สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมมือ 6 หน่วยงาน ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาทบทวนแก้ไข พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่ใช้มาแล้ว 5 ปี หลังพบว่ามีปัญหาและอาจมีข้อบกพร่อง ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยมีแนวคิดจะแยกประเภท Digital Asset ในแต่ละประเภทออกไปให้หน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทสำคัญ ซึ่งมีอำนาจกฎหมายเดิมมาบังคับใช้ได้
ศักรินทร์ ร่วมรังษี รองเลขาธิการ ดูแลสายบังคับใช้กฎหมายและสายกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ล่าสุดสำนักงาน ก.ล.ต. ได้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาใหม่เพื่อศึกษาพิจารณาทบทวนแก้ไข พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่เริ่มมีผลประกาศใช้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน โดยตัวคณะทำงานชุดนี้จะมีตัวแทนจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำงาน ทั้งกระทรวงการคลัง, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ก.ล.ต. เล็งกำหนดมูลค่าการซื้อคริปโตขั้นต่ำที่ 5,000 บาท พร้อมมองว่าเหรียญส่วนใหญ่ไร้ปัจจัยพื้นฐานรองรับ
- ‘Zipmex’ ปิดดีลระดมทุน ได้ VC ในเครือ TTA ใส่เงินขึ้นแท่นหุ้นใหญ่
- ผู้บริหาร Bitkub Blockchain แจงชัด ไม่รู้เรื่องดีล SCB พร้อมยืนยันความบริสุทธิ์ใจซื้อเหรียญ KUB ย้ำถือลงทุนยาว
ทั้งนี้ คณะทำงานชุดนี้จะดูใน 2 เรื่องหลักคือ 1. จัดการแก้ไขปรับ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และ 2. พิจารณาดูกฎหมายในเรื่องเทคโนโลยีจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed Ledger Technology: DLT) ว่าจำเป็นจะต้องออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในเรื่องใดออกมาบ้าง
โดยคาดว่าการทำงานของคณะทำงานชุดนี้จะสามารถสรุปผลว่าด้วยหลักการสำคัญของแก้ไข พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ออกมาได้ในช่วงไตรมาส 1/66
ศักรินทร์กล่าวว่า การแก้กฎหมาย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ในช่วงนี้ถือเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสม หลังจากกฎหมายฉบับดังกล่าวได้บังคับใช้มาเป็นระยะเวลา 5 ปีแล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีหลายเหตุการณ์และหลายปัญหาเกิดขึ้น อีกทั้งอาจมีข้อบกพร่องและอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมถึงปัจจุบันมีบัญชีผู้ลงทุนซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิ่มเป็นประมาณ 3 ล้านบัญชี จากช่วงเริ่มต้นที่มีหลักแสนบัญชี รวมถึงเจอปัญหาที่คาดไม่ถึงจากผลกระทบเกี่ยวกับ Decentralized Finance (DeFi) ที่ไม่มีหน่วยงานเข้ามากำกับดูแล
“การแก้ไข พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ครั้งนี้ จะมีการเปรียบเทียบข้อมูลกับต่างประเทศทั้งสหรัฐฯ, ยุโรป, ฮ่องกง, สิงคโปร์ และดูไบ ว่ามีแนวทางการกำกับดูแลเรื่องนี้อย่างไร แต่เท่าที่ศึกษาเบื้องต้น ส่วนใหญ่ไม่ได้มีกฎหมายเฉพาะเหมือนไทย แต่จะใช้กฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้วซึ่งมีความเกี่ยวข้องมาใช้กำกับดูแล ซึ่งหลังผลการศึกษาออกมาก็อาจเป็นไปได้ว่าอาจยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ แล้วใช้กฎหมายเดิมที่มีและเกี่ยวข้องมาดูแล หรืออาจจะยังคงบางส่วนของ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ที่มีความจำเป็นเอาไว้ ขึ้นอยู่กับผลสรุปของคณะทำงาน”
สำหรับในการพิจารณาการแก้ไข พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ในครั้งนี้ คณะทำงานมีแนวคิดจะแยกสินทรัพย์ 3 ประเภท ได้แก่ 1. Cryptocurrency 2. Digital Token 3. Investment Token ซึ่งปัจจุบันทั้งหมดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายฉบับนี้ โดยมีแนวคิดจะแยกอำนาจการกำกับดูแลตามประเภท หน้าที่ หรือรูปแบบของการใช้งานของสินทรัพย์ดิจิทัล
สำหรับกรณี Cryptocurrency ซึ่งถูกนำมาใช้งานแทนเงินตราเพื่อการชำระหนี้ค่าสินค้าและบริการหรือในลักษณะอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นจึงอาจย้ายให้เข้าไปอยู่ภายใต้กฎหมายและการกำกับดูแลที่เกี่ยวกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ส่วน Digital Token เป็นสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับการลงทุนซื้อโทเคนเพื่อสิทธิให้ได้สินค้าและบริการ ซึ่งจะกำหนดเงื่อนไขที่แตกต่างตามวัตถุประสงค์ของผู้ออกโทเคน ตัวอย่างเช่น JFIN Coin คือ Digital Token ของ บมจ.เจ มาร์ท (JMART) เพื่อใช้แลกสินค้าและบริการต่างๆ ในกลุ่ม ซึ่งในช่วงหลังมีการออกโทเคนกันเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ Digital Token อาจจะไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
ขณะที่ Investment Token เป็นสินทรัพย์ที่มีส่วนผสมระหว่างหนี้กับทุน โดยผู้ลงทุนจะมีฐานะเป็นผู้แปลงสิทธิเป็นหุ้นหรือหุ้นกู้ได้ เช่น ออกขายเหรียญ SiriHub Token เพื่อระดมเงินทุนไปใช้ลงทุนในโครงการ สิริ แคมปัส ซึ่งจะได้รับรายได้กลับมาเป็นค่าเช่านำมาแบ่งจ่ายให้ผลตอบแทนกับผู้ถือเหรียญ คล้ายกับผู้ถือหุ้นกู้หรือกองรีท ซึ่งในส่วนนี้อาจยังคงอยู่ภายใต้การกำกับของกฎหมายหลักทรัพย์ฯ
“เมื่อ 5 ปีที่แล้ว ช่วงที่ออก พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัลฯ ตอนนั้นมีความจำเป็นเร่งด่วนในการนำมาบังคับใช้ดูแลความร้อนแรงของสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นสินทรัพย์ลงทุนใหม่ จึงมีผู้ไม่หวังดีมาใช้เป็นช่องในการหลอกลวงฉ้อโกง หรือใช้ในการสนับสนุนธุรกิจที่ทำผิดกฎหมาย รวมถึงใช้ฟอกเงินหรือแชร์ลูกโซ่ ดังนั้นจึงได้ตัดสินใจออกมาเป็นกฎหมาย พ.ร.ก. เพื่อให้มีผลใช้ได้เร็ว” ศักรินทร์กล่าว