วานนี้ (20 กันยายน) ที่ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมศูนย์เฝ้าระวังภาวะฉุกเฉินทางสุขภาพกรุงเทพมหานคร (ศฉส.กทม.) หรือ Bangkok Health Emergency Operations Center (BHEOC) ครั้งที่ 5/2565
ในที่ประชุม สำนักการแพทย์และสำนักอนามัยได้สรุปสถานการณ์โควิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ป่วยรายวัน มีวันละ 400-600 ราย ซึ่งลดลงร้อยละ 50 จากเดิมที่มีผู้ป่วยวันละ 1,000-1,200 รายต่อวัน ผู้ป่วยที่รักษาตัวในโรงพยาบาลยังคงเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง 608 เป็นส่วนใหญ่
ทั้งนี้ สำนักการแพทย์ฯ ได้มีการลดจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด เพื่อรองรับผู้ป่วยทั่วไปที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยที่จำนวนเตียงของโรงพยาบาลสังกัด กทม. 12 แห่ง ยังคงเพียงพอต่อจำนวนผู้ป่วยในสถานการณ์ปัจจุบัน (อัตราการครองเตียง 19.85%) จำนวนยาต้านไวรัสทั้ง 3 ชนิด ยังมีความเพียงพอ เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ซึ่งเป็นการรักษาตามอาการ
ทวิดากล่าวต่อไปว่า ในช่วงนี้ประชาชนอาจมีภาวะทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากปัญหาน้ำท่วม ขอให้สำนักงานเขตมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในภาวะวิกฤต โดยมอบหมายผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตที่กำกับควบคุมด้านการระบายน้ำและการช่วยเหลือประชาชน สื่อสารผ่านนักประชาสัมพันธ์ของสำนักงานเขต
โดยนักประชาสัมพันธ์ของสำนักงานเขตประสานกับสำนักงานประชาสัมพันธ์ในการจัดทำข้อมูล เช่น การแจ้งเตือนฝนตก จุดบริการรถรับ-ส่ง จุดให้บริการซ่อมรถ จุดน้ำท่วมขัง หมายเลขโทรศัพท์สำหรับติดต่อประสานงานให้ความช่วยเหลือ เป็นต้น เพื่อให้การสื่อสารมีเอกภาพและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ขอให้เร่งดำเนินการจัดทำข้อมูลความเสียหายในพื้นที่ของสำนักงานเขตอันเนื่องมาจากน้ำท่วม เพื่อให้การช่วยเหลือและเยียวยาประชาชน ไม่เพียงแต่พื้นที่ 6 แขวงในเขตลาดกระบัง ที่ กทม. ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมเท่านั้น แต่รวมถึงทุกสำนักงานเขตที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วมขัง
ทวิดากล่าวต่ออีกว่า จัดทำข้อมูลให้พร้อมโดยบันทึกข้อมูลความเสียหายและความต้องการ ซึ่งอาจจะต้องมีการบันทึกข้อมูลระดับน้ำที่วิกฤตบางจุดรวมทั้งระยะเวลา เพื่อให้ข้อมูลมีความถูกต้องชัดเจนและสามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป