บริษัทผู้ผลิตอาหารอย่าง Heinz และซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Waitrose เป็นหนึ่งในหลายร้อยแบรนด์ที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ราชวงศ์อังกฤษยังใช้ผลิตภัณฑ์ของพวกเขาอยู่ เพื่อใช้ Royal Warrant หรือตราประทับรับรอง เพื่อยืนยันว่าสินค้าเป็นของดีที่ราชวงศ์คัดเลือกแล้ว
จากข้อมูลของ The Royal Warrant Holders Association ตอนนี้มีตรารับรองพระราชทานอยู่ประมาณ 850 รายการ ที่ถือโดยบริษัทหรือบุคคลประมาณ 750 แห่ง และมากกว่า 600 ใบนั้นได้รับพระราชทานโดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบทที่ 2 ซึ่งตอนนี้กลายเป็นโมฆะแล้ว หลังพระองค์เสด็จสวรรคตในเดือนกันยายนที่ผ่านมา
ทั้งนี้ แบรนด์ต่างๆ สามารถใช้ Royal Warrant ต่อไปได้นานสุด 2 ปีหาก ‘บริษัทไม่มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่น่ากังวล’ เว็บไซต์ของสมาคมระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- รวยกว่ากษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3! ‘ริชี ซูนัค’ นายกรัฐมนตรีใหม่ของอังกฤษมีความมั่งคั่ง 3.2 หมื่นล้านบาท ที่มาพร้อมคำถาม การเป็นมหาเศรษฐีจะเข้าใจวิกฤตค่าครองชีพหรือไม่?
- CNN Business รายงาน เจ้าชายวิลเลียม เพิ่งได้รับมรดกอายุ 685 ปี ที่มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านปอนด์ หรือราว 4.2 หมื่นล้านบาท
- เงินปอนด์อ่อนค่า หลังข่าวสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธสวรรคต ด้านแบงก์ชาติอังกฤษยันธนบัตรควีนยังใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
โฆษกของ Waitrose กล่าวกับ Insider ว่า บริษัท “จะติดต่อประสานงานกับสำนักพระราชวังเกี่ยวกับการเตรียมการในอนาคต เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม”
และในฐานะกษัตริย์องค์ใหม่ที่ขึ้นครองราชย์ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 จะมีอำนาจในการตรวจสอบ และออกตรารับรองพระราชทานต่อไปในอนาคต
แบรนด์สามารถใช้ Royal Warrant ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้ หากมี Royal Warrant of Appointment ซึ่งเป็นเอกสารที่อนุญาตให้แบรนด์ใช้ตราแผ่นดินได้ หากพวกเขาจัดหาสินค้าหรือบริการให้กับราชวงศ์
จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของสมาคม เพื่อให้มีคุณสมบัติในการยื่นขอตรารับรองพระราชทาน บริษัท และธุรกิจต่างๆ จะต้องจัดหา ‘ผลิตภัณฑ์หรือบริการอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องให้กับครอบครัวราชวงศ์ หรือที่เรียกว่า Grantors เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีนับจาก 7 ปีล่าสุด’
แบรนด์ที่ยื่นขอตรารับรองจำต้องมีนโยบาย และแผนปฏิบัติการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
ตรารับรองมีอายุไม่เกิน 5 ปี และสามารถขอรับการตรวจสอบเพื่อต่ออายุได้ในปีก่อนหมดอายุ และจากข้อมูลของสมาคม มีการตรารับรองระหว่าง 20-40 ฉบับ และถูกยกเลิกในแต่ละปี
อ้างอิง: