×

​​ความท้าทายของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 กับความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

12.09.2022
  • LOADING...
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

พลันที่ข่าวการสวรรคตของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เผยแพร่สู่สาธารณะเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ทำให้เจ้าชายชาร์ลส์ เจ้าชายแห่งเวลส์ มกุฎราชกุมารทรงได้รับราชสมบัติเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งอังกฤษสืบต่อจากพระราชมารดาในทันที

 

หากพิจารณาถึงสถานะก่อนการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างจากสมเด็จพระราชินีนาถผู้เป็นพระราชมารดา เนื่องจากพระราชมารดานั้นไม่ได้ทรงคาดหมายว่าพระองค์จะได้ขึ้นครองราชย์ แต่ด้วยเหตุอันไม่คาดฝันซึ่งทำให้ต้องทรงเป็นรัชทายาท และทรงมีเวลาเพียง 15 ปี ในการเตรียมพระองค์เพื่อขึ้นครองราชย์ แต่สถานะของพระเจ้าชาร์ลส์นั้นชัดเจนตั้งแต่ทรงพระราชสมภพในปี 1948 แล้วว่า เมื่อวันเวลามาถึง พระองค์จะต้องทรงขึ้นครองราชสมบัติอังกฤษ

 

แม้ว่าการเตรียมการเป็นกษัตริย์ของพระเจ้าชาร์ลส์นั้นจะมีมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมถึงระยะเวลา 64 ปี ในการดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ รัชทายาทแห่งราชบัลลังก์ แต่ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปและการตั้งคำถามถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่ดังขึ้นเรื่อยๆ เรื่องเหล่านี้ย่อมเป็นสิ่งที่ท้าทายรัชสมัยของกษัตริย์พระองค์ที่ 5 แห่งราชวงศ์วินด์เซอร์เป็นอย่างยิ่ง

 

สายการสืบราชสมบัติ: ปัจจัยแรกแห่งความมั่นคงของราชบัลลังก์

เป็นที่ยอมรับกันว่าความมั่นคงประการหนึ่งของระบอบราชาธิปไตยหรือสถาบันกษัตริย์นั้นมาจากการที่มีผู้สืบทอดอำนาจหรือสืบราชบัลลังก์ที่แน่นอนและไม่ขาดสาย ซึ่งจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา การสืบราชสมบัติอังกฤษนั้นก่อให้เกิดวิกฤตหรือความขัดแย้งหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกรณีสงครามดอกกุหลาบระหว่างตระกูลยอร์กกับตระกูลแลงคาสเตอร์ การสืบบัลลังก์สมัยทิวดอร์ที่มีความไม่แน่นอนจากความขัดแย้งทางศาสนา รวมถึงปัญหาการไม่มีรัชทายาทที่แน่นอนบ่อยครั้งในสมัยราชวงศ์สจวร์ตและฮันโนเวอร์ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ

 

นับแต่การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ในปี 1688 จึงมีความพยายามที่จะกำหนดเกี่ยวกับการสืบราชสมบัติให้ชัดเจน จนในที่สุด การตรากฎหมายสองฉบับคือ Bill of Right 1689 และ The Act of Settlement 1701 มีผลทำให้หลักเกณฑ์การสืบราชสมบัติและลำดับการสืบราชสันตติวงศ์ (The Line of Succession) ของอังกฤษมีความมั่นคงและชัดเจนแน่นอนยิ่งขึ้น ซึ่งยังคงมีผลมาจนถึงปัจจุบัน โดยผ่านการปรับปรุงแก้ไขให้เข้ากับบริบทของสังคมอยู่เสมอ

 

ด้วยเหตุนี้เอง พระราชดำรัสในครั้งแรกของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการสืบราชสมบัติ โดยนอกจากที่พระองค์ได้ทรงกล่าวถึงเจ้าชายวิลเลียม พระราชโอรสองค์โตในฐานะรัชทายาทของพระองค์ (As my Heir, William…) แล้ว พระองค์ยังทรงสถาปนาเจ้าชายให้ดำรงตำแหน่งเจ้าชายแห่งเวลส์ (Prince of Wales) อันเป็นตำแหน่งสำหรับมกุฎราชกุมารหรือรัชทายาทลำดับแรกแห่งราชบัลลังก์ เพื่อเป็นการยืนยันและสร้างความชัดเจนในการสืบราชสมบัติด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การสร้างสายการสืบราชสมบัติที่มั่นคงนั้นเป็นเพียงปัจจัยเดียวในความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงปัจจัยที่สำคัญที่สุดอีกข้อหนึ่งคือ การยอมรับในบทบาทและสถานะของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทั้งในฐานะประมุขของประเทศภายใต้รัฐธรรมนูญ และประมุขแห่งราชวงศ์วินด์เซอร์ ผู้นำของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

ภาพ: Wattie Cheung – WPA Pool / Getty Images

 

บทบาทในฐานะกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา สถาบันกษัตริย์ต้องเผชิญกับวิกฤตจากความเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย เนื่องด้วยการมีอยู่ของระบบกษัตริย์เป็นมรดกที่ตกทอดจากอดีต ซึ่งค่านิยม ความเชื่อ อุดมการณ์ทางการเมือง รวมถึงความจำเป็นแตกต่างจากปัจจุบันเป็นอย่างมาก ทำให้สถาบันกษัตริย์ในแต่ละประเทศจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอดและเข้ากับยุคสมัย ซึ่งเป็นเรื่องที่มีระดับความยากและความท้าทายสำหรับสถาบันกษัตริย์ที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ อันจะเห็นได้จากการสิ้นสุดของระบอบกษัตริย์ในหลายประเทศที่ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสังคมได้

 

สถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นได้ผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงมีบทเรียนสำคัญในปี 1649 ที่มีการยกเลิกระบอบกษัตริย์ และในคราวการปฏิวัติอันรุ่งโรจน์เมื่อปี 1688 ที่มีการจำกัดอำนาจของกษัตริย์โดยรัฐสภา ซึ่งมีส่วนให้เกิดการปรับเปลี่ยนบทบาทจากการใช้พระราชอำนาจอย่างเต็มที่ด้วยพระองค์เองมาสู่บทบาทการเป็นกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและฉันทามติของสังคม

 

ดังนั้นแล้วการใช้พระราชอำนาจเดียวที่สาธารณชนเรียกร้องจากกษัตริย์คือการปฏิบัติตนตามรัฐธรรมนูญ อันจะเห็นได้จากการที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงยึดมั่นและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดตลอดรัชสมัย เพื่อความมั่นคงและอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ

 

ด้วยเหตุที่ทรงตระหนักว่า ความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์นั้นขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จึงทรงเน้นย้ำและแสดงออกอย่างชัดเจนผ่านพระราชดำรัสแรกของพระองค์ที่ว่า จะทรงดำเนินตามรอยพระยุคลบาทของพระราชมารดาในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัด 

 

“As the queen herself did with such unswerving devotion, I too now solemnly pledge myself, throughout the remaining time God grants me, to uphold the Constitutional principles at the heart of our nation.”

 

การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในที่นี้ โดยสาระสำคัญแล้วหมายถึงการปฏิบัติพระองค์เป็นประมุขของประเทศตามหลัก ‘The King can do no wrong, The King can do nothing.’ ‘กษัตริย์ทรงไม่ต้องทรงรับผิด เพราะทรงไม่อาจกระทำสิ่งใดได้ด้วยพระองค์เอง’ ซึ่งจะต้องปฏิบัติหน้าที่เฉพาะตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และต้องวางพระองค์เป็นกลางทางการเมืองอย่างแท้จริง โดยไม่อาจยุ่งเกี่ยวหรือมีส่วนร่วมกับกิจการใดๆ ที่แสดงออกถึงความรู้สึกนึกคิดของพระองค์เอง

 

ในประเด็นเกี่ยวกับความเป็นกลางนี้เองที่หลายฝ่ายกังวลถึงบทบาทและพระจริยวัตรของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งเมื่อครั้งที่ทรงเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์นั้น มักจะมีปรากฏกรณีที่พระองค์ทรงแสดงความคิดเห็น รวมไปถึงการมีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารงานของรัฐบาล โดยเฉพาะการที่ทรงมีจดหมายส่วนพระองค์โต้ตอบกับรัฐมนตรีในหลายรัฐบาลเกี่ยวกับกิจการที่ทรงสนพระทัยหรือกิจการในพระอุปถัมภ์ หรือที่เรียกว่า ‘กรณี Black Spider Memos’ ทำให้ทรงถูกโจมตีถึงความไม่เหมาะสมในการเป็นกลางทางการเมือง และหลายฝ่ายยังกังวลว่ากรณีดังกล่าวอาจเป็นการแทรกแซงการทำงานของรัฐบาลในรูปแบบหนึ่ง

 

ด้วยเหตุนี้เอง พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จึงทรงเน้นย้ำถึงบทบาทของพระองค์ที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปในพระราชดำรัสแรกที่ว่า เมื่อพระองค์ทรงรับพระราชภาระใหม่ในฐานะกษัตริย์อังกฤษแล้ว ชีวิตของพระองค์ย่อมเปลี่ยนแปลงไปไม่เหมือนเดิม “My life will of course change as I take up my new responsibilities.” และทรงไม่อาจใช้เวลาและพละกำลังในกิจการที่ทรงอุปถัมภ์หรือเรื่องที่ทรงเป็นห่วงได้อีก

 

แม้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแห่งรัชสมัยที่พระเจ้าชาร์ลส์ทรงเน้นย้ำถึงบทบาทและหน้าที่ของพระองค์ดังที่ได้กล่าวมา แต่กาลเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การปฏิบัติพระราชกรณียกิจของพระองค์จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ และถ้าหากปรากฏการฝ่าฝืนหรือประพฤติผิดรัฐธรรมนูญแล้ว ย่อมนำมาซึ่งการต่อต้านและความขัดแย้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันอาจส่งผลกระทบถึงความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ในที่สุด

 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

ภาพ: Victoria Jones-WPA Pool / Getty Images

 

ปัญหาภายในราชวงศ์: สนิมเกิดแต่เนื้อในตน?

นอกจากการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในฐานะประมุขของชาติแล้ว บทบาทและภาพลักษณ์ของบรรดาพระราชวงศ์ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์อังกฤษก็มีส่วนสำคัญต่อการที่พระเจ้าชาร์ลส์จะทรงได้รับการยอมรับจากประชาชนด้วย

 

ปัจจุบันคำถามที่ปรากฏขึ้นอยู่เสมอในทั้งอังกฤษและสังคมโลกคือ ความจำเป็นของการมีอภิสิทธิ์หรือสถานะอันไม่เท่าเทียมกัน รวมไปถึงการใช้ชีวิตและความเป็นอยู่ของบรรดาพระราชวงศ์ ดังนั้นการดำรงตนหรือปฏิบัติตัวของบรรดาพระราชวงศ์จึงไม่อาจกระทำได้ตามที่ตนต้องการ หากแต่จะต้องยึดโยงกับบทบาทและหน้าที่ของตนในฐานะส่วนหนึ่งของสถาบันกษัตริย์ เพราะการทำหน้าที่ตามบทบาทของตนนั้นเองที่เป็นคำตอบเพียงข้อเดียวต่อคำถามข้างต้น

 

สำหรับความท้าทายภายในพระราชวงศ์ที่พระเจ้าชาร์ลส์ต้องทรงเผชิญนั้น นอกจากเรื่องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของพระราชวงศ์แล้ว ยังรวมไปถึงเรื่องราวในอดีตของพระองค์ที่ยังคงมีการพูดถึงอยู่ในปัจจุบันคือ ปัญหาชีวิตสมรสของพระองค์กับเจ้าหญิงไดอานา ซึ่งส่งผลต่อความนิยมในตัวพระองค์เอง และเป็นผลให้ประชาชนบางส่วนไม่ยอมรับสมเด็จพระราชินีคามิลลา ผู้ซึ่งอยู่เคียงข้างพระองค์มาโดยตลอด แม้สมเด็จพระราชินีจะทรงพิสูจน์พระองค์เองด้วยการปฏิบัติพระองค์อย่างสำรวมและระมัดระวัง รวมถึงทุ่มเทพระวรกายเพื่อสาธารณชนมาเป็นเวลานาน อีกทั้งก่อนหน้านี้ไม่นาน สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับ ก็ยังเรียกร้องให้ประชาชนยอมรับคามิลลาในฐานะพระราชินีของกษัตริย์ชาร์ลส์แล้วก็ตาม

 

ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือบทบาทในอนาคตของเจ้าชายแอนดรูว์ ดยุกแห่งยอร์ก พระอนุชาของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ทรงถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดในคดีทางเพศ ทำให้ต้องทรงหยุดปฏิบัติภารกิจในฐานะพระราชวงศ์ ซึ่งเป็นเรื่องอื้อฉาวที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของราชวงศ์วินด์เซอร์เป็นอย่างยิ่ง รวมไปถึงกรณีปัญหาของครอบครัวซัสเซ็กซ์ที่แม้ว่าเจ้าชายแฮร์รีจะทรงประกาศถอนตัวจากบทบาทและหน้าที่ในฐานะพระราชวงศ์ระดับสูงเมื่อปลายรัชสมัยที่ผ่านมาและย้ายไปอยู่ต่างประเทศแล้ว แต่ก็ยังคงมีการตั้งคำถามถึงบทบาทของพระองค์ในรัชกาลปัจจุบันด้วย

 

ดังนั้นแม้ปัญหาของบรรดาพระราชวงศ์บางเรื่องอาจดูเป็นเรื่องส่วนตัวของพระราชวงศ์แต่ละคน แต่ในประเทศที่สถาบันกษัตริย์ถูกตั้งคำถามได้ถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการคงอยู่ ภาพลักษณ์และการปฏิบัติตัวของพระราชวงศ์ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อสถานะและความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์อังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอีกเรื่องหนึ่งต่อบทบาทของพระเจ้าชาร์ลส์ในฐานะประมุขผู้ทรงอำนาจสูงสุดในราชวงศ์วินด์เซอร์

 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

ภาพ: Wattie Cheung – WPA Pool / Getty Images

 

การยอมรับในสถาบันกษัตริย์ของชาวอังกฤษ

ทั้งสองประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นเกี่ยวกับบทบาทในฐานะประมุขของประเทศและประมุขของพระราชวงศ์นั้นย่อมมีส่วนสำคัญต่อการยอมรับในสถาบันกษัตริย์ของประชาชนชาวอังกฤษ ซึ่งความรู้สึกนึกคิดและความเห็นที่มีต่อสถาบันกษัตริย์นั้นอาจเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอตามช่วงเวลาและสถานการณ์ และจากผลสำรวจความคิดเห็นจากหลายหน่วยงานตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา แม้ว่าส่วนใหญ่ยังเห็นด้วยกับการคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ แต่เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนคะแนนแล้วจะพบว่า ความนิยมที่มีต่อสถาบันกษัตริย์นั้นค่อยๆ ลดลง ในขณะที่เสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่สถาบันกษัตริย์อังกฤษยังคงได้รับการยอมรับจากประชาชนคือ การปฏิบัติพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถที่ทรงนำพาสถาบันฝ่าฟันและผ่านพ้นวิกฤติต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา โดยเฉพาะปัญหาอื้อฉาวในพระราชวงศ์ การตัดสินพระทัยและพระจริยวัตรของพระองค์นั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้ทรงได้รับความนิยมเป็นอย่างมากตลอด 70 ปีแห่งรัชสมัย

 

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่กษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงตระหนักถึงและแสดงออกผ่านทางพระราชดำรัสคือ ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปนำมาซึ่งความเชื่อ อุดมการณ์ ค่านิยม ตลอดจนแนวคิดที่หลากหลาย ประเทศอังกฤษในปัจจุบันแตกต่างไปจากอังกฤษในสมัยที่พระองค์ทรงพระราชสมภพ ซึ่งความหลากหลายในแง่อุดมการณ์และความคิดเหล่านี้เองที่จะเป็นสิ่งท้าทายพระเจ้าชาร์ลส์ว่าจะทรงสามารถปฏิบัติพระองค์ให้ทรงได้รับการยอมรับจากประชาชนชาวอังกฤษเฉกเช่นในรัชสมัยของพระราชมารดาได้หรือไม่ 

 

พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

ภาพ: Mike Kemp/In Pictures via Getty Images

 

สถานะที่สั่นคลอนของเครือจักรภพ

แม้ว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 จะทรงสืบสิทธิการเป็นประมุขแห่งเครือจักรภพอังกฤษทันทีที่ทรงขึ้นครองราชย์ตามคำร้องขอของสมเด็จพระราชินีนาถที่ทรงมีต่อบรรดาผู้นำของประเทศต่างๆ ในคราวการประชุมเครือจักรภพเมื่อปี 2018 ซึ่งมีผลทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ทรงดำรงสถานะเป็นประมุขของประเทศในเครือจักรภพอื่นๆ อีก 14 ประเทศด้วย แต่คงจะไม่เกินไปนักหากจะกล่าวว่าสถานะของพระองค์ในฐานะประมุขของประเทศในเครือจักรภพ และสถานะของเครือจักรภพเองนั้นกลับมีความไม่แน่นอนและปรากฏถึงความสั่นคลอน

 

ด้วยความนิยมและการยอมรับจากเครือจักรภพที่พระเจ้าชาร์ลส์ทรงมีไม่มากเท่ากับพระราชมารดา และประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับระบอบอาณานิคมในอดีต และมุมมองที่ว่าเครือจักรภพนั้นเป็นมรดกที่หลงเหลือจากจักรวรรดิอังกฤษ ทำให้หลายประเทศต้องการแยกตัวไปมีประมุขของตนเอง เช่น กรณีของบาร์เบโดสที่ประกาศยกเลิกสถานะประมุขของสมเด็จพระราชินีนาถ โดยเปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นแบบสาธารณรัฐและมีประธานาธิบดีเป็นประมุขแทนเมื่อปี 2021 ที่ผ่านมา

 

เมื่อสิ้นแผ่นดินสมเด็จพระราชินีนาถผู้ทรงเป็นดังจุดเชื่อมต่อแห่งยุคสมัยที่ยึดโยงความเป็นเครือจักรภพเข้าไว้ด้วยกัน เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในยุคที่อังกฤษยังคงความเป็นจักรวรรดิ ทำให้การเรียกร้องของประชาชนในแต่ละประเทศเพื่อให้ประมุขของตนแยกออกต่างหากจากกษัตริย์อังกฤษหรือเปลี่ยนเป็นระบอบสาธารณรัฐกำลังจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ พร้อมกับกระแสการเรียกร้องให้ตำแหน่งประมุขแห่งเครือจักรภพนั้นผลัดเปลี่ยนกันไปในแต่ละประเทศตามแนวคิดสมัยใหม่ รวมไปถึงยังมีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกระบบเครือจักรภพด้วย 

 

ประเด็นเกี่ยวกับเครือจักรภพจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ท้าทายว่า พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ในฐานะประมุขแห่งเครือจักรภพพระองค์ใหม่จะทรงปฏิบัติหน้าที่เป็นศูนย์รวมหรือยึดโยงประเทศในเครือจักรภพเข้าไว้ด้วยกันต่อไปได้หรือไม่

 

ประเด็นต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การเป็นประมุขของพระราชวงศ์และประมุขแห่งเครือจักรภพ ย่อมเป็นความท้าทายอันยิ่งใหญ่ที่กษัตริย์พระองค์ใหม่จะทรงต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายยังคงมีความเชื่อมั่นว่าการที่ทรงมีเวลาตระเตรียมพระองค์และได้ทรงศึกษาประวัติศาสตร์และเรียนรู้บทเรียนต่างๆ โดยเฉพาะจากพระราชมารดามาเป็นเวลากว่า 70 ปี จะช่วยทำให้พระองค์ทรงผ่านพ้นอุปสรรคปัญหาและความท้าทายต่างๆ ไปได้ และปฏิเสธไม่ได้ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 นั้นมีส่วนเกี่ยวพันกับการดำรงคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ และคงไม่เกินไปนักหากจะกล่าวว่า ความเคลื่อนไหวทุกย่างก้าวของพระองค์นับแต่เวลานี้เป็นต้นไปย่อมส่งผลสำคัญต่อการกำหนดความเป็นไปหรือความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์อังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ภาพ: Zac Goodwin / PA Images via Getty Image

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X