×

ก้าวครั้งใหญ่ของ LINE TV ผู้ฆ่าหรือกอบกู้ทีวีไทย?

22.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

10 Mins read
  • ในงานแถลงข่าว LINE TV Nexplosion 2018 เปิดเผยกลยุทธ์ในการทำธุรกิจของ LINE TV ประจำปี 2561 เผยว่าพวกเขาจะให้ความสำคัญกับการผลิตคอนเทนต์ใน 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ คอนเทนต์แบบรีรัน, ออริจินัลคอนเทนต์ และคอนเทนต์ประเภทดนตรี ภายใต้ความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ผู้ผลิตคอนเทนต์จำนวน 161 ราย
  • เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2558 แต่ความร่วมมือกับ นาดาว บางกอก ผลิตคอนเทนต์เอ็กซ์คลูซีฟเรื่อง I Hate You, I Love You ที่ออกอากาศเมื่อปลายปี 2559 ถึงช่วงต้นปี 2560 คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ LINE TV ได้รับความไว้วางใจจากพาร์ตเนอร์สื่อเจ้าอื่นๆ และนำไปสู่ความร่วมมือกับช่อง ONE 31 ในการรีรันคอนเทนต์ร่วมกัน ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ
  • ผู้สันทัดกรณีและคนในวงการโทรทัศน์มองว่า LINE TV เปรียบเสมือนอีกหนึ่งช่องทางการขยายฐานผู้บริโภคบนโลกออนไลน์ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อแย่งตลาดและฆ่าทีวีแต่อย่างใด

ตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ ปี 2561 ที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะสังเกตเห็นความคึกคักจากฝั่ง LINE TV แพลตฟอร์มรีรันคอนเทนต์ภายใต้การบริหารงานของ LINE แชตแอปพลิเคชันยอดนิยมของคนไทย เริ่มต้นด้วยการเปิดตัวความร่วมมือกับช่อง 3 ตามมาด้วยช่อง ONE 31 และล่าสุดกับงานแถลงข่าว LINE TV Nexplosion 2018 เมื่อวันอังคารที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

ปีนี้ LINE TV เปิดเผยว่ากลยุทธ์การให้บริการจะให้ความสำคัญกับการผลิตคอนเทนต์ใน 3 ส่วนหลักๆ ซึ่งจะช่วยผลักดันสู่การเป็นออนไลน์วิดีโอแพลตฟอร์มเบอร์หนึ่งของประเทศไทยในปี 2561

 

1. คอนเทนต์แบบรีรัน (Rerun Content)

นำคอนเทนต์จากพาร์ตเนอร์สื่อกว่า 161 รายมาออกอากาศซ้ำอีกครั้งบนแพลตฟอร์มของตัวเอง พร้อมคอนเทนต์รีรันแบบเอ็กซ์คลูซีฟจากช่อง GMM 25 และช่อง ONE 31 ที่จะอัปโหลดขึ้นทันทีหลังออกอากาศทางโทรทัศน์ 2 ชั่วโมง ซึ่งในตลอดระยะเวลา 1 เดือนจะรับชมได้เฉพาะบน LINE TV เท่านั้น

พาร์ตเนอร์ช่องดิจิทัลทีวีรายหลัก: ช่อง 3, ช่อง Workpoint 23, ช่อง 8, ช่อง ONE 31 และช่อง GMM 25

พาร์ตเนอร์ผู้ผลิตคอนเทนต์อื่นๆ: จีเอ็มเอ็ม ทีวี, จีดีเอช ห้าห้าเก้า, กันตนา กรุ๊ป, ทีวี ธันเดอร์, นาดาว บางกอก, เจเอสแอล โกลบอล มีเดีย, เซ้นส์ เอนเตอร์เทนเมนท์, บรอดคาซท์ ไทย เทเลวิชั่น ฯลฯ

 

2. ออริจินัลคอนเทนต์ (Original Content) เป็นการจับมือกับพาร์ตเนอร์สื่อร่วมผลิตคอนเทนต์รายการ ซีรีส์ หรือละคร และจะมีให้รับชมเฉพาะบนช่องทาง LINE TV อย่างเดียว โดยปีที่ผ่านมา ออริจินัลคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดบนแพลตฟอร์มเป็นอันดับ 1 คือ ‘เป็นต่อ Uncensored Pool Party พี่ไม่ลืม’ ด้วยยอดชมกว่า 70 ล้านวิว 

 

3. คอนเทนต์ประเภทดนตรี (Music Experience Content) ในที่นี้นับรวมถึงมิวสิกวิดีโอ, ไลฟ์โชว์, การให้รับชมแบบเอ็กซ์คลูซีฟบนช่องทาง LINE TV, การทำสติกเกอร์ศิลปินร่วมกัน, เบื้องหลังการทำดนตรีและรายการพิเศษของศิลปิน

พาร์ตเนอร์: BEC-Tero Music, GMM Grammy, iAM, True Fantasia, Mono, Muzik Move, PMG, RS, R-Siam, We Records, Boxx Music, Spacebar, Smallroom, SpicyDisc และ What The Duck

 

จากการเปิดเผยของ อริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย พบว่าจุดแข็งหลักๆ ของ LINE TV ในตอนนี้มีอยู่ด้วยกัน 3 องค์ประกอบคือ การเป็น Exclusive TV Rerun, การผลิตออริจินัลคอนเทนต์ และการได้รับชมแบบฟรีๆ ที่ทำให้บริการของพวกเขาต่างจากผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ

 

“เมื่อ 3 ปีที่แล้ว (2558) ตอนเราเริ่มให้บริการ LINE TV ครั้งแรก คนยังไม่ค่อยรู้จักเรา ไม่รู้จุดยืนของเรา บริการของเรามักจะถูกเปรียบเทียบกับแพลตฟอร์มอื่นๆ แต่ ณ วันนี้เรามีจุดแข็งและความแตกต่างที่ชัดเจน อย่างแรกคือทีวีรีรันที่พาเรามาถึงวันนี้ ประการถัดมาคือเราเป็นผู้ให้บริการรายแรกที่เริ่มลงทุนผลิต ‘ออริจินัลคอนเทนต์’ อย่างจริงจังเพื่อรับชมเฉพาะบนช่องทางของเรา ซึ่งทั้งหมดนี้คือคอนเทนต์คุณภาพที่เรานำเสนอให้ผู้บริโภคได้ชมแบบฟรีๆ”

 

ขณะที่จากการเปิดเผยของ Nielsen พบว่า LINE TV คือแพลตฟอร์มรีรันคอนเทนต์ยอดนิยมอันดับหนึ่งของคนไทยประจำปี 2560 มีชั่วโมงการใช้งานเฉลี่ยของผู้ชมอยู่ที่ 176 นาทีต่อวัน ด้าน LINE ประเทศไทย เผยว่าฐานคนดูหลักจะอยู่ในช่วงวัย 15-40 ปี แบ่งเป็นผู้ชาย 54% และผู้หญิง 46% โดยผู้ใช้ส่วนใหญ่กว่า 80% อาศัยอยู่ในหัวเมืองและกรุงเทพฯ

 

นอกจากนี้ยังพบอีกด้วยว่าจากผู้ใช้แอปพลิเคชัน LINE กว่า 41 ล้านคนในประเทศไทย ในจำนวนนี้มีผู้ใช้มากกว่า 20 ล้านรายที่ใช้ LINE TV หรือเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนกว่า 50% โดยแนวทางหลังจากนี้ของการมีพาร์ตเนอร์ร่วมผลิตคอนเทนต์กว่า 161 รายคือการขยายฐานกลุ่มผู้ชมให้ได้มากที่สุด และสร้างคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟระดับแม่เหล็กขึ้นมา (อ่านรายละเอียดของคอนเทนต์บน LINE TV 2018 แบบคร่าวๆ ได้ที่นี่)

 

Photo: GDH 559

 

LINE TV ทำอย่างไรให้บูมภายใน 3 ปี

นับตั้งแต่เปิดให้บริการครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อประมาณปี 2558 หรือราว 3 ปีที่ผ่านมา ขวบปี 2560 ที่เพิ่งม้วนม่านปิดไปไม่นานมานี้น่าจะเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดที่เห็นได้ชัดที่สุดของ LINE TV

 

ย้อนกลับไปในช่วงแรกๆ ของการให้บริการ ภาพลักษณ์ที่เด่นชัดที่สุดของ LINE TV คือการเป็นฟรีเซอร์วิส (Free Service) โดยดึงคอนเทนต์จากพาร์ตเนอร์ฝั่งเกาหลีอย่าง SurpLINEs ที่มีคอนเทนต์อย่างรายการ Exo’s Special Camping และซีรีส์ One Sunny Day มาฉาย พร้อมเปิดให้รับชมแบบฟรีๆ (ภายใต้เงื่อนไขที่คุณต้องมีแอปพลิเคชัน LINE Messenger เสียก่อน) รวมถึงการรีรันซีรีส์สยองขวัญเรื่อง เพื่อนเฮี้ยน..โรงเรียนหลอน ผลงานจาก GTH (ปัจจุบันคือ GDH 559) และการออกอากาศซีรีส์แบบเอ็กซ์คลูซีฟเรื่อง Stay ซากะ..ฉันจะคิดถึงเธอ

 

Photo: GDH 559

 

แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ LINE TV เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นคือการที่พวกเขาสามารถดึงผู้ผลิตคอนเทนต์ระดับแม่เหล็กอย่าง ‘นาดาว บางกอก’ มาร่วมสร้างซีรีส์ I Hate You, I Love You หรือในชื่อไทยที่ใครหลายคนเรียกจนติดปากว่า ‘ใครฆ่านานะ’ มาออกอากาศแบบเอ็กซ์คลูซีฟเฉพาะแพลตฟอร์มของตัวเองในช่วงปลายปี 2559 ถึงต้นปี 2560

 

ด้วยกระแสฮิตต่างๆ ของตัวนักแสดง สไตล์การเล่าเรื่องที่แปลกใหม่ ปมปริศนาชวนติดตาม รวมไปถึงมีมท่าหยุดรอลิฟต์ของ ฝน-ศนันธฉัตร ธนพัฒน์พิศาล ที่กลายเป็นกระแสสุดๆ บนโลกออนไลน์ ทุกอย่างล้วนแล้วแต่ส่งให้ I Hate You, I Love You กลายเป็นซีรีส์และคอนเทนต์ลำดับต้นๆ ของ LINE TV ที่สามารถทำสถิติมียอดผู้ชมแบบเรียลไทม์มากกว่าหลักล้านคนในช่วงเวลาที่ออกอากาศ!

 

ที่สำคัญ ซีรีส์เรื่องนี้ยังเป็นผลงานเรื่องแรกของ LINE TV และคอนเทนต์แรกจาก OTT Platform ในเอเชียที่เพิ่งจะได้รับรางวัล Highly Commended เมื่อสิ้นปี 2560 ที่ผ่านมา หลังเข้าชิงรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมและบทซีรีส์ยอดเยี่ยมจากเวที ATA หรือ Asian Television Awards ครั้งที่ 22

 

จากความสำเร็จของ I Hate You, I Love You รวมกับฐานคนดูที่สั่งสมมาตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ได้กลายเป็นใบเบิกทางให้ผู้ผลิตคอนเทนต์เจ้าอื่นๆ เริ่มเห็นศักยภาพของพวกเขามากขึ้น และเข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์กับ LINE TV เพื่อผลิตออริจินัลคอนเทนต์และรีรันคอนเทนต์ตามลำดับ

 

ปี 2560 ที่ผ่านมา การมีพาร์ตเนอร์คนสำคัญอย่างช่อง ONE 31 ก็เป็นหนึ่งในสารกระตุ้นชั้นดีที่ทำให้แพลตฟอร์มของ LINE TV เริ่มกระจายความนิยมในวงกว้าง จากการได้รีรันคอนเทนต์อย่าง เป็นต่อ (580 ล้านวิว), ล่า (185 ล้านวิว) และ ชายไม่จริง หญิงแท้ (140 ล้านวิว) และฉายคอนเทนต์ออริจินัล เป็นต่อ Uncensored Pool Party พี่ไม่ลืม ที่ผลิตร่วมกัน

 

ความสำเร็จที่กล่าวมาเบื้องต้นล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญที่ช่วยดันให้บริการ LINE TV บูมและอยู่ในทิศทางของการเติบโตที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ภายในระยะเวลา 3 ปี โดยเฉพาะปีที่ผ่านมา ซึ่งทาง อริยะ พนมยงค์ เผยว่าพวกเขาเพิ่งจะมีรายได้และมีอัตราการเติบโตจากยอดรายได้โฆษณากว่า 100% เป็นครั้งแรก

 

กวิน ตั้งอุทัยศักดิ์ กรรมการบริหารสายงานธุรกิจคอนเทนต์ LINE ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงการเติบโตของ LINE TV ว่าปัจจุบันแพลตฟอร์มนี้ถือเป็นสัดส่วนที่สำคัญมากๆ ของบริษัท ทั้งยังเคยกล่าวอยู่บ่อยๆ ว่า LINE TV คือหนึ่งในบริการ ‘พระเอก’ ของ LINE

 

กวินบอกว่า “เราน่าจะเป็นผู้ให้บริการออนไลน์วิดีโอเจ้าเดียวที่คัดสรรคอนเทนต์ขึ้นมาโดยเน้นด้าน Advertising Base Video on Demand เป็นหลัก (หารายได้จากการลงโฆษณา) ซึ่งเจ้าอื่นๆ ในตลาดนี้ก็ยังไม่มีใครที่ทำแบบเรา เจ้าอื่นๆ ที่เป็น Curated Platform เหมือนกันเขาก็จะเน้นรูปแบบของการเป็น Subscribtion Base (คิดค่าบริการจากการสมัครใช้บริการวิดีโอสตรีมมิง)

 

“ในขณะเดียวกัน เราไม่ปิดกั้นโอกาสที่ LINE TV จะเปลี่ยนตัวเองไปเป็น Subscribtion Base แต่ตอนนี้เรายังเห็นภาพตัวเองเป็นแพลตฟอร์มผู้นำการให้บริการแบบฟรีในประเทศไทยอยู่ เพราะการจะไปเก็บเงินผู้ใช้บริการ 20 กว่าล้านคนในไทยอาจจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจากกำลังในการซื้ออาจจะไม่ได้เยอะ ความต้องการของเราคือการเผยแพร่คอนเทนต์ให้กว้างที่สุดโดยใช้โมเดลหาเงินจากค่าโฆษณาเป็นหลัก เพื่อเปิดโอกาสให้คนได้เข้ามาชมเยอะขึ้น”

 

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของการที่ LINE TV จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนบทบาทเป็นสตูดิโอผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเองคล้ายๆ กับกรณีที่ Netflix ทำกับออริจินัลคอนเทนต์ซีรีส์และภาพยนตร์ กวินมองว่าแนวทางของ LINE TV อาจจะยังไม่ได้ดำเนินไปทางนั้น

 

“ในวิสัยทัศน์ของเรา ตอนนี้ก็คิดว่ายังไม่จำเป็นต้องไปผลิตคอนเทนต์ด้วยตัวเองขึ้นมา เพราะเราเองก็มีพาร์ตเนอร์ดีๆ ที่แข็งแรงหลายเจ้า ซึ่งมีศักยภาพที่จะมาร่วมมือกับเราในการจับตลาดนี้ อย่างออริจินัลคอนเทนต์ในปีนี้ เราก็เล็งจะเพิ่มเงินลงทุนในการผลิตไปด้วย”

 

 

LINE TV ไม่ได้เกิดมาฆ่าทีวี แต่เป็น ‘อีกหนึ่งเครื่องมือ-ช่องทาง’ เผยแพร่คอนเทนต์

ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ช่อง ONE 31 เคยกล่าวเอาไว้ในงานแถลงข่าวความร่วมมือของสถานีกับ LINE TV เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ว่า “ทีวีไม่ตายครับ ตายไม่ได้ ประเด็นก็คือทีวีจะร่วมมือหรือใช้โซเชียลมีเดียอย่างไรให้ทั้งสองแพลตฟอร์มเติบโตไปด้วยกัน ซึ่งมันก็เป็นที่มาของความร่วมมือในวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่อง ONE 31 เติบโตมาได้ถึงวันนี้ก็เพราะมีพาร์ตเนอร์ที่ดี ซึ่ง LINE TV ก็ถือเป็นพาร์ตเนอร์ที่ประสบความสำเร็จมากๆ ของเรา”    

 

จากปรากฏการณ์ที่สถานีช่องโทรทัศน์ยักษ์ใหญ่หลายๆ แห่งในปัจจุบันเริ่มวิ่งเข้ามาหา LINE TV เพื่อผูกมิตรเป็นพาร์ตเนอร์ร่วมรีรันและผลิตคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าทีวีและออนไลน์อาจจะไม่ได้เกิดมาเพื่อแย่งตลาดหรือฆ่ากันเอง

 

ถกลเกียรติเคยแสดงความคิดเห็นว่า LINE TV คือหนึ่งในอีกช่องทางที่จะช่วยเผยแพร่คอนเทนต์ให้เข้าไปถึงคนดูในวงกว้าง ช่วยขยายฐานคนดูให้หลากหลายมากขึ้น และจะช่วยสร้างการรับรู้ในการกลับมารับชมคอนเทนต์ในช่องโทรทัศน์ได้อีกด้วย ซึ่งเจ้าตัวได้ยกซีรีส์เรื่อง ล่า มาเป็นกรณีศึกษา โดยพบว่าช่วงสัปดาห์ที่ 2-3 ของการออกอากาศ ยอดผู้ชมทาง LINE TV มีมากกว่ายอดผู้ชมทางโทรทัศน์อย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่ 4 เรตติ้งการรับชมทางโทรทัศน์ก็เริ่มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนแซงหน้ายอดผู้ชมบน LINE TV ได้ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 5-8 ของการออกอากาศ

 

 

ต่อประเด็นนี้ อริยะมองว่าสิ่งที่น่าสนใจคือการที่ช่องทีวีและพาร์ตเนอร์เริ่มออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า LINE TV ไม่ได้เข้ามา Cannibalize หรือกินตลาดกันเองกับแพลตฟอร์มทีวีเหมือนที่หลายๆ คนเคยกังวล แต่จริงๆ แล้วทีวีกับช่องทางออนไลน์สามารถเติบโตไปด้วยกันได้

 

ฝั่งกวินบอกว่า “มันเริ่มต้นด้วยการที่ช่องทีวีไม่กี่เจ้าเริ่มกล้ามาลองกับเรา กับพาร์ตเนอร์ช่องโทรทัศน์ส่วนใหญ่ที่เราได้ร่วมงานกันมาปีเศษๆ ก็ได้เห็นว่าการมาร่วมมือกับเราในฐานะเอ็กซ์คลูซีฟรีรันเป็นวิธีที่ดีที่จะช่วยเผยแพร่คอนเทนต์ของเขาบนฐานลูกค้าออนไลน์ และเห็นด้วยว่าเป็นการช่วยดึงเรตติ้งบนช่องทีวีแบบออฟไลน์ให้สูงขึ้น”

 

ขณะที่มุมมองจากฝั่งเอเจนซีโฆษณาโดย สโรจ เลาหศิริ จากเพจสโรจขบคิดการตลาด เชื่อว่า LINE TV เปรียบเสมือนอีกหนึ่งช่องทางออนไลน์ของสื่อโทรทัศน์ โดยประโยชน์คือการที่พวกเขาไม่ต้องไปลงทุนสร้างแพลตฟอร์มหรือบิลด์ฐานคนดูขึ้นมาจากศูนย์

 

“สถานการณ์นี้ก็เปรียบเสมือนช่องโทรทัศน์เป็นผู้ผลิตคอนเทนต์แล้วต้องการกระจายคอนเทนต์ตัวเองเพิ่ม ยกตัวอย่างช่อง 3 ที่ผมเชื่อว่าเขาคงมองแล้วว่าการทำแพลตฟอร์มของตัวเองเป็นสตรีมมิงหรือรีรันคอนเทนต์อาจจะต้องลงทุนและสร้างฐานคนดูเยอะ ดังนั้นการจับมือกับ LINE TV ก็คือการขยายช่องทางการรับชมคอนเทนต์ ขณะเดียวกัน LINE TV ก็คือความพยายามของ LINE ที่จะขยายตัวเองไปทำธุรกิจใหม่ๆ เพราะปกติเขาก็มีผู้ใช้ค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว การแตกไลน์ไปทำ LINE TV ก็คือการต่อยอดไปยังธุรกิจอื่นๆ เพื่อเติมเต็ม Eco System ให้กับแพลตฟอร์มของเขา”

 

แม้ฝั่งผู้บริหารจาก LINE จะบอกว่าพวกเขาไม่ได้มีคู่แข่งที่ชัดเจนในตลาดนี้ แต่สโรจก็เชื่อว่าคู่แข่งโดยตรงของ LINE TV ย่อมหนีไม่พ้น Youtube พร้อมย้ำอีกด้วยว่าผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ในปัจจุบันต่างก็มีความพยายามอย่างหนักที่จะดึงคนมาใช้เวลาบนบริการต่างๆ ในเครือของพวกเขาให้นานขึ้น

 

 

แบรนด์และเอเจนซีต้องระวังและใช้เวลาทำความเข้าใจลูกค้ามากขึ้นก่อนจ่ายเงิน

สำหรับโมเดลทางธุรกิจในการหาเงินของ LINE TV จะเน้นการทำรายได้จากช่องทางโฆษณา หรือ Advertising Base Video on Demand เป็นหลัก ซึ่งการแชร์รายได้กับฝั่งพาร์ตเนอร์ก็จะมีแนวทางที่หลากหลายตามข้อตกลงของผู้ผลิตคอนเทนต์แต่ละรายอีกด้วย

 

ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น ช่อง 3 ที่เคยบอกเอาไว้ว่าจะแบ่งรายได้จากค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์ม LINE TV กับทาง LINE ส่วนช่อง ONE 31 บอกว่ารายได้ค่าโฆษณาจาก LINE TV จะเข้ากระเป๋า LINE โดยตรง

 

กวินอธิบายในหัวข้อนี้ไว้ว่า “โมเดลทางธุรกิจของเราค่อนข้างมีความหลากหลาย อย่างในพาร์ตเนอร์เจ้าเดียวก็จะมีโมเดลหลายๆ แบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในคอนเทนต์ของเขา,​ แบ่งปันรายได้ร่วมกัน (Revenue Share) หรือการซื้อขาด ตัวอย่างที่เราทำออริจินัลคอนเทนต์กับช่อง ONE 31 เราก็อาจจะคุยเรื่องโมเดลรายรับเป็นการซื้อขาด หรือ Co-partnership ด้านการลงทุน ต้องบอกว่าโมเดลในการจัดสรรรายได้กับพาร์ตเนอร์ของเราค่อนข้างมีความหลากหลายพอสมควร”

 

มุมมองจากเอเจนซีโฆษณา โดยสโรจมองว่าความร่วมมือระหว่างช่องทีวีและ LINE TV ในครั้งนี้จะส่งผลให้แบรนด์และเอเจนซีผู้ซื้อโฆษณาต้องทำการบ้านให้หนักขึ้นกว่าเดิม

 

“การลงทุนในโฆษณาทุกวันนี้มันค่อนข้างแพงขึ้นอยู่แล้ว ปัจจุบันการเข้าถึงคนยากขึ้นกว่าเดิมเยอะมาก ดังนั้นการเพิ่มเข้ามาของ LINE TV ฝั่งแบรนด์หรือเอเจนซีก็ต้องอาศัยความละเอียดในการเลือกช่องทางมากขึ้นอีกนิดหนึ่ง จากเมื่อก่อนประมาณ 10 ปีที่แล้ว ซึ่งเรายังไม่มี Facebook Ads, Instagram Ads, Youtube Ads หรือแพลตฟอร์ม LINE TV เยอะแยะมากมายขนาดนี้ มันก็มีช่องทางให้ลงโฆษณาไม่กี่ช่องทาง

 

“เมื่อช่องทางมันเพิ่มขึ้นมา แบรนด์และเอเจนซีก็ต้องคิดว่ากลุ่มคนดูและผู้ใช้ของแต่ละแพลตฟอร์มรวมถึง LINE TV เป็นใคร กลุ่มไหน อายุเท่าไร พฤติกรรมการรับชมคอนเทนต์เป็นแบบการชมสดหรือดูย้อนหลัง หรือนิยมคอนเทนต์แบบเอ็กซ์คลูซีฟ ดังนั้นแบรนด์และเอเจนซีจะต้องละเอียด ใส่ใจ และทำงานหนักมากขึ้นในแง่การทำความเข้าใจผู้ชมแต่ละช่องทางให้มากขึ้นเช่นเดียวกับ LINE TV”

 

นอกจากนี้สโรจยังบอกอีกด้วยว่า LINE TV จะบูมและเปรี้ยงกว่านี้ได้อีกก็ต่อเมื่อบริการของพวกเขามีคอนเทนต์เรือธงแบบออริจินัลเป็นของตัวเอง ซึ่งจะช่วยดึงกลุ่มคนดูให้มาติดงอมแงม คล้ายๆ กับเกมโชว์หน้ากากนักร้องของช่อง Workpoint 23

 

“สุดท้ายผมมองว่ามันขึ้นอยู่กับคอนเทนต์ที่เขาเลือกมาลงมากกว่า ตอนนี้ LINE TV อาจจะต้องรอ Shipping Point หรือคอนเทนต์ระดับดังพลุแตกในแพลตฟอร์มของตัวเอง ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนการที่เวิร์คพอยท์ได้แรงดันจาก The Mask Singer, Let Me In หรือ I Can See Your Voice เมื่อมีคอนเทนต์ดังพลุแตก เขาก็มีฐานแฟนขนาดใหญ่ขึ้นมา LINE TV ในตอนนี้ก็ต้องการคอนเทนต์แบบนั้นที่จะสามารถดังเป็นกระแสในโซเชียลแล้วดึงคนเข้ามาใช้งานมากขึ้น”

 

ท้ายที่สุดแล้ว แม้จะเพิ่มฐานความนิยมจนมียอดผู้ใช้บริการทะลุกว่า 20 ล้านราย และกลายเป็นแพลตฟอร์มรีรันคอนเทนต์เบอร์หนึ่งในไทยจากการจัดอันดับโดย Nielsen ในปี 2560 แต่หมุดหมายสำคัญที่จะชี้วัดว่าพวกเขาประสบความสำเร็จหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับผลงานและผลประกอบการหลังการเข้ามาทำตลาดในอุตสาหกรรมต่อจากนี้มากกว่า เพราะอย่าลืมว่า LINE TV ยังต้องแบกรับความหวังจากพาร์ตเนอร์ด้านคอนเทนต์อีกกว่า 161 ราย ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นสูงเรื่อยๆ ในอนาคต

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X