ริชิ ซูนัค ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ที่กำลังจะเข้ารับตำแหน่งแทน ลิซ ทรัสส์ ถูกคาดหมายว่าจะยังคงมอบหมายให้ เจเรมี ฮันต์ รัฐมนตรีคลังในชุดปัจจุบัน ทำหน้าที่ในตำแหน่งเดิมต่อไปในรัฐบาลชุดใหม่ของเขา เพื่อลดความตื่นตระหนกของตลาดและลดปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคอนุรักษ์นิยมไปพร้อมๆ กัน
สื่ออังกฤษวิเคราะห์ว่า หนึ่งในความท้าทายของซูนัคหลังจากก้าวขึ้นมาทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีแล้ว คือการตั้งคณะรัฐมนตรีที่มีความสมดุลระหว่างกลุ่มคนในพรรคอนุรักษ์นิยมที่ให้การสนับสนุนเขา และกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้สนับสนุนเขาในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อลดความขัดแย้งภายในพรรค
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เปิดความท้าทายในสมรภูมิเศรษฐกิจของ ‘ริชิ ซูนัค’ นายกฯ อังกฤษคนใหม่
- รู้จัก เจเรมี ฮันต์ อดีตผู้ชิงเก้าอี้นายกฯ สู่ รมว.คลังอังกฤษคนล่าสุด ท่ามกลางความท้าทาย Perfect Storm
- ประมวลผลงาน ‘ลิซ ทรัสส์’ นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ กับการทำหน้าที่เพียง 45 วัน
โดยเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (24 ตุลาคม) ซูนัคได้มีการพูดถึงการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลชุดใหม่ของเขาว่าจะเต็มไปด้วยคนเก่งที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ และมีการคาดหมายว่าฮันต์จะได้ทำหน้าที่รัฐมนตรีคลังและวางแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลต่อไป
ซูนัคในวัย 42 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีเชื้อสายเอเชียคนแรกของสหราชอาณาจักร และถือว่าอายุน้อยที่สุดในรอบ 200 ปี เขาได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส. พรรคอนุรักษ์นิยมอย่างท่วมท้นให้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคและนายกรัฐมนตรีต่อจาก ลิซ ทรัสส์ หลังจากที่คู่แข่งคนสำคัญสองคนอย่าง บอริส จอห์นสัน และ เพนนี มอร์ดอนต์ ถอนตัวจากการชิงชัย โดยเขามีกำหนดจะขึ้นรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในวันนี้ (25 ตุลาคม)
เป็นที่คาดหมายว่าซูนัคจะหลีกเลี่ยงการถอดรัฐมนตรีในยุคของทรัสส์ออกจากตำแหน่งทั้งหมด แต่จะคัดเลือกให้บางคนยังทำหน้าที่ต่อไป เนื่องจากนับจากต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงส่วนใหญ่ของอังกฤษมีการเปลี่ยนแปลงตัวรัฐมนตรีมาแล้วถึง 4 ครั้ง
การแต่งตั้งให้ฮันต์กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง อาจส่งผลให้ เมล สไตรด์ และ สตีฟ บาร์คลีย์ สองผู้สนับสนุนคนสำคัญของซูนัคในพรรค ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าเชื่อมโยงกับตำแหน่งรัฐมนตรีคลัง ต้องไปรับบทบาทอื่นในรัฐบาล โดยคาดว่าสไตรด์จะไปทำหน้าที่หัวหน้าวิปรัฐบาลหรือเลขาธิการกระทรวงการคลัง ขณะที่บาร์คลีย์จะได้รับจำแหน่งรัฐมนตรีสาธารณสุข
นอกจากนี้ ยังมีการคาดหมายว่ามอร์ดอนต์จะได้รับมอบหมายให้เข้ามาทำหน้าที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่แทนที่ของ เจมส์ เคลเวอร์ลี ที่ออกมาสนับสนุน บอริส จอห์นสัน อย่างชัดเจนในช่วงก่อนหน้านี้
ขณะเดียวกันยังมีความเป็นไปได้ที่ ซูเอลลา บราเวอร์แมน อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยที่ลาออกจากตำแหน่งในยุคของทรัสส์ จะได้รับการทาบทามให้กลับมาดำรงตำแหน่งนี้อีกครั้งแทนที่ของ แกรนต์ แชปส์
ก่อนหน้านี้มีข่าวลือระบุว่า เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหมปัจจุบันจะปฏิเสธการรับตำแหน่งเดิมในรัฐบาลของซูนัค เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการปรับเพิ่มงบประมาณการป้องกันประเทศขึ้นเป็น 3% ของ GDP ภายในปี 2030 อย่างไรก็ตาม วอลเลซได้ออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าว และยืนยันว่าเขาพร้อมจะทำหน้าที่เดิมต่อไปแม้งบประมาณจะถูกตัดก็ตาม
อ้างอิง: