วานนี้ (8 กันยายน) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย ธวัชชัย นภาศักดิ์ศรี รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา, ถนอมเกียรติ สัมมาวุฒิชัย, ทีมอาสานักวิ่ง โครงการ BKK Trail และนักวิ่งอาสาในโครงการฯ ร่วมแถลงข่าวโครงการ ‘BKK Trail วิ่งได้ = เดินดี’
วิศณุกล่าวว่า โครงการนี้เป็น 1 ในนโยบาย 216 ข้อของ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ตั้งใจจะพัฒนา Bangkok Trail (BKK Trail) เพื่อสร้างเส้นทางวิ่ง เส้นทางออกกำลังกาย และเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ๆ ในพื้นที่
ประกอบด้วย 1. รวบรวมเส้นทางวิ่งเทรลที่มีนักวิ่งใช้งานอยู่ 2. สร้างจุดเด่นของเส้นทางด้วยการดึงจุดเด่นของพื้นที่ เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้คนมาวิ่ง เช่น สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ พื้นที่สาธารณะ และเรื่องราวที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง 3. ปรับโครงสร้างพื้นฐาน และเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกให้เหมาะสมสำหรับการเดิน-วิ่ง 4. ประชาสัมพันธ์เส้นทาง BKK Trail พร้อมข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกและสถานที่ท่องเที่ยว เช่น ติดตั้งแผนที่เส้นทางวิ่งในเส้นทาง จัดทำแผนที่เส้นทาง BKK Trail ออนไลน์
ก่อนหน้านี้ ทีมอาสานักวิ่งโครงการ BKK Trail ได้วิ่งนำร่องใน 4 เส้นทาง และสำรวจเส้นทางเสร็จสิ้นแล้ว 2 เส้นทาง ซึ่งระหว่างที่วิ่งนั้นทีมนักวิ่งจะถ่ายภาพสิ่งต่างๆ ที่เจอ ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อนักวิ่ง ทั้งกายภาพของการวิ่ง ภูมิทัศน์โดยรอบ จุดน้ำดื่มสะอาด จุดเข้าห้องน้ำ จุดท่องเที่ยว จุดค้าขาย และจุดจอดรถ โดยจะส่งข้อมูลเหล่านี้เข้าแอปพลิเคชันเฉพาะ คล้ายระบบแจ้งของ Traffy Fondue
จากนั้นเมื่อ กทม. ได้รับข้อมูลเหล่านี้แล้วก็จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการแก้ไขปรับปรุง เพื่อให้สามารถเดินทางได้สะดวก ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเส้นทางที่วิ่งผ่าน เช่น ทางเท้าเรียบโล่งปราศจากสิ่งกีดขวาง เพิ่มเติมแสงสว่างเพื่อความปลอดภัย ห้องน้ำสาธารณะ สัญญาณไฟต่างๆ เพื่อความปลอดภัย เช่น ทางม้าลาย ซึ่งเบื้องต้นวางเป้าหมายระยะทางรวมไว้ที่ 500 กิโลเมตร 50 เขต (เขตละ 10 กิโลเมตร) ทั่วกรุงเทพฯ
วิศณุกล่าวต่อไปว่า เมืองที่น่าอยู่ต้องมีพื้นฐานมาจากคน กทม. เป็นแค่ผู้ให้การสนับสนุนคนเท่านั้น แท้จริงแล้วจุดประสงค์ของโครงการนี้ นอกจากจะเพื่อปรับปรุงทางเท้าและเป็นเส้นทางวิ่ง แต่หลักๆ คือการสร้างความเจริญในชุมชนให้กับพื้นที่ การที่เราทำให้ทางเท้าเดินได้ เดินดี ก็จะสามารถดึงคนเข้าไปในชุมชน เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวได้ง่ายขึ้น เพราะมีไฟส่องสว่าง สามารถเดินตอนกลางคืนและตอนเช้าได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น การเพิ่มคนเข้าไปในพื้นที่ก็จะส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนทางอ้อม ทำให้ชุมชนนั้นเข้มแข็งขึ้น หรือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับพื้นที่และชุมชน ประโยชน์ที่ได้จึงทวีคูณ
ทั้งนี้ การวิ่งดังกล่าวเป็นการวิ่งเพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน นำมาสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับกับหลายๆ กิจกรรม เพื่อให้เมืองตอบโจทย์กับคนทุกกลุ่ม รวมถึงพัฒนาการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับย่าน ซึ่งในเบื้องต้น สิ้นเดือนกันยายนนี้จะมีเส้นทางที่ถูกพัฒนาเพื่อการวิ่งเทรลในกรุงเทพฯ 2 เส้นทาง ความยาวเส้นทางละประมาณ 10 กิโลเมตร
ประกอบด้วย เส้นทางที่ 1 อยู่ในพื้นที่ Old Town (ราชดำเนิน เจริญกรุง ผดุงกรุงเกษม) ได้แก่ สถานีรถไฟกรุงเทพ (หัวลำโพง), คลองผดุงกรุงเกษม, ยศเส, โบ๊เบ๊-มหานาค, องค์การสหประชาชาติ (United Nations), เวทีมวยราชดำเนิน, ป้อมมหากาฬ, ประตูผี, เสาชิงช้า, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, หอสมุดเมืองกรุงเทพมหานคร, สนามหลวง, ศาลหลักเมือง, วัดพระแก้ว, ศาลาเฉลิมกรุง, สามยอด, วัดมังกรกมลาวาส และ Chinatown
เส้นทางที่ 2 Downtown (สยาม บรรทัดทอง บางรัก สีลม สาทร ราชประสงค์) ได้แก่ สยาม, หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร, สนามกีฬาแห่งชาติ, อุทยาน 100 ปี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ศาลแรงงาน, โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม, อาคารไปรษณีย์กลาง, โรงเรียนอัสสัมชัญ, ตลาดบางรัก, โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน, อาคารมหานคร, ถนนพัฒน์พงศ์, สวนลุมพินี, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, ราชกรีฑาสโมสร, โรงพยาบาลตำรวจ และเซ็นทรัลเวิลด์ โดยในอนาคตจะพัฒนากระจายให้ครบทั้ง 50 เขตต่อไป
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานที่จะดำเนินการพัฒนานั้นมาจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น ความร่วมมือระหว่าง กทม. กับประชาชน โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มนักวิ่ง BKK Trail ในการสำรวจและเก็บข้อมูล ความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในเมือง อาทิ การติดตั้งจุดน้ำดื่มจากการประปานครหลวง (กปน.), ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานใน กทม. อาทิ สำนักการโยธา (สนย.) จะปรับปรุงพื้นที่กายภาพต่างๆ, สำนักงานเขตในแต่ละพื้นที่ จะกำหนดจุดจอดรถ จุดพัก จุดถ่ายรูป จุดน้ำดื่ม ห้องน้ำ ร้านค้า และสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว (สวท.) จะส่งเสริมเส้นทางที่วิ่งให้เป็นเส้นทางวิ่งเชิงท่องเที่ยวในอนาคต
“โครงการ BKK Trail จะมีการเปิดเส้นทางให้นักวิ่งที่สนใจมาเป็นนักวิ่งอาสาในโครงการนี้ โดยผู้ที่สนใจสามารถกดเข้าร่วมกลุ่มในเฟซบุ๊ก โดยค้นหาชื่อว่า 42.195K Club…เราจะไปมาราธอนด้วยกัน เพื่อติดตามรายละเอียดและลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมกิจกรรม” วิษณุกล่าว