×

ผู้เชี่ยวชาญแนะจับตา ‘3 ปัจจัยฉุดเศรษฐกิจโลก’ สู่ภาวะถดถอย ระบุท่าทีธนาคารกลาง ราคาพลังงาน จีน เป็นตัวแปรหลัก

30.12.2022
  • LOADING...

บรรดานักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจต่างออกมาประเมินและคาดการณ์ความเป็นไปได้ของสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2023 ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่ามกลางสัญญาณความเป็นไปได้ของภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเป็นผลลัพธ์ที่ต้องแลกในการจัดการกับตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งทุบสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายสิบปี 

 

เงินเฟ้อที่พุ่งสูงได้กระทบต่อการใช้จ่ายหลังการล็อกดาวน์ลดลง และผลักดันให้ธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่งผลให้ต้นทุนการกู้ยืมอยู่ในระดับสูงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ภายใต้การควบคุม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


แน่นอนว่าการดำเนินการของธนาคารกลางที่เด็ดขาดในการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ย่อมได้ผลลัพธ์ตามที่ธนาคารกลางคาดหวังไว้ แต่ก็น่าจะต้องแลกมากับภาวะเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้ในปี 2023

 

Kay Daniel Neufeld ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายคาดการณ์ของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ กล่าวว่า มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะถดถอยในปีหน้า อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยตามอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

 

แม้จะไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยว่าเศรษฐกิจโลกกำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่ด้วยการเติบโตที่คาดว่าจะลดต่ำลงอีกหลังจากชะลอตัวลงอย่างมากในปี 2022 จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีโอกาสเกิดภาวะถดถอย 

 

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ในเดือนตุลาคมว่าการเติบโตทั่วโลกจะลดลงเหลือ 2.7% ในปี 2023 หากไม่รวมวิกฤตการเงินโลกและระยะที่เลวร้ายที่สุดของโรคระบาด นั่นจะเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกอ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2001 โดยในเดือนพฤศจิกายน IMF เตือนว่าแนวโน้มดังกล่าวเปลี่ยนไปเป็น ‘มืดมนกว่าเดิม’

 

อย่างไรก็ตาม การที่เศรษฐกิจโลกถดถอยจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ สิ่งที่ธนาคารกลางจะทำอย่างไรต่อไป ผลที่ตามมาของการเปิดประเทศอีกครั้งของจีน และราคาพลังงาน 

 

โดยสำหรับธนาคารกลาง เป้าหมายหลักยังคงอยู่ที่การคุมเข้มอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่ IMF เรียกว่า “เป็นภัยคุกคามต่อความเจริญรุ่งเรืองทั้งในปัจจุบันและอนาคต” และในขณะที่ราคาพลังงานเริ่มลดลงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป เนื่องจากราคาพลังงานลดลง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะป้อนเข้าสู่เศรษฐกิจ ธนาคารกลางได้แสดงอย่างชัดเจนว่าพวกเขาไม่ต้องการหยุดการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ววันนี้ แม้ว่าจะมีสัญญาณว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย สามารถชะลอการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อได้บ้างแล้วก็ตาม 

 

รายงานระบุว่า ขณะนี้ธนาคารกลางกำลังดำเนินการตามการประชุมโดยพิจารณาจากข้อมูลล่าสุด โดยย้ำชัดว่าธนาคารกลางเองก็ไม่รู้ว่าจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงแค่ไหน หรือต้องคงอัตราดอกเบี้ยไว้นานเท่าใด เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับมาใกล้ 2% และคงตัวเลขดังกล่าวให้มีเสถียรภาพ 

 

หากราคายังคงเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ธนาคารกลางต้องการ ธนาคารกลางอาจปรับใช้นโยบายการเงินที่แข็งกร้าวมากกว่าที่วางแผนไว้ ซึ่งจะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจโลก

 

ในส่วนของการเปิดประเทศของจีน หลังจากล็อกดาวน์มานานเกือบ 3 ปี ตามนโยบาย Zero-COVID แม้หลายฝ่ายมองว่าการเปิดประเทศของจีนครั้งนี้ถือเป็นสัญญาณบวกต่อเศรษฐกิจโลกที่จะกระตุ้นให้มีการเติบโต แต่ก็มีความเสี่ยงอย่างมากด้วยเช่นกัน 

 

Bruce Kasman หัวหน้าฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและนโยบายของ JPMorgan Chase กล่าวเมื่อต้นเดือนว่า สภาวะตกต่ำในปัจจุบันของจีนชี้ให้เห็นว่าศักยภาพในการยกระดับมีมากอย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่าความพ่ายแพ้ที่สำคัญมักเกิดขึ้นเมื่อการเปิดทำการก่อนเวลาอันควร และก่อนความพร้อมของระบบการรักษาพยาบาลในการรองรับจำนวนล้นหลาม

 

คลื่นของการติดเชื้อโควิดกำลังแพร่ระบาดในจีน แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลกรุงปักกิ่งกลับกำลังผลักดันแผนการที่จะผ่อนคลายกฎระเบียบของตน ในสัปดาห์นี้ทางการจีนประกาศว่าจะลดข้อกำหนดการกักกันสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศโดยเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการเปิดพรมแดนอีกครั้ง ขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังประกาศข้อจำกัดสำหรับผู้เดินทางจากจีน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ

 

ขณะที่ในส่วนของราคาพลังงาน จุดยืนของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ที่มีต่อสงครามความขัดแย้งในยูเครน ทำให้การคาดการณ์ต่างๆ มีความไม่แน่นอนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศต่างๆ ในยุโรป ซึ่งกำลังถอนตัวออกจากพลังงานของรัสเซีย แต่ยังคงเผชิญกับความขาดแคลน

 

รายงานจากสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) พบว่า ยุโรปอาจประสบปัญหาการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในปี 2023 หากรัสเซียตัดการส่งออกก๊าซทั้งหมดไปยังภูมิภาค และสภาพอากาศที่หนาวเย็นลง

 

ขณะเดียวกัน ก็มีปัจจัยเสริมที่จะกระทบต่อราคาน้ำมันอย่างอุปสงค์พลังงานจากจีน อาจพุ่งสูงขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น โดย Diane Swonk หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ KPMG ระบุว่า ราคาน้ำมันกับจีนมีความเกี่ยวพันกันอยู่ เพราะสาเหตุที่ราคาพลังงานลดต่ำลง เป็นเพราะอุปสงค์จากจีนที่อ่อนแอผิดปกติ

 

ทั้งนี้ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ระบุว่า การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจรอบล่าสุดอาจต้องมีการแก้ไข หากการขาดแคลนพลังงานทำให้ราคาสูงขึ้น หรือหากรัฐบาลในยุโรปจำเป็นต้องบังคับใช้การปันส่วน เพื่อลดความต้องการใช้ก๊าซและไฟฟ้าในฤดูหนาวนี้และปีหน้า

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ ช่วงเวลาอีก 12 เดือนข้างหน้า น่าจะเป็นอีกช่วงเวลาที่ยากลำบากของเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอนไม่ต้องสงสัย 

 

Guillaume Menuet หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและเศรษฐกิจของ Citi Private Bank ในยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกากล่าวว่า ปี 2023 ยังคงเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความท้าทายต่างๆ มากมาย พร้อมคาดการณ์ว่าโลกจะประสบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าที่สุดในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากปี 2020 และวิกฤตการเงินในปี 2007-2008

 

แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจะหลีกเลี่ยงได้ และอีกหลายประเทศยังคงสามารถทนต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่มาพร้อมกับการว่างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างเจ็บปวดได้ แต่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนหนึ่งกล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าก็คือ การที่ไม่รู้ว่า ภาวะถดถอยดังกล่าวจะรุนแรงมากแค่ไหน และจะคงอยู่ยาวนานเพียงใด

 

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุในรายงานช่วงเดือนตุลาคมว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังมาไม่ถึง และปี 2023 สำหรับหลายๆ คน จะรู้สึกเหมือนเศรษฐกิจถดถอย และตั้งข้อสังเกตว่าการชะลอตัว “จะเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง” และอาจ “เปิดบาดแผลทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งเพิ่งจะได้รับการเยียวยาเพียงบางส่วนหลังการแพร่ระบาดของโควิด”

 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X