×

พิษ ดอลลาร์ แข็งซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจ ฉุดโอกาสโตชาติกำลังพัฒนา เงินทุนสำรองทรุดหนัก

08.08.2022
  • LOADING...
เงินดอลลาร์สหรัฐ

แม้การแข็งค่าของสกุลเงิน ดอลลาร์ สหรัฐ จะมีข้อดีในแง่ที่ช่วยเพิ่มกำลังการบริโภคของนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันในการเดินทางไปต่างแดน หรือบริษัทนำเข้าในสหรัฐฯ สามารถนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบมาได้ในราคาถูก

 

แต่อย่างไรก็ตาม อานิสงส์แง่บวกที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญนิยามว่าเป็น ‘Dollar Smiles’ หรือรอยยิ้มของดอลลาร์ กลับทำให้แทบจะทุกประเทศทั่วโลกต้องกัดฟันปาดน้ำตา โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ไม่ใหญ่มากนัก

 

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าเกินครึ่งหนึ่งของการค้าระหว่างประเทศทั่วโลกในขณะนี้ ดำเนินการอยู่ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ซึ่งการใช้เงินดอลลาร์ที่ไม่ใช่ค่าเงินบ้านเกิดย่อมต้องมีต้นทุน ดังนั้น หากว่าเงินดอลลาร์แข็งเกินไป ต้นทุนที่ต้องใช้ย่อมมีมากตามไปด้วย

 

Manik Narain หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ข้ามสินทรัพย์สำหรับตลาดเกิดใหม่ของ UBS ได้ระบุเหตุผลหลัก 3 ประการที่ค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีเศรษฐกิจขนาดเล็กได้

 

ข้อแรก ทำให้การคลังของประเทศนั้นๆ อยู่ในสภาพตึงตัว โดย Narain อธิบายว่า ไม่ใช่ทุกประเทศที่มีความสามารถในการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างๆ ด้วยสกุลเงินของตนเอง เพราะยังไม่ได้รับความเชื่อถือที่มากพอจากนักลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้ประเทศนั้นๆ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องออกตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์ ดังนั้น เมื่อดอลลาร์แข็งค่าก็ย่อมทำให้ต้นทุนการชำระหนี้ของประเทศนั้นๆ แพงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้เงินกองทุนของรัฐบาลประเทศนั้นๆ อยู่ในสภาพตึงตัว ขณะที่บริษัทนำเข้า เช่น อาหาร ยา และพลังงาน ต้องจ่ายในราคาที่แพงขึ้น

 

ศรีลังกาถือเป็นประเทศตัวอย่างล่าสุดที่เห็นได้ชัดว่าได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศไหลออกไปอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่การเดินขบวนประท้วงแสดงความไม่พอใจในหมู่ชาวศรีลังกาทั่วประเทศ กดดันให้ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษา ลงจากตำแหน่งประธานาธิบดีในที่สุด

 

ข้อสอง คือ ปัญหาทุนไหลออก เกิดขึ้นเมื่อค่าเงินของประเทศอ่อนค่าลงอย่างมาก บรรดาผู้มีอันจะกิน บริษัท และนักลงทุนต่างชาติจะเริ่มถอนเงินของแต่ละคน เพื่อนำทรัพย์สินของตนไปเก็บไว้ในที่ที่ปลอดภัยกว่า นั่นทำให้ค่าเงินอ่อนค่าลง และทำให้ปัญหาทางการเงินรุนแรงขึ้น

 

ข้อสาม คือ มีผลกระทบต่อการเติบโตของบริษัท ซึ่ง Narain อธิบายว่า ถ้าบริษัทหนึ่งๆ ไม่สามารถจ่ายเงินนำเข้าสินค้าได้อย่างเต็มที่ ย่อมทำให้การผลิตชะลอตัวและยอดขายลดลงตามมา แม้ว่าความต้องการบริโภคสินค้าภายในประเทศจะมีความแข็งแกร่งมากแค่ไหนก็ตาม

 

วันเดียวกัน สถานีโทรทัศน์ CNBC ได้สรุปภาพรวมพฤติกรรมการรับประทานอาหารนอกบ้านของผู้บริโภคในสหรัฐฯ ที่พบแนวโน้มชะลอตัว คือ การใช้จ่ายที่ร้านอาหาร ภัตตาคาร และคาเฟ่ทั้งหลายของชาวอเมริกันกำลังปรับตัวลดลงเพราะวิกฤตเงินเฟ้อ ทำให้คนหันมาประหยัดอดออม

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของบรรดาผู้บริหารหรือเจ้าของกิจการร้านอาหาร กลับมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เพราะในขณะที่บริษัทหลายแห่งมียอดขายอาหารและเครื่องดื่มที่ลดลง แต่บางบริษัทอย่าง McDonald, Chipotle และ Starbucks กลับมียอดขายเพิ่มขึ้น โดยที่ผู้มีรายได้น้อยจะเข้าร้านอาหารน้อยลง ส่วนคนกระเป๋าหนักจะแวะไป ‘กิน’ หรือ ‘ดื่ม’ ที่ร้านอาหารเพิ่มมากขึ้น

 

นอกจากนี้ เงินเฟ้อยังทำให้บริษัทหลายแห่งต้องขึ้นราคาเมนูอาหารตามราคาต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น โดยในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา สิ้นสุดเมื่อเดือนมิถุนายน พบว่าราคาอาหารในขณะนี้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วถึง 7.7%

 

ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ต่างรอดูผลประกอบการของอีกหลายบริษัทที่จะมีการเปิดเผยออกมาในสัปดาห์นี้ เช่น Sweetgreen เครือร้านขายสลัด เป็นต้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X