“คุณค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน” เชื่อว่าคำพูดนี้เป็นแรงกระตุ้นให้คนในวัยทำงานมหาศาลที่ต่างมุมานะทำงานหามรุ่งหามค่ำสร้าง ‘ผลงาน’ ที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงคุณค่าของมนุษย์คนหนึ่ง แต่ทางการแพทย์แล้ว ความเครียดและการอยู่กับที่เป็นเวลานานๆ เป็นผลเสียต่อร่างกาย แต่ถึงกระนั้นเราก็ยังคงง่วนอยู่กับการสร้างผลงานเช่นเดิม ถึงเวลาที่เราจะปรับความคิดกันแล้วหรือยัง
ทันทีที่นักศึกษาฝึกงานหน้าใหม่ตาเป็นประกายกลุ่มหนึ่งเดินทางมาถึงธนาคารบาร์เคลย์ส (Barclays) ในกรุงนิวยอร์ก พวกเขาได้รับกล่องต้อนรับจากหัวหน้างานที่ดูแล โดยในกล่องมีข้อความเขียนเอาไว้ว่า “ยินดีต้อนรับสู่ป่าใหญ่” ต่อด้วยคำแนะนำว่า “แนะให้พกหมอนนอนมาออฟฟิศด้วย เพราะทำให้การนอนใต้โต๊ะง่ายขึ้น และการฝึกงานนี้ใช้เวลาทั้งหมด 9 สัปดาห์ที่ต้องอุทิศให้กับงานอย่างเต็มที่ ครั้งหนึ่งเคยมีเด็กฝึกงานขออนุญาตลาไปงานรวมญาติช่วงสุดสัปดาห์ แน่นอนว่าเขาได้รับอนุมัติ แค่ต้องแลกมาด้วยการคืนเครื่องแบล็กเบอร์รีและแพ็กของกลับบ้านไปทั้งหมดเท่านั้นเอง”
แม้เรื่องราวข้างต้นจะฟังดูราวกับคุณกำลังอ่านสคริปต์หนังเรื่อง The Devil Wears Prada (2006) อย่างไรอย่างนั้น และแท้จริงแล้วเป็นเพียงมุกตลกของหัวหน้างานต่อเด็กฝึกงาน แต่ไม่มีใครสักคนมองว่าน่าขันเมื่อถูกนำมาออกสื่อ และความทรงจำนี้คงยังสดใหม่ราวกับเพิ่งเกิดขึ้นสำหรับ มอริตซ์ แอร์ฮาร์ดต์ (Moritz Erhardt) นักศึกษาฝึกงานวัย 21 ปี จากลอนดอน ที่เสียชีวิตจากการทำงานติดต่อกัน 72 ชั่วโมงที่แบงก์ออฟอเมริกา (Bank of America) เมื่อปี 2013
ระบบแนวคิดระเบียบแบบเสรีนิยมนี้ปฏิบัติต่อๆ กันมากว่า 30 ปีแล้ว การทำงานแบบตอกบัตรเข้าออกนี้จะว่าไปราวกับเป็นแผ่นจารึกที่คงความคร่ำครึของระบบไว้ไม่เคยเสื่อมสักนิด ความเครียดของการทำงานที่ทวีคูณขึ้นบวกกับการทำงานล่วงเวลาเริ่มกลายเป็นวัฒนธรรมของหลายองค์กรที่ต้องก้มหน้าปฏิบัติตาม กระทั่งมองเป็นเรื่องน่านับถือเชิดชู (“พี่ยังไม่กลับ น้องจะกลับไม่ได้นะคะ” ฟังดูคุ้นๆ ไหม?)
ทุกสิ่งอย่างที่เราทำนอกเวลางานกลายเป็นเครื่องมือที่หวังให้เรามีความสุขขึ้นจากความเครียดที่ถาโถมขึ้นทุกวันจากงาน งานอดิเรกหรือการนอนตีพุงอยู่กับบ้านเริ่มแลดูเป็นความเกียจคร้านขึ้นมาเสียอย่างนั้น จนทำให้เรารู้สึกว่าต้องคิดเรื่องงานล่วงหน้าเพื่อการวางแผนที่ดีขึ้น นี่คืออิทธิพลของการทำงานอย่างหนักที่ทำให้สมองไม่หยุดแล่นคิดเรื่องเกี่ยวกับงาน
ปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีฉลาดล้ำมากมายที่ถูกคิดค้นขึ้นมาให้ชีวิตประจำวันของพวกเราง่ายขึ้น แต่ไฉนคนเรากลับทำงานหนักยิ่งกว่าเก่าล่ะ? ในปี 2002 มีลูกจ้างน้อยกว่า 10% ที่เช็กอีเมลนอกเวลาทำงาน ทุกวันนี้ในปี 2017 ด้วยความอัจฉริยะของแท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือ ทำให้จำนวนลูกจ้างที่เช็กอีเมลในเวลาส่วนตัวเพิ่มขึ้นเป็น 50% โดยเวลาที่พีกที่สุดคือช่วงเวลาก่อนลุกจากเตียง
Illustration by Peter Arkle
มีผู้สังเกตว่าปัจจุบันคนทำงานไม่มีทางปิดโหมดการทำงานได้อย่างจริงจัง เหตุเพราะเราเพียงกดโหมดกลางคืนหรือปิดเสียงโทรศัพท์มือถือไว้ก่อนนอนเท่านั้น ไม่ได้ปิดการติดต่อสื่อสารใดๆ จริงจัง จนทำให้คนทำงานโหยหาวันหยุดยาวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งโชคดีที่ในประเทศที่เศรษฐกิจรุ่งเรืองที่สุดอย่างอเมริกา พนักงานยังสามารถลาได้ถึง 2 สัปดาห์ต่อปีเป็นอย่างต่ำ ต่างกับในอีกหลายประเทศที่พนักงานลาติดต่อกันได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์
อาจเป็นเรื่องโชคดีอีกอย่างที่ปัจจุบันผู้คนพูดถึงโรคจากการทำงานกันมากขึ้น บวกกับการทำงานหนักในหลายกรณีที่นำไปสู่โรคซึมเศร้า ไปจนถึงอัตราการฆ่าตัวตายที่เพิ่มสูงขึ้นในประเทศที่การโหมงานหนักเป็นวัฒนธรรมในสังคมนั้นๆ อย่างเกาหลี หรือญี่ปุ่น ที่ทำให้คนเล็งเห็นถึงอันตรายของการทำงานอย่างหนักมากขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อเร็วๆ นี้ กลุ่มนักวิจัยมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เมดิคัล เซ็นเตอร์ (Columbia University Medical Center) ใช้เครื่องตรวจจับการทำกิจกรรมต่างๆ ของคนทำงานจำนวน 8,000 คนในช่วงอายุ 45 ปีขึ้นไป ผลที่ได้รับนั้นทำให้พวกเขาประหลาดใจ ช่วงเวลาโดยเฉลี่ยของการอยู่นิ่งๆ ระหว่างวันทำงานนั้นอยู่ที่ 12.3 ชั่วโมงต่อวัน ในขณะที่พนักงานที่ไม่ได้เคลื่อนไหวเกินกว่า 13 ชั่วโมงต่อวันมีแนวโน้มจะเสียชีวิตก่อนเวลาอันควรมากกว่าผู้ที่อยู่เฉยๆ เป็นเวลา 11.5 ชั่วโมงถึง 2 เท่า โดยผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ชี้แจงถึงผลที่ได้ว่า การนั่งทำงานในออฟฟิศเป็นระยะเวลานานส่งผลกระทบที่อันตรายใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่
ในขณะที่นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (University College London) ศึกษาลูกจ้างจำนวน 85,000 คนที่อยู่ในวัยกลางคนทั้งชายและหญิง และพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างการทำงานหนักเกินไปกับปัญหาหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะอาการหัวใจเต้นผิดปกติ หรือภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation หรือ AF) ที่เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเส้นเลือดอุดตันในสมองถึง 5 เท่า
สหภาพแรงงานทั่วโลกเองก็เริ่มตื่นตัวกับปัญหาการหักโหมงานที่มากเกินไปเช่นกัน อย่างในประเทศเยอรมนี ที่สหภาพแรงงาน หรือ IG Metall ต้องรับมือกับการประท้วงของคนงานราว 15,000 คน (ที่ทำหน้าที่ผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ให้กับรถ Porsche) คนงานเรียกร้องให้ลดการทำงานเป็น 28 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยคงค่าจ้างเดิม ซึ่งผู้ประท้วงเผยถึงสาเหตุที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องว่าหาใช่เพราะความขี้เกียจ แต่เป็นการปกป้องสิทธิ์ของตนในการมีชีวิตจนถึงวัยอันควรอันเป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์สนับสนุน จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยออสเตรเลียน เนชันแนล (Australian National University) พบว่า การทำงานนานกว่า 39 ชั่วโมงต่อสัปดาห์มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ
แต่เราจะทำงานโดยรักษาสุขภาพที่ดีเอาไว้ได้ไหม? อเล็กซ์ ซูจุง-คิม ปัง (Alex Soojung-Kim Pang) นักวิจัยชาวอเมริกัน กล่าวในหนังสือ Rest: Why You Get More Done When You Work Less ว่าคนทำงานยุคใหม่จะทำงานได้ดีและมีประสิทธิภาพที่สุดราวๆ 4 ชั่วโมงต่อวัน จากนั้นสมาธิจะเริ่มคิดไปที่เรื่องอื่นและเริ่มวิตกกังวล เขายังแย้งอีกว่าแท้จริงแล้วเราสามารถปรับการทำงานเพื่อมาตรฐานการใช้ชีวิตที่ดีควบคู่ไปกับการเงินที่มั่นคงได้
งานศึกษาอื่นๆ ยังสนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ อาทิ รัฐบาลสวีเดนที่ออกเงินทดลองให้พยาบาลดูแลผู้สูงอายุที่บ้านพักคนชราทำงาน 6 ชั่วโมงต่อวันโดยได้ค่าจ้างเทียบเท่ากับ 8 ชั่วโมง ผลที่ได้รับคือการขอลาป่วยที่น้อยลง ความเครียดลดลง และการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่ทั้งนี้ ทั้งหมดทั้งมวลของการศึกษาและกล่าวอ้างข้างต้นมุ่งเน้นไปที่ปัญหาและตัวเลขจำนวนชั่วโมงทำงานเป็นหลัก บางทีเราอาจต้องมองไปไกลกว่านั้นถึงเงื่อนไขของการว่าจ้างงานนั้นๆ หากหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมีความเครียดและแรงกดดันสูง แม้จะเป็นเพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมงก็อาจกลายเป็นฝันร้ายได้ แม้กระทั่งคนที่ชอบศึกษาเรื่องรถเป็นงานอดิเรก ที่หากต้องทำงานเกี่ยวกับรถในบริษัทใหญ่ที่บรรยากาศไม่เอื้อแก่การทำงานก็อาจโดนดูดพลังงานความสร้างสรรค์ออกไปได้ แทนที่จะรู้สึกสนุกกับงาน กลับกลายเป็นว่านั่นคือหน้าที่ต้องทำที่น่าเอือมระอาเช่นกัน
แต่รายละเอียดของงานสำคัญกว่าความยาวนานของการทำงานอย่างไรล่ะ ก็เพราะว่าแม้จะลดชั่วโมงการทำงานลงก็อาจไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเท่าใดนัก ตราบใดที่จำนวนงานยังคงมหาศาล แต่ต้องทำในเวลาที่สั้นลงนั่นเอง และถ้าอยากทำงานให้ออกมาดี มีประสิทธิภาพ โดยสุขภาพจิตและสุขภาพกายยังคงดีอยู่ ปริมาณงานจำต้องลดลงตามไปด้วย เช่นเดียวกับลักษณะของงานที่ต้องเปลี่ยน แบ่งปันหน้าที่ความรับผิดชอบให้ลดลงบ้าง เพิ่มความหลากหลายของลักษณะงาน และเป็นงานที่มีความหมายต่อองค์กรด้วย
น่าเสียดายที่ทุนนิยมอาจไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างงานเพื่อให้คนมีสุขภาพที่ดี ทั้งยังสร้างทัศนคติกดดันว่าค่าของคนอยู่ที่ผลของงานขึ้นมา มีผลสำรวจที่จัดทำโดย YouGov เผยว่า ลูกจ้างกว่า 1 ใน 3 ของอังกฤษมองว่างานของพวกเขาไร้ความหมาย เมื่อทัศนคติที่มองติดลบดังว่า ไม่ว่าพวกเขาจะได้รับส่วนลดเข้าฟิตเนสกี่ใบ หรือผลไม้ออร์แกนิกกี่ตะกร้าที่นายยกให้ก็ไม่มีผลอะไร แม้กระทั่งลูกจ้างที่อุทิศตนที่สุดให้กับงานก็ยังรู้สึกว่ามีบางอย่างที่ขาดหายไป
ชีวิตนั่นเอง
บทความที่เกี่ยวข้อง
- รู้จักเทคนิคสู้กับภาวะหมดไฟได้ที่นี่
- Burnout Syndrome ไม่ใช่โรคซึมเศร้า แต่เป็นภาวะหมดไฟในงาน ที่ทำให้คุณหมดใจ คล้ายๆ จะหมดแรง
อ้างอิง:
- www.bls.gov/news.release/ebs.t05.htm
- www.theguardian.com/books/2014/jul/22/24-7-late-capitalism-ends-sleep-jonathan-crary-review
- www.dissentmagazine.org/article/coping-economy-mindfulness-goes-corporate
- www.theguardian.com/science/2017/jul/14/long-working-days-can-cause-heart-problems-study-says
- www.abc.net.au/radionational/programs/healthreport/workplace-stress-unhealthy-secondhand-smoke-pfeffer/6927786
- www.theguardian.com/lifeandstyle/2018/jan/15/is-28-hours-ideal-working-week-for-healthy-life?CMP=fb_gu
- www.anu.edu.au/news/all-news/a-healthy-work-limit-is-39-hours-per-week
- www.bloomberg.com/news/articles/2016-05-10/the-six-hour-workday-works-in-europe-what-about-america?utm_source=feedly&utm_medium=webfeeds
- www.theguardian.com/business/2013/nov/22/moritz-erhardt-merrill-lynch-intern-dead-inquest
- annals.org/aim/article-abstract/2653704/patterns-sedentary-behavior-mortality-u-s-middle-aged-older-adults
- Peter Fleming. (2017) The Death of Homo Economicus: Work, Debt and the Myth of Endless Accumulation. London : Pluto Press
- Alex Soojung-Kim Pang, Ph.D. (2016) Rest: Why You Get More Done When You Work Less. New York : Basic Books