×

‘ธปท.-ก.ล.ต.’ เดินหน้ารับฟังความเห็นร่าง Thailand Taxonomy เผยระยะที่ 1 ครอบคลุม 22 กิจกรรมในภาคขนส่งและพลังงาน พร้อมลุยต่อระยะที่ 2

10.01.2023
  • LOADING...

วันนี้ (10 มกราคม) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้จัดงานสัมมนาออนไลน์ สรุปรายละเอียดเอกสารการเปิดรับฟังความเห็นต่อร่างมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Thailand Taxonomy) โดยในงานดังกล่าวได้มีการเปิดเผยว่าร่าง Taxonomy ของไทยจะเป็นแบบจัดหมวดหมู่ตามเกณฑ์การคัดกรองทางเทคนิค (Technical Screening Critiria-Based Taxonomies) ซึ่งมีความใกล้เคียงกับของสหภาพยุโรป โคลัมเบีย และแอฟริกาใต้ 

 

โดยจุดเด่นของรูปแบบดังกล่าวคือ มีความชัดเจนตามหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ขึ้นกับการตีความ เป็นเกณฑ์ที่มีความเข้มงวดและรัดกุม มีความน่าเชื่อถือ และถูกมองว่าเป็น Best Practice ในตลาดการเงินเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงด้านการกล่าวอ้างเกินจริง หรือ Greenwashing 

 

ทั้งนี้ ร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 จะครอบคลุมทั้งหมด 22 กิจกรรมจาก 2 ภาคเศรษฐกิจ ได้แก่ ภาคการขนส่งและพลังงาน เช่น การขนส่งทางรถไฟฟ้า, การขนส่งทางบกและการขนส่งทางทะเล, การผลิต การส่ง และการจ่ายไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็น 68% ของภาพรวมทั้งประเทศ โดยจะแบ่งการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของกิจกรรมต่างๆ ออกเป็น 3 ระดับ (ระบบ Traffic-Light System) ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง และสีแดง 

 

  • โดยสีเขียวหมายถึง กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ไฟฟ้าพลังงานลม และรถไฟฟ้า EV 
  • ขณะที่สีเหลืองหมายถึง กิจกรรมที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเป็นมิตรต่อการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้เส้นทางการลดคาร์บอนและกรอบเวลาที่น่าเชื่อถือ เช่น การบินระยะไกล และการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ 
  • ส่วนสีแดงหมายถึง ไม่เป็นมิตรต่อการลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ถ่านหิน และน้ำมัน

 

วิภาวิน พรหมบุญ ผู้อำนวยการสำนักกลยุทธ์สถาบันการเงิน ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า นโยบายการค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวตาม ซึ่งที่ผ่านมาภาคธุรกิจไทยได้มีการตื่นตัวในเรื่องนี้บ้างแล้ว แต่การนิยามความเป็นสีเขียวของแต่ละรายยังแตกต่างกัน ทำให้มีความจำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานกลาง หรือ Taxonomy ขึ้นมา 

 

วิภาวินกล่าวว่า แม้ในหลายประเทศจะกำหนด Taxonomy ขึ้นมาแล้ว แต่ไทยก็ไม่สามารถนำเกณฑ์เหล่านั้นมาใช้ได้แบบ 100% ด้วยบริบทที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ ด้วยเหตุนี้ ธปท. และ ก.ล.ต. จึงเห็นความสำคัญในการจัดทำ Thailand Taxonomy ขึ้นมาให้มีความสอดคล้องกับสากลและบริบทของประเทศ ซึ่งนอกจาก ธปท. และ ก.ล.ต. แล้ว คณะทำงานชุดนี้ยังประกอบไปด้วยกระทรวงพลังงาน, กระทรวงคมนาคม, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยมี Climate Bonds Initiative เป็นที่ปรึกษา

 

“ในระยะแรกนี้เราจะเริ่มจาก 2 ภาคเศรษฐกิจคือ ภาคการขนส่งและพลังงานก่อน แต่เราก็เริ่มพิจารณาถึงระยะที่ 2 แล้วเช่นกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะขยายไปสู่ภาคการผลิตและภาคเกษตร” วิภาวินกล่าว

 

วิภาวินกล่าวอีกว่า ในฐานะผู้จัดทำ ธปท. คาดหวังให้ Taxonomy ถูกนำไปใช้ใน 2 มิติ ได้แก่

 

  1. การช่วยให้ลูกค้าของสถาบันการเงินทราบว่าความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมของตัวเองอยู่ในระดับใด เพื่อนำไปสู่การปรับตัว
  2. การช่วยให้ตัวสถาบันการเงินเองรู้สถานะว่าในพอร์ตโฟลิโอของตัวเองมีความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมอยู่ในระดับใด

 

ทยากร จิตรกุลเดชา ผู้อำนวยการฝ่ายตราสารหนี้ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. มีแผนส่งเสริมกิจกรรม ESG มาอย่างต่อเนื่อง เช่น การออกหลักเกณฑ์สำหรับการออกและเสนอขายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) รวมถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีผู้ออกผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไปแล้วราว 30 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าหากเทียบกับภาพรวมของการออกตราสารหนี้ทั้งหมด ยังมีสัดส่วนที่เป็นสีเขียวเพียง 3% และกลุ่มผู้ออกตราสารหนี้ยังค่อนข้างกระจุกตัว ดังนั้นการมี Taxonomy จึงมีความสำคัญที่จะช่วยสร้างความชัดเจนและโปร่งใสให้กับการลงทุนสีเขียว โดยธุรกิจสามารถใช้ Taxonomy เป็นคู่มืออ้างอิงเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและหาทางเลือกในการบริหารความเสี่ยง

 

ปัจจุบันทั้ง ธปท. และสำนักงาน ก.ล.ต. ยังอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง Thailand Taxonomy ระยะที่ 1 และผลกระทบหากนำมาใช้งาน โดยกระบวนการรับฟังความเห็นจะมีไปจนถึงวันที่ 26 มกราคม 2566 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X