วานนี้ (7 พฤศจิกายน) เชห์บาซ ชารีฟ นายกรัฐมนตรีปากีสถาน กล่าวในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือ COP27 ว่าปากีสถานต้องการความช่วยเหลือด้านการบรรเทาหนี้ รวมถึงหวังที่จะได้รับเงินชดเชยความเสียหายที่เกิดจากภาวะโลกรวน แม้สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่เคยทำให้พื้นที่กว่า 1 ใน 3 ของประเทศจมหายใต้บาดาลเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว แต่ก็ทิ้งความเสียหายไว้ถึง 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ชารีฟกล่าวว่า หนี้สาธารณะที่ทะยานขึ้นนั้นเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของชาติ และ “ประชาชนหลายล้านคนเตรียมก้าวเข้าสู่ฤดูหนาวโดยไม่มีที่พักพิงหรืออุปกรณ์ยังชีพ ขณะผู้หญิงและเด็กพยายามขอความช่วยเหลือจากเราให้ช่วยปกป้องความต้องการขั้นพื้นฐาน”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สำหรับการประชุม COP27 ในปีนี้ ปากีสถานและบรรดาประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเปราะบางต่อสภาพภูมิอากาศ ได้ร่วมกันเรียกร้องให้ที่ประชุมเห็นพ้องจัดตั้งกองทุนเงินชดเชยความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากภาวะโลกรวน (Loss and Damage) เพื่อช่วยประเทศยากจนที่ต้องเผชิญกับภัยพิบัติอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่นักเคลื่อนไหวและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมบางส่วนมองว่า ประเทศร่ำรวยมีหน้าที่จ่ายเงินชดเชยเหล่านี้ เนื่องจากเป็นชาติที่มีอัตราการปล่อยคาร์บอนสูงจนทำให้เกิดโลกร้อนในปัจจุบัน
“เราได้ระดมทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับคนทั้งชาติ แต่ก็ยังไม่พอ” ชารีฟกล่าว โดยเหตุน้ำท่วมใหญ่ได้ทำให้สะพานหลายร้อยแห่งทั่วประเทศพังพินาศ ขณะพื้นที่เกษตรกรรมทางตอนใต้ของปากีสถานก็ได้รับความเสียหายหนัก
ในโอกาสนี้ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) ได้เรียกร้องให้สถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก ตลอดจนผู้นำโลกที่เตรียมเข้าร่วมการประชุมสุดยอด G20 ที่อินโดนีเซีย ให้ปฏิรูปนโยบายที่กำกับดูแลการบรรเทาหนี้ รวมถึงมอบความช่วยเหลือในรูปแบบเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (Concessional Loan) เพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างปากีสถาน ให้มีโอกาสได้นำเงินไปใช้ซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานในประเทศอีกครั้ง แทนที่จะต้องทนทุกข์ว่าต้องเร่งหาเงินไปชำระหนี้
อย่างไรก็ตาม การจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากโลกรวนนั้นยังมีอุปสรรค เพราะตอนนี้นานาประเทศยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ว่าสิ่งใดบ้างที่ควรนับเป็น ‘ความสูญเสียและความเสียหาย’ ที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัติด้านสภาพอากาศ เนื่องจากการกำหนดขอบเขตของความเสียหายนั้นทำได้ยาก รวมถึงยังมีกระแสคัดค้านจากประเทศร่ำรวยบางชาติ เช่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งต้องรอดูกันต่อไปว่าการประชุม COP27 ในปีนี้จะสามารถบรรลุข้อตกลงที่เป็นรูปธรรมได้หรือไม่
ปัจจุบันมีรัฐบาลเพียงไม่กี่ประเทศที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจากสภาพอากาศ ซึ่งได้แก่ เดนมาร์ก สกอตแลนด์ รวมถึงภูมิภาควอลโลเนีย (Wallonia) ของเบลเยียม ซึ่งถึงแม้ยอดเงินจะมีจำนวนไม่มากนัก แต่ก็ถือเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่มีความก้าวหน้ามากขึ้นกว่าที่เคย
ภาพ: Michael M. Santiago / Getty Images
อ้างอิง: