หลายคนน่าจะเคยเช็กสุขภาพประจำปีกันแล้ว วันนี้ THE STANDARD จะพา กทม. ไปเช็กสุขภาพกันบ้าง
ทั้งวัดความดันโลหิต วัดรอบเอว เจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาลและไขมัน แต่ถ้ายังไม่ได้อดอาหารหลังเที่ยงคืนมาก็ไม่เป็นไร เพราะเราอ้างอิงจากผลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 โดยมหาวิทยาลัยมหิดล และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งสุ่มสำรวจประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไปในกรุงเทพมหานคร 12 เขต จำนวน 2,640 คน
พบว่าทุกๆ 10 คน จะมีภาวะคอเลสเตอรอลสูง 7 คน ภาวะอ้วนลงพุง 6 คน โรคความดันในเลือดสูง 3 คน ภาวะเสี่ยงเบาหวานหรือเป็นโรคเบาหวานอย่างละ 1 คน ตัวเลขนี้มากหรือน้อยแค่ไหนอาจเทียบกับผลสำรวจทั้งประเทศเกือบ 24,000 คน เป็นดังนี้
- โรคความดันโลหิตสูง ใน กทม. 27.2% เทียบกับภาพรวมประเทศ 25.4%
- ภาวะอ้วนลงพุง ใน กทม. 56.1% เทียบกับภาพรวมประเทศ 39.4%
- โรคเบาหวาน ใน กทม. 12.5% เทียบกับภาพรวมประเทศ 9.5%
- ภาวะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ใน กทม. 13.2% เทียบกับภาพรวมประเทศ 10.7%
- ภาวะคอเลสเตอรอลสูง ใน กทม. 66.4% เทียบกับภาพรวมประเทศ 56.8%
เท่ากับว่าคน กทม. ป่วย / มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคไม่ติดต่อ (Noncommunicable diseases: NCDs) สูงกว่าคนทั้งประเทศ หากไม่ได้รับการวินิจฉัย การรักษา หรือควบคุมไม่ดีก็จะนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมา ซึ่งเมื่อนั้นคน กทม. ก็จะมีคุณภาพชีวิตแย่ลง ส่วน กทม. ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เพิ่มขึ้น
สาเหตุของโรคไม่ติดต่อ ส่วนหนึ่งมาจากกรรมพันธุ์ และอีกส่วนหนึ่งมาจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ (ความเครียด) รวมถึงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ แน่นอนว่าเหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมส่วนบุคคล แต่สภาพสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมภายในมหานครแห่งนี้ก็ส่งผลต่อพฤติกรรม และโรค / ภาวะเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เช็กสุขภาพรอบหน้า เราจะมาดูกันว่าคน กทม. มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่ออย่างไร และผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. แต่ละท่านมีนโยบายด้านสุขภาพอะไรบ้าง
หมายเหตุ:
- ภาวะอ้วนลงพุง หมายถึง ความยาวเส้นรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตรในผู้ชาย และ 80 เซนติเมตรในผู้หญิง
- ภาวะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน หมายถึง ภาวะบกพร่องของน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (Impaired fasting glucose)
- ภาวะคอเลสเตอรอลสูง หมายถึง ระดับคอเลสเตอรอลรวมมากกว่า 200 มก./ดล.
ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา
อ้างอิง:
- การสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562-2563 https://www.hsri.or.th/media/printed-matter/detail/13443