สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประกาศแผนเศรษฐกิจมูลค่า 8.7 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับทศวรรษที่กำลังจะมาถึง โดยมุ่งเป้าสนับสนุนการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ เพื่อปั้น ‘ดูไบ’ ขึ้นเป็นศูนย์กลางทางการเงินของโลก
เมื่อวันพุธ (4 มกราคม) ชีค มูฮัมหมัด บิน รอชิด อัล มักตูม (Sheikh Mohammed bin Rashid al Maktoum) รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเจ้าผู้ครองนครดูไบ ระบุผ่านทวิตเตอร์ว่า ดูไบจะถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 4 ศูนย์กลางทางการเงินระดับโลก โดยจะดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้นสูงกว่า 6.5 แสนล้านดีแรห์มสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (หรือราว 6 ล้านล้านบาท) ในทศวรรษหน้า ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกกว่า 300,000 รายจะช่วยสร้างให้ดูไบเป็นเมืองระดับโลกที่เติบโตเร็วที่สุด
โพสต์ดังกล่าวยังอธิบายว่า ‘โครงการปฏิรูปอนาคตเหล่านี้’ เป็นเพียงบางส่วนจากทั้งหมด 100 โครงการ ที่อยู่ในโรดแมปเศรษฐกิจระยะ 10 ปี ซึ่งรวมถึง
- การส่งเสริมการค้าต่างประเทศให้ถึง 25.6 ล้านล้านดีแรห์ม จาก 14.2 ล้านล้านดีแรห์มในทศวรรษที่ผ่านมา
- การเพิ่ม FDI เกือบ 2 เท่าต่อปี เป็น 6 หมื่นล้านดีแรห์มต่อปี
- การเพิ่มการใช้จ่ายของรัฐบาล จาก 5.12 แสนล้านดีแรห์มในทศวรรษที่ผ่านมา เป็น 7 แสนล้านดีแรห์มในทศวรรษต่อไป
- การเพิ่มการลงทุนของภาคเอกชน จาก 7.9 แสนล้านดีแรห์มในทศวรรษที่ผ่านมา เป็น 1 ล้านล้านดีแรห์มใน 10 ปีข้างหน้า
- การทุ่มเงินกว่า 1 แสนล้านดีแรห์มต่อปี เพื่อการเปลี่ยนผ่านด้านดิจิทัล
ทวีตของชีค มูฮัมหมัด ระบุอีกว่า ดูไบมีเป้าหมายที่จะเพิ่มขนาดเศรษฐกิจเป็น 2 เท่าในทศวรรษหน้า และกลายเป็นหนึ่งในเมืองเศรษฐกิจชั้นนำ 3 อันดับแรกของโลก
แม้หลายฝ่ายยังกังขาเกี่ยวกับความสามารถในการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจของดูไบ แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินในดูไบเชื่อว่าทางการสามารถบรรลุเป้าหมายได้ โดยอ้างประวัติศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการปฏิรูปของดูไบ
ขณะที่ Karim Jetha ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการลงทุนจาก Longdean Capital ซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ในดูไบกล่าวว่า มุมการแข่งขัน เพื่อนบ้านอย่างซาอุดีอาระเบียกำลังลงทุนเป็นมูลค่าหลายล้านล้านเพื่อลบภาพลักษณ์ประเทศอนุรักษนิยม เพื่อดึงดูดการท่องเที่ยวและการลงทุนจากต่างประเทศ
พร้อมทั้งระบุว่า “แม้ตัวเลขฟังดูทะเยอทะยาน แต่ดูไบไม่เคยขาดความทะเยอทะยาน ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างซาอุดีอาระเบียเปิดกว้างและมองหาโอกาสในการจับธุรกิจในภูมิภาคมากขึ้น ดูไบก็ตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้น และพยายามที่จะเป็นศูนย์กลางระดับโลกให้ได้”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เกิดอะไรขึ้นกับ ‘ฮ่องกง’ ทำไมสถานะ ‘ศูนย์กลางทางการเงินของเอเชีย’ กำลังถูกสั่นคลอน และอาจกลายเป็นแค่อดีต
- ส่องกรณีศึกษาการเติบโตของ เศรษฐกิจสิงคโปร์ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่รออยู่ข้างหน้า
- เปิดจุดเด่น เวียดนาม หลังจ่อขึ้นแท่นประเทศที่คว้าชัยในยุค Deglobalization
อ้างอิง: