การทำลายพื้นที่เขาน้อย-เขาแดง เพื่อประโยชน์ของนายทุนและนักการเมืองท้องถิ่นในครั้งนี้ ถือว่าเป็นการสร้างบาดแผลทางใจให้กับสงขลามากทีเดียว เป็นที่ชัดเจนว่าสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ภูมิทัศน์ ถูกทำลาย โบราณสถานได้รับผลกระทบ จนน่ากังวลต่อการพังทลาย
ดินลูกรังที่ถูกตักไปขายเป็นจำนวนมากมายมหาศาล เท่าที่ประเมินกว่า 25 ล้านบาท เงินไปเข้ากระเป๋าใคร ยังเป็นปริศนาต่อสังคมภายนอก แต่เข้าใจได้สำหรับคนภายใน
บทความที่เกี่ยวข้อง
- บุกรุกเขาน้อย-เขาแดง คือความพินาศของภูมิวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา
- มรดกโลกแก่งกระจาน: การเมืองของคำศัพท์ แค่เลี่ยงบาลีไม่ใช้คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ก็ได้มรดกโลก
ชาวสงขลาหลายคนที่ผมรู้จักต่างลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบผลกระทบ เรียกร้องความถูกต้องอย่างไม่เกรงกลัวกับอำนาจและอิทธิพล เพื่อไม่ให้เขาน้อย-เขาแดงถูกทำลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ และต้องได้รับการแก้ไขโดยเร็ว
เสียงคนในพื้นที่มักไม่ดังพอ ไม่ใช่ว่าเขาไม่เห็นด้วย แต่สังคมแบบไทยๆ เป็นสังคมมาเฟีย สังคมระบบอุปถัมภ์ ไม่ค่อยเห็นกับประโยชน์สาธารณะ บทความนี้จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าให้เห็นเสียงของคนภายในสงขลา และข้าราชการน้ำดี ที่กำลังเผชิญกับอำนาจแบบไทยๆ และชี้ให้เห็นคุณค่าของการอนุรักษ์แหล่งทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ
ความน่าอาย
“ผมรู้สึกอายที่เขาแดงถูกทำลาย มันมองเห็นได้จากศาลากลางจังหวัด มันมากเกินไป” เป็นคำพูดของ บรรจง นะแส ผู้ทำงานด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่มีบทบาทสูงต่อการเคลื่อนไหว เรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาการทำลายหัวเขาแดง ถึงขนาดที่มีนักการเมืองท้องถิ่นที่วันนี้ขยับขึ้นเป็นนักการเมืองระดับชาติของพรรคเก่าแก่บางคนฟ้องร้องเขาในข้อหาหมิ่นประมาท
บรรจงเป็นคนตระกูลเก่าของคนสงขลาที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงในสมัยอยุธยาตอนปลาย ตระกูลทางฝ่ายแม่แซ่เฮ่า (ต่อมาเปลี่ยนเป็น ณ สงขลา) เป็นจีนชาวฮกเกี้ยน อาศัยกันอยู่แถบเขาน้อย บรรพบุรุษช่วยรบปกป้องเมืองสงขลาและช่วยสร้างเมือง ทำให้บรรจงมีความผูกพันต่อพื้นที่และโบราณสถาน ในมุมมองของท่านมองว่า “โบราณสถานบ่งบอกถึงพัฒนาการของชุมชนและสังคม เป็นอารยธรรมของมนุษยชาติ ทำให้รู้ที่มาที่ไปของชุมชน เป็นที่บ่มเพาะจิตวิญญาณของชุมชน”
พื้นที่ทางด้านขวาล่างเป็นการขุดดินลูกรังใกล้กับโบราณสถานเขาน้อยมากจนเสี่ยงต่อความเสียหาย ซึ่งโบราณสถานบนเขาแดงก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน
เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ทางคุณบรรจงได้นำนักวิชาการด้านการอนุรักษ์ โดยเฉพาะนักธรณีวิทยาไปวิเคราะห์ผลกระทบต่อโบราณสถาน พบว่าระยะห่างระหว่างโบราณสถานที่เขาน้อยกับจุดที่มีผู้มีอิทธิพลขุดดินลูกรังไปนั้นห่างเพียง 40 เมตร (ไม่ใช่ 60 เมตร) ถือว่าใกล้มาก แถมยังอยู่ในที่ลาดชันซึ่งเสี่ยงที่ดินจะถล่ม (Landslide) เท่าที่ผมตามข่าว ถือเป็นเรื่องน่าตลกเรื่องหนึ่งที่มีนักการเมืองท้องถิ่นระดับจังหวัดท่านหนึ่งเคยหาเสียงว่าจะเป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของชาวเมืองสงขลา แต่สิ่งที่เห็นกลับตรงกันข้ามกัน
บรรจง นะแส กำลังชี้ให้เห็นสภาพของเขาน้อยที่ถูกขุดดินทำลาย ซึ่งเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง
ภาพ: บรรจง นะแส
สภาพของดินที่ถูกขุดทำลายเพื่อปรับเป็นถนน ทั้งๆ ที่ไม่มีหน่วยงานราชการไหนที่มีแผนทำถนนขึ้นยังเขาน้อยเลย ย่อมสะท้อนอิทธิพลอย่างมหาศาลของนายทุนและนักการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ภาพ: บรรจง นะแส
แต่ที่สังคมต้องตั้งคำถามด้วยก็คือ ดินลูกรังที่ถูกขุดออกไปนี้ตั้งแต่ปี 2547 ใครเป็นคนอนุญาตให้ขุด เพราะว่าไม่ใช่ที่เอกชน รายได้จากดินลูกรัง 25-30 ล้านบาทนั้นไปเข้ากระเป๋าของใคร คุณบรรจงได้ตั้งข้อสังเกต ซึ่งการตั้งคำถามเช่นนี้เองที่ทำให้บรรจงต้องถูกฟ้องร้อง
ความจริงแล้วถ้าว่ากันตามกฎหมาย ลักษณะเช่นนี้หน่วยงานเช่น DSI ควรเข้าตรวจสอบ และ ปปง. ควรเข้ามาดำเนินการตามกฎหมาย เนื่องจากปกติแล้ว ปปง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบและยึดทรัพย์สินของบุคคลที่นำเอาทรัพยากรธรรมชาติของสังคมโดยส่วนรวมไปเป็นของตัวเอง ดังนั้นการบุกรุกขุดดินในเขตแหล่งโบราณสถานและเป็นที่เอกชนไม่มีสิทธิครอบครองจึงเข้าเกณฑ์ที่จะถูกตรวจสอบได้
คุณค่าของเมืองถูกให้ค่าผิด
“การสูญเสียอะไรที่สิงหนครนั้น ไม่ใช่เพิ่งโดนทำลาย แต่ทำลายต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน ประมาณ 30 ปีมาแล้ว” เจริญพงศ์ พรหมศร นักสันติวิธีที่เข้ามาพัวพันกับประเด็นปัญหาการบุกรุกพื้นที่โบราณสถานเขาน้อย-เขาแดง ทำให้ผู้สัมภาษณ์อย่างผมต้องตั้งคำถามว่า ทำไมจึงเกิดการทำลายมายาวนานเช่นนี้ ทั้งๆ ที่เป็นโบราณสถานที่สำคัญอย่างมากต่อประวัติศาสตร์ในคาบสมุทรภาคใต้
เหตุที่ทำให้เจริญพงศ์มองเห็นว่าประวัติศาสตร์นั้นมีคุณค่านั้น เริ่มต้นมาตั้งแต่เด็ก “ผมอินกับประวัติศาสตร์ เพราะว่าทวดชอบเล่าประวัติศาสตร์ของต้นตระกูลให้ฟังตั้งแต่เด็ก เช่น เรื่องตระกูลเป็นหมอยาในวังที่เมืองนครฯ ทำให้สนใจประวัติศาสตร์ และอ่านหนังสือประวัติศาสตร์มาเรื่อยๆ” จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ปวีณา ประยุกต์วงษ์ ได้ให้ช่วยเก็บข้อมูลประวัติศาสตร์ในเขตเขาแดง จึงเขียนหนังสือชื่อว่า ซิงกอร่า: สิงหนคร เรื่องราวชุมชนในขุนเขา บนเมือง แหลมสน หัวเขา สทิงหม้อ ตีพิมพ์เมื่อปี 2561
เจริญพงศ์ พรหมศร นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นกับผลงานเรื่อง ซิงกอร่า: สิงหนคร เรื่องราวชุมชนในขุนเขา บนเมือง แหลมสน หัวเขา สทิงหม้อ
คนสงขลาหลายคนนั้นเห็นคุณค่าในโบราณสถาน แต่เจริญพงศ์ให้ความเห็นเรื่องปัญหาการอนุรักษ์ในเมืองสงขลาว่า “คุณค่าของเมืองถูกให้ค่าผิด คุณค่าประวัติศาสตร์ไม่ถูกใช้” โดยน้ำหนักของการพัฒนาเมืองนั้นเทไปที่เรื่องของการพัฒนาเมืองให้ทันสมัยเป็นแหล่งเศรษฐกิจไปเสียหมด ยิ่งเมื่อท่าเรือน้ำลึกเข้ามาด้วยแล้ว ทำให้คนหันไปมองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ราคาที่ดินราคาสูงขึ้น เกิดการกว้านซื้อแพง ทำให้เกิดการรุกล้ำพื้นเมืองโบราณโดยกลุ่มนายทุน
เจริญพงศ์กล่าวว่า เดิมทีเรื่องโบราณสถานเรื่องประวัติศาสตร์ของเขาแดง-เขาน้อย “มันอยู่ไกลจากคำว่าปากท้อง” แต่ในปัจจุบันหลังจากเริ่มมีการพัฒนาเมืองและการท่องเที่ยวมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านเริ่มมองเห็นคุณค่าของเขาแดง-เขาน้อย เจริญพงศ์เล่าต่อว่า สมัยก่อนบางจุดเป็นแหล่งที่คนมาเสพยา บางจุดมีขยะเต็มไปหมด แต่หลังจากที่เริ่มนำนักท่องเที่ยวมามากขึ้นก็พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ด้วย “การจัดการขยะได้สำเร็จแล้ว ชาวบ้านเริ่มคุยกัน มันต้องดูแล ต้องทำให้สวยงาม” เพราะถือว่านี่คือทุนทางวัฒนธรรมที่จะอยู่ต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน
มีเรื่องควรสังเกตอย่างหนึ่ง ถ้าใครติดตามเรื่องการเคลื่อนไหวในงานด้านการอนุรักษ์เมืองเก่าเมืองสงขลาจะเห็นได้ว่ามันช่างเป็นภาพที่แตกต่างคอนทราสต์เสียเหลือเกิน เพราะในขณะที่ฝั่งบ่อยาง (อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเขาแดง) มีกิจกรรมมากมาย มีการจัดแสดงงานศิลปะ มีการวางแผนพัฒนาเมืองเก่า แต่กลับค่อนข้างตรงข้ามกับพื้นที่หัวเขาแดงและเขาน้อยที่อยู่ในภาวะวิกฤตที่กำลังถูกทำลาย กลุ่มผู้มีอิทธิพลและมีอำนาจในเขตเขาแดง-เขาน้อยควรต้องกลับมาทบทวนตัวเองว่าจะให้สงขลาเป็นเมืองเช่นไรในอนาคต
ปัญหาการอนุรักษ์ในเมืองสงขลานั้นมีความซับซ้อน แต่จะผลักภาระให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ได้ เจริญพงศ์กล่าวว่า กรมศิลปากรต้องคิดในการทำงานเชิงรุกเพื่อสื่อสารกับคนให้มากขึ้น เพื่อที่เขาจะได้เห็นคุณค่า เมื่อเห็นคุณค่าก็จะนำไปสู่การอนุรักษ์อย่างยั่งยืน แต่ในขณะเดียวกันจะผลักภาระให้กับหน่วยงานราชการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องสองทาง คือ ชาวเมืองสงขลาเองก็ต้องช่วยกันอนุรักษ์เช่นกัน ไม่เช่นนั้นแล้วจะไม่มีทางประสบความสำเร็จ
ชีวิตและผู้คน
ไม่เพียงแต่โบราณสถานที่ได้รับผลกระทบ คนที่อยู่ตามเชิงเขาก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน สามารถ สาเร็ม นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชาวสงขลา ถึงอายุยังน้อย แต่ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญคนหนึ่งเลยทีเดียว สามารถเล่าให้ผมฟังว่า “ตรงที่ขุดดินลูกรังกัน ต่ำลงมามีบ้านบ่อสวน ไม่มีใครเคยไปถามว่าเขากลัวไหม ได้รับผลกระทบไหม เรื่องดินถล่มในพื้นที่แถบนี้เคยเกิดขึ้นจริง ในปี 2553 เคยเกิดดินถล่ม ทั้งๆ ที่มันไม่มีการขุดเขา” ดังนั้นการขุดเขาแถบนี้จริงๆ แล้วน่ากังวล
สามารถ สาเร็ม ระหว่างเก็บข้อมูลที่มัสยิดยามาอาติซอลาตินเอาวาลู
ภาพ: สุรเชษฐ์ แก้วสกุล
ผู้เขียนได้ฟังมาจากแหล่งข่าวหลายคนว่านักการเมืองท้องถิ่นในเขตนั้นมีอิทธิพลกับคนในพื้นที่มาก ดังนั้นในช่วงที่เกิดการประท้วงเกี่ยวกับโบราณสถานจึงไม่มีใครกล้าออกมาพูดอะไร
คนในเขตเขาแดงคือใคร สามารถเล่าให้ฟังว่า “ในตำบลหัวเขามีชาวมุสลิม 90% และคนไทยจีน 10% มุสลิมเป็นคนเก่าแก่ยาวนานจากยุคสุลต่านสุลัยมาน สมัยกรุงศรีอยุธยา” ชาวมุสลิมที่เชิงเขาแดงจึงเป็นกลุ่มคนเก่าแก่ ไม่ใช่ย้ายมาใหม่ สามารถอธิบายด้วยว่า ด้วยความผูกพันกับพื้นที่มานาน ชาวมุสลิมในย่านเขาแดงจึงมองว่าเขาแดง-เขาน้อยเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญและหวงแหน
นอกจากไปจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบแล้ว แต่อำนาจปิดปากให้พูดอะไรมากไม่ได้ พื้นที่ตามเชิงเขาของเขาแดง-เขาน้อยยังมีสุสานของสุลัยมานเจ้าเมืองสงขลา ซึ่งอยู่ในสถานะที่กำลังถูกบุกรุก มีสุสานหรือกุโบร์ของชาวมุสลิมอื่นๆ มีสุสานของชาวฮอลันดาที่เคยเข้ามาตั้งสถานีการค้าสมัยอยุธยา และสุสานของชาวจีน สิ่งเหล่านี้ถือว่าสำคัญ เพราะบอกประวัติศาสตร์และความหลากหลายของคนในสงขลาได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการบุกรุกพื้นที่ภูเขานี้ ในด้านความเชื่อแล้วก็คือการทำลายความสงบของคนตาย ในอีกด้านที่น่ากังวลก็คือดินที่อาจถล่มในอนาคตจะส่งผลกระทบต่อสุสานพวกนี้หรือไม่
ในเชิงภูมิทัศน์ที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์แล้ว การทำลายเขาน้อย-เขาแดง และสร้างผลกระทบนี้ สามารถมองว่า “มันกลายเป็นทัศนอุจาดไปเลย สมัยก่อนมีปลูกยางพารามันก็น่าเกลียดแล้ว แต่ตอนนี้มันสามารถมองเห็นจากฝั่งอำเภอเมืองสงขลา เวลาไปพักโรงแรม ตอนนี้พอเปิดออกไปเห็นเป็นภูเขาแหว่ง ทำให้ทัศนียภาพเสียหมด”
สร้างจิตสำนึกสาธารณะคือกุญแจของการอนุรักษ์
“เมื่อตอน 10 โมง มีเสียงปืน 10 นัด ระหว่างที่กำลังตรวจพื้นที่ พื้นที่นี้ไม่ปลอดภัย ไม่รู้ใครยิง ยิงทำไมเวลามีคนนอกเข้ามา มีการสื่อสารแจ้งลงไปในพื้นที่แล้วว่าจะมีข้าราชการลงมาตรวจ แบบนี้จะมีใครกล้าเอาเด็กมาเรียนรู้แหล่งประวัติศาสตร์” พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ให้สัมภาษณ์กับผมถึงสถานการณ์ในพื้นที่ ฟังดูแล้วก็น่ากังวล
ภาคประชาชนมาให้กำลังใจ พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11
ภาพ: Hatyai Focus
ความปลอดภัยถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้อย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้ในพื้นที่เขาแดง-เขาน้อยนั้น ตลอดช่วงเกือบเดือนที่ผ่านมา ผมมักได้ยินเรื่องทำนองนี้เสมอ ปืนอาจจะยิงด้วยเหตุผลอื่น เป็นความบังเอิญ แต่ก็ไม่ควรได้ยินในพื้นที่กลางเมือง ไม่ควรได้ยินในพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งเรื่องนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งเข้าไปดำเนินการ อย่าปล่อยให้อำนาจอยู่เหนือกฎหมาย
เมื่อถามถึงแนวทางที่ทางกรมศิลปากรจะดำเนินการต่อไปนั้น พงศ์ธันว์ได้เล่าว่า สิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งเลยก็คือต้อง “บังคับใช้ พ.ร.บ.โบราณสถานฯ เพื่อให้กฎหมายมันจะศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็ต้องให้เป็นธรรมที่สุดทั้งกับตัวแหล่ง และผู้ต้องสงสัย กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย” จากนั้นต้องเร่งยุติปัญหาโดยเร็ว จากนั้นต้องมาคิดถึงเรื่องการลดผลกระทบ กำหนดมาตรการฟื้นฟู ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้อย่างไร และกำหนดมาตรการในการป้องกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโบราณสถาน
ในแง่ของการจัดการกับความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น พงศ์ธันว์มองว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาชั้นดินลูกรังที่ถูกขุดออกไปนั้นไม่น่ากังวลมาก มีเทคโนโลยีมีวิธีการมากมายที่ช่วยได้ แต่นี่คือการจัดการปัญหาเฉพาะหน้า แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือเรื่องการเผยแพร่ การปลุกให้คนมีสำนึก มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในการอนุรักษ์ ที่สำคัญด้วยคืออย่าคิดว่านี่คือหน้าที่ของกรมศิลปากรหรือหน่วยงานภาครัฐอย่างเดียว แต่ต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนด้านการอนุรักษ์ โดยให้มองว่านี่คือหน้าที่ของพลเมืองไทย สำนึกสาธารณะเช่นนี้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องเข้ามาช่วยกัน
พงศ์ธันว์ทิ้งท้ายว่า หากไม่เร่งจัดการและยุติปัญหาต่างๆ ในวันนี้ การจะทำให้สงขลากลายเป็นเมืองมรดกโลกนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย “คนสงขลาควรต้องเหลียวมองกลับมาที่รากเหง้าของตัวเอง” นี่คือเรื่องสำคัญ
ลำพังการอนุรักษ์เพื่อให้ทันกับการพัฒนานั้นแก้ไขไม่ยาก แต่ที่ยากคือการจัดการกับกลุ่มผู้มีอิทธิพลที่ยังไม่เข้าใจคุณค่าของการอนุรักษ์ ในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น อังกฤษ อิตาลี อียิปต์ มีการวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งพบว่าพื้นที่ที่มีโบราณสถานที่ได้รับการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวนั้น มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของท้องถิ่นเติบโตหลายเท่าตัวและเกิดการกระจายรายได้ไปยังคนกลุ่มต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ช่วยเสริมความสัมพันธ์และความสุขของคนในชุมชน เพราะมีแหล่งที่บ่งบอกความเป็นมาและรากเหง้า ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่น และยังมีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจไม่ต่างจากสวนสาธารณะ
ผมคิดว่านายทุนและนักการเมืองท้องถิ่นควรต้องกลับมาทบทวนตนเอง มองเห็นประโยชน์ของคนส่วนรวมและลูกหลานในอนาคตของตนเองให้มากขึ้น เพราะการรุกล้ำเขตโบราณสถานก็ดี หรือทรัพยากรธรรมชาติก็ดี คือการทำลายทุนแบบหนึ่งคือทุนทางวัฒนธรรมของคนในอนาคต
ประชาสัมพันธ์
วันที่ 27 มีนาคมนี้ ทางภาคพลเมืองและภาคนักวิชาการเมืองสงขลา ได้เปิดเวที เรื่อง ‘ปกป้องหัวเขาแดง: SaveSingora’ เวลา 16.00-19.00 น. ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จ.สงขลา ในงานมีการอ่านบทกวีโดย อ.สดใส ขันติวรพงศ์ และ อ.จรูญ หยูทอง
จากนั้นมีเสวนาโดย พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 เล่าข้อเท็จจริงต่างๆ เกี่ยวกับการบุกรุกพื้นที่โบราณสถาน, มุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ โดย ดร.สินาด ตรีวรรณไชย, ประเด็นเรื่องความกระทบกระเทือนด้านสถาปัตยกรรม โดย ดร.จเร สุวรรณชาต และสุดท้าย ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ โดย อ.บุญเลิศ จันทระ
คำบรรยายภาพเปิด: หมู่บ้านชาวประมงที่หัวเขาแดง สะท้อนชีวิตของชาวสงขลาที่ผูกพันกับประมงและเขาแดง โดย สุรเชษฐ์ แก้วสกุล