”
ในระยะสั้น บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า การประชุม กนง. วันที่ 25 มกราคม คาดว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 1.50% ซึ่งหลังจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ กนง. น่าจะเข้าสู่โหมดรอจับตาดูสถานการณ์เพื่อรอดูทิศทางนโยบายการเงินของประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐฯ รวมถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อของไทยต่อไป ซึ่งมีแนวโน้มชะลอตัวลง
หาก กนง. ขึ้นดอกเบี้ยจริง คาดว่าเงินบาทและกระแสเงินลงทุน (Fund Flow) น่าจะตอบรับเชิงบวกได้อีกเล็กน้อย หลังจากที่ตลาด Swap ของไทยล่าสุดยังคงให้น้ำหนักความน่าจะเป็นของเหตุการณ์ดังกล่าวเพียง 86% หมายความว่าการขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้น่าจะส่งผลบวกด้าน Sentiment ต่อหุ้นกลุ่มแบงก์ด้วยเช่นกัน หลังจากที่หุ้นแบงก์ถูกเทขายหลังการประกาศงบการเงินปี 2565