รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเป้าหมายยอดขายรายได้งวดปี 2565 ว่าจะสามารถเติบโตได้ 10% จากงวดปี 2564 เพราะในช่วง 9 เดือนแรกของปี ยอดขายเติบโตไปแล้วกว่า 10% เนื่องจากภาพรวมราคาขายปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ช่วงไตรมาส 4/2565 มองว่าธุรกิจอาจจะชะลอตัวลงบ้างแต่ยังสามารถพอเติบโตไปได้
ขณะเดียวกันบริษัทปรับลดวงเงินลงทุนรวมในงวดปี 2565 เป็น 55,000 ล้านบาท จากเดิมที่วางไว้ว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 80,000 ล้านบาท เนื่องจากมีบางโครงการที่บริษัทมองว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องชะลอการลงทุนออกไป เช่น โครงการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งจะต้องเลื่อนแผนการลงทุนออกไปในปี 2566 ส่วนโครงการปิโตรเคมีครบวงจรที่ประเทศเวียดนามยังเดินหน้าต่อเนื่อง คาดว่าจะเปิดดำเนินการในรูปแบบเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘กลุ่ม SCG’ ควบรวม ‘JWD’ ส่งบริษัทในเครือเข้าถือหุ้นใหญ่ 42.9% ด้วยมูลค่าดีลกว่า 1.86 หมื่นล้านบาท
- ‘เอสซีจี’ เผย ต้นทุนวัตถุดิบ-พลังงานพุ่ง กดกำไร 9 เดือนแรกปีนี้เหลือ 2.12 หมื่นล้านบาท ลดลง 45%
- 8 หุ้นเนื้อทอง เซียนหุ้น รุมตอม ร่วมลงทุนติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่
ส่วนแผนการเติบโตในปี 2566 บริษัทยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่ายอดขายจะเติบโตในสัดส่วนที่เท่าไร แต่คาดว่าจะต้องมีการเติบโตท่ามกลางความท้าทายที่เกิดขึ้นจากนโยบายของประเทศจีน รวมถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะมีการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย และทิศทางของราคาพลังงานที่ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะจบเมื่อไร ซึ่งส่งผลต่อเงินเฟ้อที่ยังคงเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ บริษัทมองว่าการขยายฐานการลงทุนใหม่ของบริษัทจะเป็น New S-Curve ให้กับบริษัทด้วยการกระจายการลงทุนต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมใหม่ ผ่านทางบริษัทย่อยของบริษัทที่มีธุรกิจหลักเดิมอยู่แล้ว เช่น การลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทน ซึ่งบริษัทมองเห็นโอกาสการลงทุนต่อยอดเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เช่น โอกาสในการเข้าร่วมประมูลขายไฟฟ้าให้กับภาครัฐ
รวมถึงธุรกิจด้านโลจิสติกส์ การที่บริษัทได้เข้าไปร่วมกับเจดับเบิ้ลยูดี ซึ่งจะช่วยเพิ่มและขยายโอกาสตามดีมานด์ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก และเป็นการช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจแพ็กเกจจิ้งที่ขยายฐานไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ สุขภาพ และการแพทย์
SCGC ยังอยู่ระหว่างเลือกกำหนดในการเข้าตลาดหุ้น
ด้าน ธนวงษ์ อารีรัชชกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนแผนการเข้าตลาดจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุมัติแบบรายการแสดงข้อมูลของบริษัทเรียบร้อยแล้ว โดยจากนี้ไปจะต้องพิจารณาช่วงเวลาให้เหมาะสม โดยยอมรับว่า Sentiment ภาพรวมการลงทุนของตลาดถือว่ามีความสำคัญ เช่นเดียวกับการกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัว
เล็งเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเป็น 500 เมกะวัตต์
ขณะที่ ธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCC เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ จำกัด มีโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่บริษัทมีกำลังการผลิตอยู่แล้วประมาณ 220 เมกะวัตต์ ซึ่งเล็งเห็นโอกาสขยายการลงทุนจากการเข้าร่วมประมูลการรับซื้อไฟฟ้าจากภาครัฐ หรือการขายไฟฟ้าในรูปแบบ Private PPA ขณะเดียวกัน เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ มีเป้าหมายจะเพิ่มกำลังผลิตเป็น 500 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี และยังไม่มีแผนจะ Spin-Off
ธุรกิจโลจิสติกส์วางเป้ามูลค่าบริษัท 1 แสนล้านบาท ในปี 2570
ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจดับเบิ้ลยูดี อินโฟโลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) หรือ JWD เปิดเผยภายหลังจากที่บริษัทเดินหน้าการรวมกิจการกับบริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ SCGL ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC แล้วนั้น
จะดำเนินการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) โดยใช้ตัวย่อ ‘SJWD’ ในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริหารงานโดยมี Co-CEO (ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม) ร่วมกันบริหารงาน ได้แก่ บรรณ เกษมทรัพย์ ซึ่งเป็นตัวแทนจากกลุ่ม SCGL และ ชวนินทร์ บัณฑิตกฤษดา ซึ่งเป็นตัวแทนจาก JWD ทั้งนี้ ตั้งเป้าหมายจะมีมูลค่าบริษัทอยู่ที่ 1 แสนล้านบาท ภายในปี 2570
ด้วยโอกาสทางธุรกิจที่เราวางแผนร่วมกันมีทั้งหมด 5 ส่วน
- การเพิ่มรายได้จากการ Cross-Sale และ Up-Sale จากฐานลูกค้าเดิมของ SCGL และ JWD เพื่อเพิ่มรายได้และการประหยัดต้นทุน
- การสร้างมูลค่าเพิ่มในบริการเดิมที่แต่ละฝ่ายมีความชำนาญ เช่น คลังห้องเย็น ลานจอดรถยนต์ คลังสินค้าอันตราย การขนส่งแบบต่อเนื่องหลายรูปแบบ เป็นต้น
- การเชื่อมต่อฐานการให้บริการในภูมิภาคอาเซียนแบบไร้รอยต่อ โดยนำ Business Model ที่ประสบความสำเร็จในไทย ไปสร้างการเติบโตในต่างประเทศ
- ให้บริการแบบ D2C (Direct to Consumer) ตามความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ผ่านบริการห้องเก็บของส่วนตัวให้เช่า, โลจิสติกส์สำหรับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ, การขนส่งแบบด่วน
- พัฒนาขอบเขตการให้บริการอย่างต่อเนื่องในธุรกิจใหม่ๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม, บริการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับจัดการโลจิสติกส์ เป็นต้น
สำหรับเป้าหมายรายได้ในปี 2566 บริษัทวางเป้าหมายจะมีรายได้หลังจากที่รวมเป็นบริษัท เอสซีจี เจดับเบิ้ลยูดี โลจิสติกส์ จำกัด (มหาชน) เติบโตประมาณ 10-12% หรือทำได้ประมาณ 28,000 ล้านบาท หลังจากที่คาดการณ์ว่าจะดำเนินการควบรวมแล้วเสร็จตั้งแต่ภายในงวดไตรมาส 1/2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ SCGJWD จะดำเนินการปรับโครงสร้างภายในเพิ่มเติมภายหลังการรวมกิจการ โดย SCGJWD จะรับโอนกิจการทั้งหมด Entire Business Transfer (EBT) ของ SCGL ซึ่งกระบวนการดังกล่าวคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566
ด้าน บรรณ เกษมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี โลจิสติกส์ แมเนจเม้นท์ จำกัด เปิดเผยว่า “เมื่อรวมกันแล้วจะกลายเป็นผู้นำด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน ที่มีจุดเด่นด้านการให้บริการโลจิสติกส์และซัพพลายเชนแบบครบวงจร ที่ครอบคลุมมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งทั้งในด้านความเป็นมืออาชีพของ SCGL และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญด้านการให้บริการโลจิสติกส์เฉพาะด้าน (Specialized) ของ JWD กลายเป็นผู้นำธุรกิจในภูมิภาคนี้”