Global Times สื่อท้องถิ่นของทางการจีน รายงานว่าการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติ (COP 27) ในปีนี้ได้เปิดฉากขึ้นแล้วที่อียิปต์เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งจะมุ่งเน้นที่ความมุ่งมั่นของประเทศอุตสาหกรรมร่ำรวยในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน โดยขอให้ประเทศที่ร่ำรวยให้เกียรติคำมั่นในการจัดหาเงินทุนของประเทศกำลังพัฒนาในประเด็นเรื่องสภาพอากาศ
ด้านผู้เชี่ยวชาญของจีนออกโรงเตือนว่าบรรดาประเทศร่ำรวยควรลงมือจริงจังตามที่ได้ให้คำมั่น มิฉะนั้นความพยายามระดับโลกในประเด็นเรื่องสภาพอากาศจะตกอยู่ในอันตรายอย่างใหญ่หลวง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เมื่อ ‘เป้าหมายสีเขียว’ และ ‘เป้ายอดขาย’ ไม่สอดคล้องกัน เปิดช่องโหว่นโยบาย สิ่งแวดล้อม ในอุตสาหกรรมแฟชั่น
- ธปท. เตรียมออก Standard Practice ด้านสิ่งแวดล้อมในไตรมาส 3 พร้อมกำหนดให้แบงก์ส่งแผนและเป้าสีเขียวที่จับต้องได้ต้นปีหน้า
- Brand & Marketing Trend 2022: เปิดเทรนด์ยุคใหม่ของโลกหลังโควิด แบรนด์ถึงเวลาต้องเปลี่ยนครั้งใหญ่
ขณะเดียวกันผู้เชี่ยวชาญยังชี้ว่าความพยายามในความร่วมมือด้านสภาพอากาศระหว่างจีนและสหรัฐฯ ต้องล้มเหลว เนื่องจากรัฐบาลกรุงวอชิงตันเพิกเฉยต่อผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน และมุ่งใช้การแก้ปัญหาด้านสภาพอากาศเป็นอาวุธในการปราบปรามจีน
ด้านบรรดาผู้สังเกตการณ์คาดการณ์ว่าการเจรจาเรื่องสภาพอากาศระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีกครั้งในระหว่างการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เว้นแต่ว่าสหรัฐฯ จะจัดการกับมาตรการที่ได้ทำไว้ก่อนหน้านี้กับจีนอย่างเหมาะสม
รายงานระบุอีกว่า สหรัฐฯ ยังเป็นพันธมิตรที่ไม่น่าเชื่อถือในการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศโลก เนื่องจากมีแนวโน้มว่าสหรัฐฯ จะยกเลิกคำมั่นสัญญาเกี่ยวกับสภาพอากาศ หากพรรครีพับลิกันได้รับชัยชนะในสภาหลังการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้
สำหรับการประชุมสุดยอดภาคีครั้งที่ 27 หรือ Conference of the Parties (COP27) เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มขึ้นที่เมืองตากอากาศในทะเลแดงของชาร์มเอลชีค ประเทศอียิปต์ ซึ่งการประชุมสุดยอดปีนี้มีขึ้นภายใต้สโลแกน Together for Implementation นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่นักวิทยาศาสตร์มองว่าเป็นโอกาสในการก้าวไปสู่ความมุ่งมั่นที่จะจำกัดภาวะโลกร้อนให้จงได้
นอกจากการหารือเรื่องความร่วมมือเพื่อภาวะโลกร้อนแล้ว ทางที่ประชุมยังมีการหารือว่าประเทศร่ำรวยควรชดเชยประเทศยากจนที่เสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดด้วยหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการจัดหาเงินทุนที่ตอบสนองต่อการสูญเสียและความเสียหายที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการมุ่งเน้นในการจัดการกับความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ รายการ ‘ที่ต้องทำ’ อันดับต้นๆ ของการประชุมในครั้งนี้ก็คือ เงินสมบทบจำนวน 1 แสนล้านดอลลาร์ต่อปี ที่บรรดาประเทศที่พัฒนาแล้วสัญญาไว้ในปี 2009 เพื่อช่วยให้โลกกำลังพัฒนาลดการปล่อยมลพิษและปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยแต่เดิมจะต้องมีการส่งมอบเงินดังกล่าวในปี 2020
IMF ย้ำ ลำพังประเทศร่ำรวยปิดช่องว่างเงินทุนไม่พอ
คริสตาลินา จอร์จีวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวว่า ความช่วยเหลือสาธารณะและเงินทุนจากรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้วเพียงอย่างเดียวจะไม่เพียงพอที่จะปิดช่องว่างการระดมทุนในการริเริ่มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา โดยสถานการณ์ปัจจุบันนี้จำเป็นต้องมีการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“สิ่งสำคัญที่สุดที่นี่ และในเดือนต่อๆ ไป คือการทำงานอย่างไม่ลดละ เพื่อสร้างโอกาสสำหรับการลงทุนภาคเอกชนในประเทศกำลังพัฒนา” จอร์จีวากล่าวกับ CNBC ระหว่างการสัมภาษณ์ที่การประชุมสุดยอดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP27 ในชาร์มเอลชีของอียิปต์
ก่อนการประชุมครั้งนี้ ทางสหประชาชาติ (UN) เรียกร้องให้เพิ่มเงินทุนและการดำเนินการตามมาตรการ เพื่อช่วยให้ประเทศที่เปราะบางปรับตัวเข้ากับภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศได้
โดย อิงเกอร์ แอนเดอร์เซน กรรมการบริหารโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ เคยกล่าวไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศกำลังถล่มใส่มนุษชาติอย่างต่อเนื่อง ประเทศที่อ่อนแอและกำลังพัฒนาจะต้องใช้เงินราว 1.6-3.4 แสนล้านดอลลาร์ภายในสิ้นทศวรรษนี้ เพื่อเปลี่ยนแปลงและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศ และจำต้องเป็นต้องใช้เงินทุนสูงถึง 5.65 แสนล้านดอลลาร์ภายในปี 2050
จอร์จีวากล่าวเพิ่มว่า จำเป็นต้องมีการผลักดันให้มากขึ้น เพื่อให้ธุรกิจในประเทศที่พัฒนาแล้วมีความรับผิดชอบต่อการลดการปล่อยมลพิษและการจัดเก็บภาษี ขณะเดียวกันกฎระเบียบก็เป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลหลายแห่งสามารถนำไปใช้ได้
อ้างอิง: