×

BJC – ตั้งเป้าเติบโตภายใต้แผน 5 ปี ด้วยเป้ายอดขายเติบโตเฉลี่ย 11-16% ต่อปี สู่ 2.7 แสนล้านบาท

29.03.2022
  • LOADING...
BJC – ตั้งเป้าเติบโตภายใต้แผน 5 ปี ด้วยเป้ายอดขายเติบโตเฉลี่ย 11-16% ต่อปี สู่ 2.7 แสนล้านบาท

เกิดอะไรขึ้น:

บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) เปิดแผน 5 ปี โดยในปี 2565-2569 บริษัทตั้งเป้ายอดขายเติบโตเฉลี่ย 11-16% ต่อปี สู่ 2.7 แสนล้านบาท ในปี 2569 โดยได้รับการสนับสนุนจากทุกกลุ่มธุรกิจ และวางงบลงทุนไว้ที่ 6-7 หมื่นล้านบาท (หรือเฉลี่ย 1.2-1.4 หมื่นล้านบาทต่อปี)

 

กลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางการค้าปลีกสมัยใหม่ (MSC) บริษัทตั้งเป้ายอดขายผ่าน Omni Channel เพิ่มขึ้นสู่ 10-13% ของยอดขายกลุ่มในปี 2569 จาก 3% ในปี 2564 โดยได้รับการสนับสนุนจากแอปพลิเคชัน Big C ความร่วมมือกับแพลตฟอร์ม E-Marketplace และ Quick Commerce (เช่น Shopee, Lazada, GrabMart) และ Social Commerce (Chat & Shop ผ่าน Line ในประเทศไทยและกัมพูชา, WhatsApp ในสปป.ลาว, WeChat และ Facebook Live)

 

การขยายสาขา บริษัทตั้งเป้าเร่งขยายสาขาจนถึงปี 2569 โดยในประเทศไทย บริษัทตั้งเป้าขยายร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตเป็น 160 สาขา ร้าน Mini Big C เป็น 2,853 สาขา และร้านซูเปอร์มาร์เก็ต 84 สาขา สำหรับร้านค้าในต่างประเทศที่เป็นของบริษัท BJC วางแผนดำเนินงานร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 6 สาขา (เทียบกับ 1 สาขาในปี 2564) และร้าน Mini Big C 276 สาขา (เทียบกับ 1 สาขาในปี 2564) ในกัมพูชา และร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 2 สาขา ในสปป.ลาว

 

สำหรับร้านค้าในต่างประเทศของพันธมิตร บริษัทตั้งเป้าบันทึกค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและค่าธรรมเนียมการจัดการจากร้าน  Mini Big C 245 สาขาในสปป.ลาว (เทียบกับ 57 สาขาในปี 2564) และร้าน Mega Market (MM) ทุกรูปแบบ 113 สาขา ในเวียดนาม (เทียบกับ 25 สาขาในปี 2564) BJC อาจเสนอซื้อกิจการของ MM ในอนาคต

 

การปรับปรุงสาขา บริษัทตั้งเป้าปรับปรุงร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 90 สาขา ภายในปี 2569 (ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 20 สาขาในปี 2565) โดยจะปรับปรุงร้านค้าให้ทันสมัยและปรับปรุงการจัดวางสินค้า เช่น อาหารสด และปรับพื้นที่เช่าและพื้นที่ค้าปลีกให้เหมาะสม ในปี 2565 บริษัทวางแผนเปลี่ยนร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต 1 สาขาในรัชดา เป็น Big C Place ตามคอนเซปต์ใหม่ โดยจะอัปเกรดตำแหน่งร้านค้าขึ้นเป็นร้านค้าสำหรับลูกค้าที่มีรายได้สูงขึ้นและอายุน้อยลง โดยจะนำแผนนี้ไปใช้กับร้านไฮเปอร์มาร์เก็ตบางแห่งในกรุงเทพฯ

 

ส่วนธุรกิจใหม่ การค้าส่งรูปแบบใหม่ ในปี 2564 บริษัทได้เปลี่ยนร้าน Big C Market 2 สาขาในกรุงเทพฯ เป็นร้าน MM Food Service ซึ่งเน้นลูกค้ากลุ่ม HoReCa และขายสินค้ากลุ่มอาหารสดและอาหารแห้งเป็นหลัก โดยอยู่ระหว่างการศึกษาแผนขยายสาขาตามคอนเซปต์นี้ สำหรับรูปแบบความร่วมมือใหม่ ตั้งแต่ปี 2564 บริษัทได้ร่วมมือกับร้านค้าแบบดั้งเดิม (ปรับปรุงร้านค้าของเจ้าของร้านให้ทันสมัย) ซึ่งมีโอกาสทางการตลาดสูงในการสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านโดยตรงจากกลุ่มธุรกิจ MSC โดยใช้ชื่อว่า ‘ร้านโดนใจ’ ในประเทศไทย (ปัจจุบันมี 500 สาขา) และ ‘Gia Tot’ ในเวียดนาม (เปิดสาขาแรกในเดือนมีนาคม) 

 

ด้านยอดขายสินค้า Private Brand บริษัทตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 5 หมื่นล้านบาท ในปี 2569 (25% ของยอดขายกลุ่มธุรกิจ MSC) จาก 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 (11% ของยอดขายกลุ่มธุรกิจ MSC) ซึ่ง BJC จะกลายเป็นบริษัทจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทยภายใต้แบรนด์ของ Big C เองในปี 2569

 

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอื่นๆ บริษัทจะมุ่งเน้น 

 

  1. ในกลุ่มธุรกิจสินค้าและบริการทางบรรจุภัณฑ์ (PSC) ขยายกำลังการผลิต (เพิ่มกำลังการผลิตขวดแก้ว 10% ในปี 2568) พร้อมกับออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่ม เช่น กระป๋องแบบ Slim และขวดแก้วน้ำหนักเบา 

 

  1. ในกลุ่มสินค้าและบริการทางอุปโภคบริโภค (CSC) ขยายกำลังการผลิต (โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร) พร้อมกับออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่ม และวางแผนนำบริษัท One Vietnam (ผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย ผู้ค้าส่งและค้าปลีกในเวียดนาม) จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในเวียดนาม 

 

  1. ในกลุ่มสินค้าและบริการทางเวชภัณฑ์และทางเทคนิค (H&TSC) นำเสนอแพลตฟอร์มสุขภาพดิจิทัล และ Medical Home & Preventive Care

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้น BJC ปรับเพิ่มขึ้น 5.97%MoM สู่ระดับ 35.50 บาท ขณะที่ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.29%MoM สู่ระดับ 1,690.02 จุด

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS ประเมินผลประกอบการด้วยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นและฐานต่ำ ยอดขายสาขาเดิม (SSS) ใน 1Q65TD จึงพลิกกลับมาเติบโตเป็นตัวเลขหลักเดียวระดับกลาง YoY โดยเพิ่มขึ้น YoY เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ 1Q62 ทำให้คาดว่ากำไรปกติ 1Q65 จะเพิ่มขึ้น YoY จากยอดขายที่ดีขึ้น แต่จะลดลง QoQ จากผลกระทบทางฤดูกาล

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS คาดว่ากำไรปกติปี 2565 จะเติบโต 28%YoY โดย SSS และรายได้ค่าเช่าจะฟื้นตัวจากฐานต่ำที่มีสาเหตุมาจากกำลังซื้อที่อ่อนแอและคำสั่งล็อกดาวน์ นอกจากนี้ผลประกอบการยังได้รับการสนับสนุนจากการกลับมาดำเนินกิจกรรม การเดินทางภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสนับสนุน SSS และรายได้ค่าเช่าจะฟื้นตัวเมื่อ BJC ลดการให้ส่วนลด/ยกเว้นค่าเช่าแก่ผู้เช่าหลังจากรัฐบาลยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X