ศรีลังกาบรรลุข้อตกลงเบื้องต้นกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) สำหรับเงินกู้มูลค่าประมาณ 2,900 ล้านดอลลาร์แล้ว ขณะที่ศรีลังกากำลังหาทางออกจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 10 ปี
แถลงการณ์ร่วมของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และรัฐบาลศรีลังกา ระบุว่า ทั้ง 2 ฝ่ายได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นระดับเจ้าหน้าที่แล้ว ภายใต้โครงการ Extended Fund Facility (EFF) มูลค่าราว 2,900 พันล้านดอลลาร์ โดยวัตถุประสงค์ของโครงการสนับสนุนเงินทุนครั้งนี้คือ การฟื้นฟูเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค และความยั่งยืนของหนี้ (Debt Sustainability) ซึ่งจะมีระยะเวลาดำเนินการ 48 เดือน
ด้าน Peter Breuer เจ้าหน้าที่อาวุโสของ IMF กล่าวกับผู้สื่อข่าวในกรุงโคลัมโบของศรีลังกาว่า ข้อตกลงระดับเจ้าหน้าที่นี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของเส้นทางระยะยาวสำหรับศรีลังกา โดยเจ้าหน้าที่ได้เริ่มกระบวนการปรับโครงสร้างไปแล้ว และต้องดำเนินต่อไปด้วยความมุ่งมั่น
โดย IMF ยังต้องการการรับรองจากเจ้าหนี้อย่างเป็นทางการของศรีลังกาในการปรับโครงสร้างหนี้ นอกเหนือไปจากความพยายามบรรลุข้อตกลงความร่วมมือกับเจ้าหนี้เอกชน
ในแถลงการณ์ยังระบุว่า ข้อตกลงนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาล ศักยภาพทางการคลัง การกำหนดราคาเชื้อเพลิง ไฟฟ้า และการใช้จ่ายทางสังคมใหม่ รวมไปถึงการสนับสนุนความเป็นอิสระของธนาคารกลาง และสร้างทุนสำรองระหว่างประเทศที่หมดลงไปแล้ว
นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวยังจะดำเนินการปฏิรูปภาษีครั้งใหญ่ รวมถึงการทำให้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก้าวหน้ามากขึ้น และขยายฐานภาษีสำหรับภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม
ทั้งนี้ ศรีลังกาต้องการเงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ราว 3 พันล้านดอลลาร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจครั้งเลวร้ายที่สุด นับตั้งแต่ศรีลังกาได้รับอิสรภาพจากสหราชอาณาจักรเมื่อปี 1948
ปัจจุบัน ผู้คนในศรีลังกาจำนวนมากต้องเผชิญปัญหาขาดแคลนเชื้อเพลิงและสินค้าพื้นฐานอื่นๆ เป็นเวลานานหลายเดือน ทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมือง และยังได้รับผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งขณะนี้อยู่ที่เกือบ 65% เมื่อเทียบจากปีก่อน
อ้างอิง: