นี่คือบทสรุปภาพรวมเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาต่างๆ ประจำปี 2022
โดย ศ.สวานเต พาโบ นักพันธุศาสตร์ชาวสวีเดนจากสถาบัน Max Planck Institute for Evolutionary Anthropology (MPI-EVA) ในเยอรมนี ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปีนี้ จากผลงานการศึกษาค้นพบเกี่ยวกับจีโนม (Genomes) ของสายพันธ์ุมนุษย์โบราณที่สูญพันธุ์ไปแล้ว (Extinct Hominins) และวิวัฒนาการของมนุษย์ (Human Evolution)
ขณะที่รางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ปีนี้เป็นของ ศ.อาแลง อาสเป นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส, ศ.จอห์น ฟรานซิส เคลาเซอร์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน และ ศ.อันตัน เซลลิงเกอร์ นักฟิสิกส์ชาวออสเตรีย ที่ร่วมกันทำการทดลองโฟตอนเชิงพัวพัน (Entangled Photons) ซึ่งเป็นการละเมิดอสมการเบลล์ (Bell Inequalities) และบุกเบิกวิทยาการสารสนเทศเชิงควอนตัม (Quantum Information Science)
ส่วน ดร.แคโรลีน เบอร์ทอซซี กับ ดร.คาร์ล แบร์รี ชาร์ปเลสส์ สองนักเคมีชาวอเมริกัน พร้อมด้วย มอร์เทน เมลดาล นักเคมีชาวเดนมาร์ก ร่วมกันคว้ารางวัลโนเบลสาขาเคมีไปครอง จากผลงานการค้นพบปฏิกิริยาที่ทำให้โมเลกุลรวมตัวกันเพื่อสร้างสารประกอบที่ต้องการ หรือที่รู้จักในชื่อเทคโนโลยี ‘คลิกเคมี’ (Click Chemistry) และ ‘ปฏิกิริยาเคมีที่ทำงานได้ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตโดยไม่เป็นอันตราย’ (Bioorthogonal Chemistry) ซึ่งนำไปสู่การศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับชีววิทยาของเซลล์
ในฟากฝั่งของด้านวรรณกรรม อานนี แอร์โนซ์ นักเขียนชาวฝรั่งเศสวัย 82 ปี เป็นเจ้าของรางวัลโนเบลประจำปี 2022 สำหรับความกล้าหาญและความเฉียบแหลมที่เธอเปิดเผยให้เห็นถึงรากเหง้า (Roots) ความห่างเหิน (Estrangements) และสิ่งเหนี่ยวรั้งร่วมกัน (Collective Restraints) ของความทรงจำส่วนตัว
ขณะที่อีกหนึ่งสาขารางวัลที่มีผู้เฝ้ารอการประกาศผลไม่น้อย นั่นคือรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ในปีนี้คณะกรรมการพิจารณารางวัล มอบรางวัลนี้ให้แก่นักเคลื่อนไหวและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในกลุ่มประเทศที่มีความขัดแย้งกันอยู่ขณะนี้อย่างรัสเซีย ยูเครน และเบลารุส
โดยเจ้าของรางวัลได้แก่ อเลส เบียเลียตสกี นักเคลื่อนไหวชาวเบลารุส รวมถึง 2 องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง เมโมเรียล (Memorial) ในรัสเซีย และศูนย์เสรีภาพพลเมือง (Center for Civil Liberties: CCL) ในยูเครน สำหรับการส่งเสริมสิทธิในการวิพากษ์วิจารณ์อำนาจ (Right to Criticise Power) ปกป้องสิทธิพื้นฐานของพลเมือง และความพยายามในการบันทึกอาชญากรรมสงคราม การละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้อำนาจในทางมิชอบ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของภาคประชาสังคม (Civil Society) เพื่อสันติภาพ (Peace) และประชาธิปไตย (Democracy)
ส่วนรางวัลสาขาสุดท้ายในปีนี้อย่างรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ เป็นของ เบน เบอร์นานเก อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ รวมถึง ดักลาส ไดมอนด์ และ ฟิลิป เอช. ดิบบิก สองนักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน จากผลงานการวิจัยเกี่ยวกับธนาคารและวิกฤตการณ์ทางการเงิน (Banks and Financial Crises)
ภาพประกอบ: นิสากร ฤทธาภัย
อ้างอิง: