Downsizing เป็นภาพยนตร์ที่ใครเห็นตัวอย่างแล้วก็ต้องอยากดู หรืออย่างน้อยก็ติดตาจนเอาไปพูดต่อ ด้วยคอนเซปต์แนวโลกอนาคต ด้วยการย่อส่วนมนุษย์ให้เหลือความสูงเพียง 10 เซนติเมตร เพื่อรักษาทั้งมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมบนโลกเอาไว้ให้อยู่ยั่งยืน แถมยังได้นักแสดงรางวัลออสการ์อย่าง แมตต์ เดมอน, คริสเตน วิก และคริสตอฟ วอลต์ซ ที่มีส่วนช่วยเพิ่มความน่าดูของหนังไปอีกเยอะ
Downsizing กำกับโดย อเล็กซานเดอร์ เพย์น (จาก Nebraska และ Sideways – จะว่าไปอารมณ์ที่เหมือนจะตลก แต่ไม่ตลกของ Sideways ก็ถูกเอามาใช้กับ Downsizing อยู่เหมือนกัน) เล่าเรื่องราวการย่อส่วนมนุษย์ให้ตัวเล็กจิ๋ว เพื่อช่วยให้ทรัพยากรบนโลกถูกใช้น้อยลง แก้ปัญหาประชากรล้นโลก และลดความเป็นไปได้ที่มนุษยชาติจะสูญพันธุ์
Downsizing ดำเนินเรื่องโดยชายหนุ่มวัยกลางคน ‘พอล ซาฟราเนก’ (แมตต์ เดมอน) ที่ตัดสินใจครั้งใหญ่ไปย่อส่วนตัวเองร่วมกับภรรยา ออเดรย์ (คริสเตน วิก) โดยหวังว่าชีวิตอันแสนธรรมดา เงินไม่พอใช้ บ้านหลังเล็ก งานเดิมๆ ของตัวเองจะเปลี่ยนแปลงไป ในที่สุดเขาจะได้เป็นส่วนหนึ่งของการทำอะไรที่ยิ่งใหญ่และสำคัญต่อโลกสักที แต่การเข้าไปอยู่ในโลกคนตัวจิ๋วที่ผ่านการย่อส่วนมาแล้วมันก็ไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด เขาต้องไปเจอกับเพื่อนบ้านชอบปาร์ตี้ ดูซาน เมอร์โควิค (คริสตอฟ วอลต์ซ) และคอนราด (อูโด เคียร์) หุ้นส่วนธุรกิจของเขา ซึ่งทั้งสองทำให้พอลรู้จักกับ ง็อคลานทราน สาวผู้อพยพจากเวียดนามแล้วมาเป็นแม่บ้านของดูซาน
Downsizing ใช้เทรลเลอร์หนังฟีลกู๊ด ตลก มีกิมมิก มีคอนเซปต์ มาฉาบหน้าเนื้อหาจริงๆ ของหนังไว้อย่างแนบเนียน คนดูที่เข้าไปเพื่อหวังว่าจะไปดูหนังชิลล์ๆ เพลินกับโลกคนตัวจิ๋วในจินตนาการของผู้กำกับ อาจจะมีเหวอสักเล็กน้อย
ช่วงแรกของหนังถูกเล่ามาแบบที่คาดการณ์ไว้แล้วหน่อยๆ จนมีจังหวะที่เฉื่อยไปบ้าง และลังเลว่าหนังเรื่องนี้จะใช้กิมมิกโลกคนตัวจิ๋วไปรอดจนจบรึเปล่า แต่พอเข้าสู่ช่วงกลางจนถึงปลายเรื่อง ภาพของภาพยนตร์ตลกฟีลกู๊ดที่คิดไว้ก็หายไปทีละนิดๆ และค่อยๆ เผยที่ประเด็นอื่นของภาพยนตร์ อย่างการกอบกู้ช่วยเหลือโลก มันคือการช่วยชีวิตตัวเองรึเปล่า และความแตกต่างระหว่างการ ‘ช่วยเหลือมนุษยชาติ’ และ ‘การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์’ ที่จริงๆ แล้วมันต่างกันลิบลับ
พาร์ตนี้อาจจะ Spoiler Alert นิดๆ แต่ในพาร์ตหลังของหนัง พอล ต้องเลือกระหว่างการเอาชีวิตรอด ย้ายไปอยู่ในที่หลบภัยเพื่อสร้างกลุ่มสังคมและรักษาเผ่าพันธุ์มนุษยชาติเอาไว้ (เพราะมนุษย์บนโลกกำลังจะสูญพันธ์ุ) กับการอยู่ที่เดิมกับเพื่อนๆ ของเขาที่มองไม่เห็นความจำเป็นของสิ่งนั้น และเลือกที่จะอยู่กับปัจจุบัน ช่วยเหลือคนกันเองมากกว่า การตัดสินใจของพอลเหมือนการเอาทางเลือกของเราๆ มาย่อยให้เป็น 2 ทาง ก.ไก่ ข.ไข่ แบบง่ายๆ ถ้าเทียบกันแล้วมันเหมือนกับการแบ่งคนเป็นกรุ๊ป ก.ไก่ ที่เลือกที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และกรุ๊ป ข.ไข่ ที่เลือกจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ คนจรจัด คนที่ถูกลืมในสังคม ว่าคนคนหนึ่งให้ความสำคัญกับอะไรมากกว่า โลกร้อน? น้ำแข็งละลาย? คนอดอยาก? คนไร้บ้าน? หรือจริงๆ แล้วทางเลือกเหล่านั้นเป็นข้ออ้างให้คุณให้ความสำคัญกับตัวเองแบบไม่น่าเกลียดกันแน่
อเล็กซานเดอร์ เพย์น กล่าวว่าเขาต้องการทำภาพยนตร์เรื่องนี้แบบรวมประเด็นทั้งเรื่องชนชั้นในอเมริกา เสียดสีการเมือง และมุมมองการใช้ชีวิตของมนุษย์ เอามารวมกันหมด ซึ่งคนดูก็รู้สึกได้แบบนั้นจริงๆ แต่ถ้าใครโหยหาหนังตลกก็อย่าเพิ่งเปลี่ยนใจ เพราะ Downsizing ก็สามารถสร้างเสียงหัวเราะให้คุณได้จริงๆ ถึงแม้จะไม่ใช่แบบที่คิดเอาไว้ (หรือจากนักแสดงที่คุณคิดเอาไว้) แต่จากการนั่งดู Downsizing ในโรงภาพยนตร์ขนาดใหญ่ที่คนเต็มโรง เราก็ได้ยินเสียงหัวเราะดังลั่นจากคนรอบตัวในหลายๆ ฉาก จนถึงตอนจบ Downsizing ก็จบลงแบบฟีลกู๊ดอยู่ดี
Downsizing เป็นภาพยนตร์ที่ใช้งบในการถ่ายทำสูงที่สุดตั้งแต่ อเล็กซานเดอร์ เพย์น เคยกำกับมา (68 ล้านเหรียญสหรัฐ) อาจจะเป็นเพราะนักแสดงตัวเบ้งๆ ทั้งนั้น และอยากปรบมือให้กับการตัดสินใจเลือก คริสตอฟ วอลต์ซ มารับบท ดูซาน เมอร์โควิค เพราะจังหวะแอ็กติ้ง และคาแรกเตอร์ของเขาที่ทำให้หนังเท่ขึ้น และสนุกขึ้นเป็นกอง แต่บัดเจ็ตหลักๆ น่าจะมาจากเทคนิคดิจิทัลเอฟเฟกต์ต่างๆ ที่ต้องใช้ในเรื่อง และเราเองก็สัมผัสได้ถึงดีเทลที่น่าประทับใจ แม้จะสามารถถ่ายจากห้องปกติ โลกปกติแทนได้ แต่ฉากในโลกคนตัวจิ๋วก็มักจะมีเอเลเมนต์สที่คอยเตือนสติคนดูอยู่ตลอดว่านี่มันโลกย่อส่วนนะ เห็นไหมว่าสัดส่วนเฟอร์นิเจอร์จะแปลกๆ หน่อย หลอดไฟจิ๋วยังผลิตได้ไม่หลากหลายมาก ดอกไม้ของจริงก็สเกลใหญ่เหมือนโลกจริงๆ อยู่ ซึ่งดูแล้วก็ชื่นชมทีมกำกับภาพ และทีมดีไซน์ของภาพยนตร์จริงๆ
Downsizing ได้รีวิวจากต่างประเทศที่ต่างมุมมองกันพอสมควร คนที่ชอบก็มี แต่คนไม่ชอบก็มีเยอะอยู่ ด้วยประเด็นรักษ์โลกที่ทำให้คนไขว้เขวจากหน้าหนังตอนแรก อาจจะทำให้หลายๆ คนผิดหวังออกจากโรง อย่างไรก็ตาม Downsizing ก็เป็นหนึ่งภาพยนตร์ที่ ‘ควรดู’ สักครั้ง แค่เข้าไปหัวเราะกับมุกตลก และเอ็นจอยกับตอนจบที่ฟีลกู๊ดก่อน แล้วค่อยตัดสินใจว่าหนังคนตัวเล็กเรื่องนี้ มันพูดประเด็นใหญ่ไปสำหรับคุณรึเปล่า