Goldman Sachs หนึ่งในธนาคารเพื่อการลงทุนที่ทรงพลังที่สุดในสหรัฐอเมริกา เผยมุมมองล่าสุดว่ายังคงเชื่อมั่นว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะไม่รุนแรงตามที่บรรดานักลงทุนและผู้นำทางธุรกิจคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า โดยมั่นใจว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ทำให้เศรษฐกิจเกิดการ Soft Landing ได้
สถานีโทรทัศน์ CNN รายงานว่า Goldman Sachs ได้ส่งรายงานโดยตรงถึงลูกค้า ซึ่งเปิดเผยมุมมองของ Goldman Sachs ว่ามีโอกาส 35% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้า แม้ว่าจะเป็น 2 เท่าของความเสี่ยงปกติของภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 63% ในการสำรวจคาดการณ์ล่าสุดโดย The Wall Street Journal
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- รายงานชี้ Fed ขึ้นดอกเบี้ยไม่ช่วยสกัดเงินเฟ้อ ตราบใดที่การใช้จ่ายภาครัฐยังอยู่ในระดับสูง
- วิเคราะห์ 5 สัญญาณ บ่งชี้ เงินเฟ้อ โลกใกล้ถึงจุดพีค
- เศรษฐกิจสหรัฐฯ ‘หดตัว’ สองไตรมาสต่อเนื่อง เข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค ขณะที่ NBER ยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ
Jan Hatzius หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Goldman Sachs ระบุว่า ยังคงมองเห็นความเป็นไปได้ที่จะตัวเลขเงินเฟ้อสูงในปัจจุบันจะปรับสู่เงินเฟ้อต่ำในอนาคตโดยที่ไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือหมายความว่า ภาวะถดถอยไม่ใช่ลูก Slam Dunk ดังนั้น Fed จึงยังสามารถทำให้เกิด Soft Landing ได้
การคาดการณ์ดังกล่าวสวนทางกับรายงานของ Bloomberg Economics ที่เผยแพร่เมื่อปลายเดือนตุลาคม โดยระบุว่าความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 100% ขณะที่แบบจำลองความน่าจะเป็นที่ดำเนินการโดย Ned Davis Research พบโอกาส 98.1% ของภาวะถดถอยทั่วโลก
ทั้งนี้ Goldman Sachs ชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความยั่งยืนในทิศทางบวกมากขึ้น โดยให้เหตุผลว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ “ได้เกิดขึ้นแล้ว” ดังนั้นธนาคารคาดว่า GDP สหรัฐฯ จะเติบโตประมาณ 1% ในปีหน้า
ตัวเลขจ้างงานฟื้น หนุน Soft Landing
ขณะที่อีกหนึ่งตัวเลขที่สนับสนุนแนวคิดของ Goldman Sachs คือ รายงานการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดของสหรัฐฯ ซึ่งทำให้เชื่อมั่นได้มากขึ้นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังฟื้นตัวเป็นไปในทิศทางที่ดี บวกกับแนวโน้มที่ว่าค่าแรงทั้งหลายเริ่มส่งสัญญาณคลายความร้อนแรงลงบ้างแล้ว แม้ว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ก็ตาม
Hatzius กล่าวว่า ความคืบหน้าล่าสุดที่ทำให้ Goldman Sachs เชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ มีโอกาส Soft Landing มากขึ้นก็คือการชะลอตัวของการเติบโตของค่าจ้าง อย่างไรก็ตาม Goldman Sachs ยอมรับว่าเงินเฟ้อสูงยังคงเป็นปัจจัยท้าทายใหญ่ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับเงินเฟ้อถือว่ามีความคืบหน้าที่น้อยมาก แม้เงินเฟ้อส่วนใหญ่จะไม่ได้เพิ่มสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่มีการปรับตัวคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นเช่นกัน
กูรูแนะมองภาพรวมเศรษฐกิจประกอบการลงทุน
CNN รายงานเพิ่มว่า ล่าสุดบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนส่วนหนึ่งได้ออกมาระบุว่า เหล่านักลงทุนในตลาดในเวลานี้ให้ความสนใจกับสิ่งที่ Jerome Powell ประธาน Fed และสมาชิก Fed คนอื่นๆ พูดเกี่ยวกับเศรษฐกิจมากเกินไป จนมองข้ามตัวเลขความเคลื่อนไหวที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจจริงๆ เป็นอย่างไร
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในเวลานี้จะตกอยู่ภายใต้ความผันผวนอย่างหนัก เนื่องจากนักลงทุนไปยึดติดและคาดหวังกับท่าทีของ Fed ต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งในแง่ของขนาดและความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ย
โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว Fed ได้สร้างความตื่นเต้นให้กับนักลงทุนในช่วงสั้นๆ ด้วยการออกแถลงการณ์ระบุว่า Fed จะพิจารณาผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทั้งหมดที่มีต่อเศรษฐกิจ ก่อนที่จะพิจารณาว่าจะทำอะไรต่อไป แต่ประธาน Fed ก็ดับความหวังดังกล่าวด้วยการแสดงท่าทีชัดเจนว่า Fed ยังคงให้ความสำคัญกับการเดินหน้าจัดการเงินเฟ้อให้อยู่หมัด คือต้องดึงเงินเฟ้อในลงมาอยู่ในระดับเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ 2%
อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าการตัดสินใจใดๆ ของ Fed จะต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งหมายความว่า Fed จะกำหนดนโยบายตามประสิทธิภาพของตลาดแรงงาน อัตราเงินเฟ้อ การใช้จ่ายของผู้บริโภค และปัจจัยอื่นๆ
ทั้งนี้ รายงานการจ้างงานล่าสุดที่ออกมา 2 วันหลังจากถ้อยแถลงของ Powell แสดงให้เห็นว่าตลาดแรงงานในสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า Fed จะต้องมีการปรับอัตราคำนวณใหม่ เพื่อกำหนดสัดส่วนที่เหมาะสมในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไป
Mark Hamilton หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของ Hirtle Callaghan กล่าวว่า Fed กำลังเรียนรู้และปรับตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยความที่ Fed ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลมหาศาล ดังนั้นจึงยังไม่รู้ว่าจะต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงแค่ไหน
กระนั้นบรรดานักลงทุน ซึ่งรวมถึงผู้ที่ติดตามข่าวสารในแวดวงการเงินต่างหมกมุ่นอยู่กับการวางเดิมพันว่า Fed จะทำอะไรต่อไป มากกว่าการนำรายงานสถานการณ์ทิศทางแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกจริงๆ มาวิเคราะห์แยกแยะ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่การสำรวจความเห็นเกี่ยวกับโอกาสความเป็นไปได้ที่ Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 14 ธันวาคม จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในแต่ละสัปดาห์
Christopher Smart กล่าวว่า ทุกวันนี้แทบไม่มีวันไหนเลยที่ตลาดจะไม่วิเคราะห์คำพูดจากปากของ Powell หรือปากของสมาชิก Fed คนอื่นๆ ทั้งที่ในเชิงเศรษฐกิจแล้ว ตัวเลขสำคัญกว่าคำพูด เพราะฉะนั้นตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภค ตัวชี้วัดสำหรับอัตราเงินเฟ้อเดือนตุลาคมที่จะออกมาในวันพฤหัสบดีนี้ (10 พฤศจิกายน) จึงเป็นข้อมูลที่น่าจับตาดูมากกว่าสุนทรพจน์ของ Fed และความผันผวนของการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย
Leo Grohowski หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของ BNY Mellon Wealth Management กล่าวว่า บรรดานักลงทุนในตลาดต้องดูข้อมูลเป็นหลัก ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลืมสังเกตว่าผู้กำหนดนโยบายจะตีความและให้น้ำหนักกับข้อมูลนั้นอย่างไร ดังนั้นจนกว่าดัชนีราคาผู้บริโภคจะแสดงให้เห็นแรงกดดันที่คลายตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ Fed ย่อมต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อจัดการกับเงินเฟ้อ
อ้างอิง: