×

ญี่ปุ่นและอังกฤษลงนามในข้อตกลงด้านกลาโหมครั้งสำคัญ หวังต้านอิทธิพลจีน

13.01.2023
  • LOADING...

ญี่ปุ่นและอังกฤษได้ลงนามในข้อตกลงด้านกลาโหมครั้งสำคัญ ท่ามกลางความพยายามของ ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ที่ต้องการกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับพันธมิตร G7 ให้มากขึ้นในช่วงเวลาที่จีนแผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้นในภูมิภาค

 

โดยเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา คิชิดะและ ริชี ซูนัค นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ได้ลงนามในข้อตกลง Reciprocal Access Agreement ที่ Tower of London เพื่อปูทางให้ทั้งสองชาติสามารถส่งกำลังทหารเข้าไปยังอีกประเทศหนึ่งได้ในการฝึกซ้อมหรือทำภารกิจในปฏิบัติการสำคัญอื่นๆ

 

ข้อตกลงระหว่างญี่ปุ่นและอังกฤษถือเป็นสัญญาณล่าสุดที่ชี้ว่า ญี่ปุ่นกำลังเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรท่ามกลางความท้าทายต่างๆ ที่เกิดจากจีน ซึ่งญี่ปุ่นได้อธิบายว่า เป็น ‘ความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา’ 

 

ในขณะเดียวกันข้อตกลงดังกล่าวก็เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายด้านอินโด-แปซิฟิกของอังกฤษ ซึ่งกำลังพยายามสร้างความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงและการค้าในภูมิภาคแห่งนี้ ปัจจุบันอังกฤษมีท่าทีหนักแน่นมากขึ้นต่อแนวทางที่มีกับจีน โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาซูนัคเคยกล่าวเตือนว่า จีนได้สร้าง ‘ความท้าทายเชิงระบบ’ ต่อค่านิยมและผลประโยชน์ของอังกฤษ

 

ด้านสำนักนายกรัฐมนตรีอังกฤษระบุว่า ข้อตกลงกับญี่ปุ่นถือเป็นข้อตกลงด้านกลาโหมที่สำคัญที่สุดระหว่างสองประเทศในรอบกว่าศตวรรษ

 

“ข้อตกลง Reciprocal Access Agreement ฉบับนี้มีความสำคัญอย่างมากสำหรับทั้งสองประเทศของเรา เนื่องจากมันตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของเราที่มีต่ออินโด-แปซิฟิก และเน้นย้ำถึงความพยายามร่วมกันในการส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ” ซูนัคกล่าวในแถลงการณ์ “ในโลกที่มีการแข่งขันสูงขึ้น สังคมประชาธิปไตยจะต้องยืนหยัดเคียงบ่าเคียงไหล่กันต่อไปในขณะที่เรามุ่งหน้าฝ่าฟันความท้าทายระดับโลก”

 

คิชิดะอยู่ในระหว่างเดินสายเยือนประเทศต่างๆ ในกลุ่ม G7 รวมถึงฝรั่งเศส อิตาลี แคนาดา และสหรัฐอเมริกา โดยญี่ปุ่นซึ่งรับหน้าที่เป็นประธาน G7 ในปีนี้ จะจัดการประชุมผู้นำในเดือนพฤษภาคม ณ เมืองฮิโรชิมะ

 

อนึ่ง ญี่ปุ่นเคยกล่าวไว้ว่า จีนเป็นความท้าทายทางยุทธศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นต้องยกเครื่องนโยบายด้านกลาโหมและความมั่นคง รวมถึงแผนการดันงบกลาโหมให้แตะระดับ 2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภายในปี 2027 โดยจีนได้เพิ่มกองกำลังทางเรือและทางอากาศบริเวณพื้นที่ใกล้กับญี่ปุ่น พร้อมอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเซ็งกากุว่าเป็นอาณาเขตอธิปไตยของตนเอง ขณะที่จีนเรียกเกาะดังกล่าวว่าเตียวหยู

 

นอกจากนี้การที่จีนเพิ่มแรงกดดันทางทหารต่อไต้หวัน ก็ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2022 ปักกิ่งยิงขีปนาวุธ 5 ลูกตกลงในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของญี่ปุ่น ซึ่งใกล้กับไต้หวัน เพื่อตอบโต้การเยือนไทเปของ แนนซี เพโลซี เมื่อครั้งเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ

 

ภาพ: Carl Court / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X