×

บาทแข็งค่าหลุดระดับ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ในรอบ 8 เดือน จากโฟลวธุรกรรมขายทำกำไรทองคำและแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากต่างชาติ

05.01.2023
  • LOADING...

ค่าเงินบาทในวันนี้ (5 มกราคม) แข็งค่าขึ้นสู่ระดับ 33.94 บาทต่อดอลลาร์ จากระดับปิดในวันก่อนหน้าที่ 34.06 บาทต่อดอลลาร์ ถือเป็นระดับการแข็งค่าทะลุระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือน หรือนับจากเดือนเมษายนปีที่ผ่านมา

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า การแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วของเงินบาทได้แรงหนุนหลักมาจากโฟลวธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังจากที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อเนื่องใกล้ระดับ 1,870 ดอลลาร์ต่อออนซ์ นอกจากนี้เงินบาทยังได้แรงหนุนจากแรงซื้อสินทรัพย์ไทย อาทิ บอนด์ระยะสั้น ที่มียอดซื้อสุทธิโดยนักลงทุนต่างชาติกว่า 16.5 หมื่นล้านบาทในวันก่อนหน้า ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นการเพิ่มสถานะ Short USDTHB (มองเงินบาทแข็งค่า) ของนักลงทุนต่างชาติ ท่ามกลางความหวังการฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตามการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน

 

“การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ตามการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อในอัตราชะลอลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงใกล้ระดับ 104.2 จุด มีส่วนหนุนให้ราคาทองคำแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,860 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แม้ว่าจะถูกกดดันจากภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ซึ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างเดินหน้าทยอยขายทำกำไรทองคำต่อเนื่อง ซึ่งโฟลวธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น” พูนกล่าว

 

พูนคาดว่าเงินบาทจะยังมีแรงหนุนในฝั่งแข็งค่าต่อไป หากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวยังไม่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องระวังในกรณีที่เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้บ้าง หากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ในวันนี้ รวมถึงวันศุกร์นี้ (6 มกราคม) (รายงานยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม หรือ Nonfarm Payrolls) ออกมาดีกว่าคาดไปมาก โดยประเมินว่าผู้เล่นบางส่วนอาจทยอยขายทำกำไรสถานะ Short USDTHB ได้บ้าง หลังเงินบาทเริ่มปรับตัวแข็งค่าใกล้โซนแนวรับสำคัญใหม่แถว 33.75-33.80 บาทต่อดอลลาร์

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาทิ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) รวมถึงยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานต่อเนื่อง (Continuing Jobless Claims) ส่วนในฝั่งไทยประเมินว่าการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัวดีขึ้นสอดคล้องกับการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนธันวาคม เร่งขึ้นสู่ระดับ 5.9% (ส่วนหนึ่งมาจากผลของฐานราคาที่ต่ำในปี 2021) แต่อัตราเงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวขึ้นไปมาก เนื่องจากราคาสินค้าพลังงานได้ปรับตัวลดลงในช่วงเดือนธันวาคม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X