×

NITMX เล็งพัฒนาระบบการชำระเงินไทย ให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้ 10,000 รายการ/วินาทีภายในสิ้นปีนี้

29.08.2022
  • LOADING...
NITMX

NITMX เตรียมยกระดับโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินไทยให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้สูงสุด 10,000 รายการต่อวินาทีภายในสิ้นปีนี้ พร้อมเปิดให้บริการ PromptBiz ช่วยลดต้นทุนการทำธุรกรรมของภาคธุรกิจไตรมาสหน้า

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท เนชั่นแนล ไอทีเอ็มเอ๊กซ์ จำกัด (NITMX) กล่าวว่า NITMX เป็นผู้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและมาตรฐานระบบการชำระเงินที่สำคัญของไทย โดยเฉพาะระบบพร้อมเพย์ (PromptPay) ทำให้การชำระเงินและโอนเงินสะดวกรวดเร็วขึ้น ถึงมือผู้รับโดยตรง โปร่งใส และไม่มีค่าธรรมเนียม  

 

โดยมีจำนวนผู้ลงทะเบียน PromptPay ล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 70 ล้านหมายเลข เพิ่มขึ้น 22.1% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา มียอดการโอนเงินเฉลี่ย 38.7 ล้านรายการต่อวัน เพิ่มขึ้น 59.3% มูลค่ารวม 1.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ช่วยผลักดัน Digital Payment ของประเทศให้เติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ประชาชนหันมาใช้จ่ายผ่านดิจิทัลแทนเงินสดมากขึ้น 

 

ทั้งนี้ ในปี 2564 มีธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารเกิดขึ้นกว่า 1 หมื่นล้านรายการ และมีเงินหมุนเวียนผ่านระบบ ITMX มูลค่ารวม 39 ล้านล้านบาท คิดเป็น 2.4 เท่าของ GDP ของประเทศไทย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2565 จากช่วง เดือนมกราคม-มิถุนายน 2565 มีธุรกรรมชำระเงินระหว่างธนาคารกว่า 6 พันล้านรายการ มูลค่ากว่า 23 ล้านล้านบาท

 

“NITMX เดินหน้าขยายขีดความสามารถของระบบให้สามารถรองรับปริมาณธุรกรรมดิจิทัลที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยภายในสิ้นปีนี้ NITMX มีแผนจะเพิ่มศักยภาพระบบให้สามารถรองรับการทำธุรกรรมได้สูงสุด 10,000 รายการต่อวินาที จากเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ 6,000 รายการต่อวินาที เพิ่มขึ้นกว่า 40 เท่าจากปี 2560 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มเปิดใช้ระบบพร้อมเพย์ ขณะที่จำนวนธุรกรรมสูงสุดในปัจจุบันอยู่ที่ 2,900 รายการต่อวินาที จึงมั่นใจได้ว่าระบบการชำระเงินของไทยภายใต้การพัฒนาของ NITMX มีประสิทธิภาพทั้งในด้านศักยภาพการรองรับธุรกรรม และความมีเสถียรภาพที่ทำให้การทำธุรกรรมเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย” ผยงกล่าว

 

ผยงกล่าวอีกว่า แผนพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นของ NITMX จะเป็นไปในทางเดียวกับทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินตามแนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยปัจจุบัน NITMX อยู่ระหว่างพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินและการชำระเงินดิจิทัลสำหรับภาคธุรกิจ หรือระบบ PromptBiz เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมการค้าให้เป็นดิจิทัลแบบครบวงจร โดยเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลการค้าและการชำระเงินของภาคธุรกิจผ่านผู้ให้บริการทางการเงิน และเชื่อมต่อกับระบบภาษีของภาครัฐ  

 

ประธานกรรมการ NITMX กล่าวว่า ระบบ PromptBiz จะเข้ามาช่วยแก้ Pain Point การทำธุรกิจแบบเดิมที่ยังใช้เอกสารกระดาษ มีต้นทุนสูง และมีโอกาสเกิดความผิดพลาดได้ง่าย เปิดโอกาสให้ธุรกิจขนาดใหญ่ช่วยเหลือคนตัวเล็กให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกลง พร้อมให้ความสำคัญกับมิติของความยั่งยืนผ่านการพัฒนาระบบการชำระเงินที่มีส่วนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ช่วยให้ภาคธุรกิจและภาคประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นบนต้นทุนที่เหมาะสม

 

ขณะเดียวกันระบบยังส่งเสริมให้เกิดการปล่อยสินเชื่อโดยอาศัยข้อมูล หรือ Information-Based Lending โดยนำข้อมูลทางเลือก (Alternative Data) มาใช้ในการพิจารณาให้สินเชื่อ เช่น ข้อมูลธุรกรรมการค้าซึ่งจะถูกเก็บเป็น Digital Footprint นับเป็นการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลใหม่ ที่จะช่วยให้การให้สินเชื่อกับผู้ประกอบการ SMEs มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างแท้จริง

 

รณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินที่ผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงได้และรองรับนวัตกรรมในโลกดิจิทัลจะเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนภาคการเงินเข้าสู่ยุค Digital Transformation โดย ธปท. สนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการแข่งขันและพัฒนาบริการทางการเงิน เพื่อให้ผู้ใช้บริการทุกกลุ่มได้รับบริการอย่างทั่วถึง และสนับสนุนการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างยั่งยืน

 

“แผนพัฒนาระบบการชำระเงินไทยในระยะ 3 ปีของ ธปท. จะดำเนินการภายใต้ 3 หลักการคือ Openness เปิดกว้าง, Inclusivity ครอบคลุม และ Resilency ยืดหยุ่น สำหรับ PromptBiz คาดว่าน่าจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาสหน้า” รณดลกล่าว 

 

วรรณา นพอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการ NITMX เปิดเผยว่า NITMX ได้กำหนดแผนธุรกิจในปี 2565 โดยมุ่งสร้างศักยภาพและเสถียรภาพการให้บริการระบบต่างๆ ให้สอดคล้องกับรูปแบบบริการทางการเงินในปัจจุบันและอนาคต พร้อมยกระดับศักยภาพ Next Generation Digital Infrastructure เพื่อเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินสนับสนุนการปรับเปลี่ยนเพื่อการขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัล รองรับแผนของ ธปท. ที่จะผลักดันให้เกิดประสิทธิภาพการชำระเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับภาคธุรกิจในโครงการ PromptBiz ควบคู่ไปกับการเพิ่มขีดความสามารถและเสถียรภาพโดยการขยายระบบรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้น  

 

“NITMX ยังศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงบริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพทางต้นทุนสูงสุดในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร รวมถึงสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน National Digital Trade Platform เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในเวทีการค้าโลก” วรรณากล่าว

 

สันติธาร เสถียรไทย ประธานทีมเศรษฐกิจ และกรรมการผู้จัดการใหญ่ Sea Group กล่าวว่า ปี 2565 ถือเป็นปีที่ท้าทายสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของโลกในปีนี้เริ่มชะลอตัวลงหลังจากเติบโตแบบก้าวกระโดดขึ้นมาในช่วงวิกฤตโควิด จนมีการเรียกภาวะที่เกิดขึ้นนี้ว่าเป็น Revenge of Old Economy หรือการแก้แค้นของเศรษฐกิจเก่า ที่คนหันมาทำกิจกรรมต่างๆ แบบออฟไลน์มากขึ้น

 

“คนกำลังตั้งคำถามว่าภาวะที่เกิดขึ้นนี้ลากยาวต่อไปหรือจะเป็นแค่ภาวะชั่วคราว โดยส่วนตัวยังมองว่าเป็นการย่อตัวลงแค่ชั่วคราว แต่เทรนด์ของเศรษฐกิจดิจิทัลในระยะยาวจะยังเติบโตได้ เพราะยังมีกลุ่มคนที่ยังเข้าไม่ถึงบริการเหล่านี้อีกเยอะมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา” สันติธารกล่าว

 

สันติธารกล่าวอีกว่า การพัฒนาระบบชำระเงินแบบดิจิทัลจะเป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้คนเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น โดยระบบการชำระเงินจะเปรียบเสมือนถนนที่ช่วยเชื่อมระหว่างเกาะต่างๆ หากถนนดีคนจะเดินทางไปที่เกาะได้มากขึ้น นำความเจริญไปสู่เกาะ เมื่อคนเดินทางเข้าเกาะเยอะ ถนนก็ต้องถูกขยาย วนเป็นลูปแบบนี้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X