×

บุกรุกเขาน้อย-เขาแดง คือความพินาศของภูมิวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา

05.03.2022
  • LOADING...
เขาแดง สงขลา

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • แม้ว่าตัวโบราณสถานที่เป็นสิ่งก่อสร้างยังไม่ถูกทำลายโดยตรงก็ตาม แต่การบุกรุกของนายทุนบนเขาน้อย-เขาแดงนี้ ถือเป็นการทำลายสิ่งที่เรียกว่า ‘ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม’ (Cultural Landscape) ที่เกี่ยวเนื่องกับโบราณสถาน ทำให้โบราณสถานนั้นเสื่อมคุณค่าไปอย่างน่าเสียดาย ไม่ต่างจากกรณีของหมู่บ้านป่าแหว่ง ดอยสุเทพ ส่งผลให้คุณค่าของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีนั้นเสื่อมลง 
  • ที่สำคัญคือ การบุกรุกทำลายอย่างโจ่งแจ้งนี้ยังเป็นการทำลายสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตวิญญาณ’ อันเป็นหัวใจของทั้งเมืองและผู้คนอีกด้วย เพราะโบราณสถานไม่ใช่แค่ ‘วัตถุ’
  • มองกันให้ลึกขึ้น ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาเรื่องการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมนี้ เกิดจากปัญหาของโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่สั่งสมมายาวนาน โดยเฉพาะระบบอุปถัมภ์และระบบพวกพ้อง จนทำให้ระบบมาเฟียยิ่งใหญ่เหนือกฎหมายและความถูกต้อง การจะแก้ไขเรื่องนี้จึงไม่ง่าย ขอให้กำลังใจกับสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา และภาคประชาสังคมที่พยายามเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้ได้คำตอบของเรื่องนี้ที่ชัดเจนเพื่อวางมาตรการแก้ไขในอนาคต 

การบุกรุกทำลายพื้นที่รอบโบราณสถานโดยนายทุนและนักการเมืองเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย ล่าสุดกรณีพื้นที่ของเขาน้อยและเขาแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งมีโบราณสถานสมัยศรีวิชัยเพียงไม่กี่แห่งในคาบสมุทรภาคใต้ กลุ่มโบราณสถานในสมัยอยุธยา ซึ่งสะท้อนรากเหง้าและตัวตนของสงขลา ถือเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมชั้นยอด มีสภาพน่าเป็นห่วง ถูกบุกรุกจนเกือบประชิดโบราณสถาน โดยเฉพาะวัดเขาน้อย โบราณสถานสมัยศรีวิชัย ที่กลุ่มทุนไถปรับที่ห่างเพียง 60 เมตรเท่านั้น! 

 

พงศ์ธันว์ สำเภาเงิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา ได้ให้ข่าวกับไทยพีบีเอสว่า เมื่อได้รับแจ้งเหตุจึงเข้าไปตรวจสอบ แต่ผลคือถูกข่มขู่กลับมา เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องเล็กๆ เพราะมีอำนาจเถื่อนเข้ามาเกี่ยวข้อง แม้ว่าบางหน่วยงานจะออกมาแก้ข่าวว่าไม่มีการข่มขู่ก็ตาม ถ้าบุกรุกทำลายพื้นที่กันได้ขนาดนี้ ผู้อ่านจะเชื่อไหมครับ 

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

แต่เรื่องนี้สะท้อนว่าปัญหาการบุกรุกโบราณสถานไม่ใช่เรื่องที่แก้ปัญหาได้ง่ายด้วยหน่วยงานราชการเพียงแห่งเดียว แต่ต้องช่วยกันหลายภาคส่วน เพราะการต่อสู้ระหว่างฝ่ายอนุรักษ์กับฝ่ายที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตัว ไร้สำนึก ไม่คำนึงว่าโบราณสถานนั้นคือสมบัติของชาวเมืองสงขลาและคนทั้งประเทศ เป็นเรื่องยากมาก 

 

เขาน้อย-เขาแดง สงขลา

สภาพของเขาน้อยที่ถูกบุกรุกพื้นที่ในปัจจุบัน บนยอดเขานั้นคือที่ตั้งของโบราณสถานเขาน้อย

 

เขาน้อย-เขาแดง สงขลา

ภาพถ่ายเก่า ทำให้เห็นสภาพของเขาน้อยเมื่อ 40 กว่าปีก่อน ยังมีสภาพสมบูรณ์ ไม่ถูกบุกรุกและทำลาย

 

เขาน้อย-เขาแดงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในสมัยโบราณ เพราะสามารถเห็นทัศนียภาพได้ไกล เหมาะกับการควบคุมเรือ พื้นที่บริเวณทางเหนือของเขาน้อย-เขาแดงเป็นที่ตั้งของเมืองสทิงพระ พบคูน้ำล้อมรอบเป็นรูปสี่เหลี่ยมด้านไม่เท่า มีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 11 รุ่งเรืองในสมัยศรีวิชัย (พุทธศตวรรษที่ 13-17) และสืบเนื่องมาจนถึงสมัยอยุธยา 

 

เขาน้อย-เขาแดง สงขลา

สภาพโบราณสถานวัดเขาน้อยในปัจจุบัน สร้างขึ้นในสมัยศรีวิชัย และได้รับการบูรณะในสมัยอยุธยา (ภาพจาก ลักษณ์ บุญเรือง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา)

 

จากการสำรวจและขุดค้น ทำให้บริเวณนี้พบโบราณวัตถุหลากหลายชนิดที่สะท้อนถึงการติดต่อค้าขายกับอาณาจักรบ้านเมืองต่างๆ เช่น ประติมากรรมแบบศรีวิชัย จาม เขมร มีทั้งรูปพระโพธิสัตว์ สะท้อนการนับถือศาสนาพุทธมหายาน พระพุทธรูป ท้าวกุเวร พระคเณศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบเครื่องถ้วยจีนสมัยราชวงศ์ถัง, ซ่ง, หยวน และหมิง อีกด้วย 

 

ในขณะที่โบราณสถานวัดเขาน้อยเป็นเจดีย์เก่าแบบศรีวิชัยก่อด้วยอิฐ มีซุ้มจระนำโดยรอบส่วนฐานที่ยกเก็จ (ภาษาช่าง ยกเก็จ แปลว่าการเพิ่มของมุมฐานของเจดีย์) ภายในซุ้มจระนำนี้ประดับพระพุทธรูป ซึ่งช่างในสมัยอยุธยาได้เข้ามาดัดแปลงปั้นพระพุทธรูปแบบอยุธยาแทน การประดับพระพุทธรูปมากมายนี้ต้องการสื่อถึงคติมณฑลจักรวาลของศาสนาพุทธมหายาน ที่ถือว่าพระพุทธเจ้านั้นมีจำนวนมากมายนับไม่ถ้วน ซึ่งคอยช่วยคุ้มครองมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลาย 

 

นอกจากนี้แล้ว จากการขุดค้นเมื่อ 40 กว่าปีก่อนยังได้พบประติมากรรมประดับเจดีย์ทำจากดินเผาและหลักฐานอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อมีเจดีย์ตั้งบนยอดเขา ย่อมจะต้องมีกุฏิ อาคารประกอบ และชุมชนอยู่อาศัยอีกด้วย ซึ่งคงอยู่ไม่ห่างจากเจดีย์ ดังนั้น การบุกรุกพื้นที่ห่างจากโบราณสถานเพียง 60 เมตร จึงเป็นเรื่องน่ากังวลอย่างมาก 

 

เขาน้อย-เขาแดง สงขลา

สภาพของโบราณสถานเขาน้อยภายหลังการบูรณะเมื่อ 40 กว่าปีก่อน (ภาพจาก ลักษณ์ บุญเรือง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา)

 

ปัจจัยที่ทำให้เมืองสทิงพระและเมืองตรงเขาแดงสำคัญขึ้นมานั้น เพราะตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าข้ามคาบสมุทรจากสงขลาไปตรัง หรือไปไทรบุรี (เคดาห์) ได้สะดวก ไม่ต้องอ้อมช่องแคบมะละกา ในบันทึกของฝรั่งเศสระบุว่า สงขลายังเป็นเมืองที่ตั้งติดต่อทำการค้ากับจีน บอร์เนียว และมะนิลา ทำให้ฝรั่งเศสเชื่อว่าเมืองนี้จะสามารถพัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่าชั้นนำได้ในอนาคต อีกทั้งยังสามารถควบคุมการค้าเครื่องเทศ โดยเฉพาะพริกไทยได้ ที่สำคัญคือสงขลามีพื้นที่เหมาะกับการปลูกข้าวเพื่อเลี้ยงประชากร

 

เขาน้อย-เขาแดง สงขลา

ภาพถ่ายมุมสูงแสดงให้เห็นชัดว่า โบราณสถานเขาน้อยกำลังถูกรุกคืบอย่างหนัก มีการถางป่าและทำลายพื้นที่อย่างรุนแรง (ภาพจาก สามารถ สาเร็ม นักวิชาการท้องถิ่น)

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยการตั้งเมืองอยู่บนสันทรายโบราณใกล้ชายฝั่ง ทำให้ไม่มีน้ำจืดเพียงพอ ชาวเมืองจึงต้องขุด ‘พัง’ หรือสระน้ำ ทำให้พบสระน้ำอยู่หลายแห่งรอบเมือง เช่น พังสายหมาน พังหลุง พังแขกชีใต้ ดังนั้นบริเวณรอบพังจึงพบร่องรอยของชุมชนอยู่ด้วย เห็นได้จากเศษภาชนะดินเผา ประติมากรรมทางศาสนา เช่น ท้าวกุเวร พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร  

 

เขาน้อย-เขาแดง สงขลา

กุฑุ หรือซุ้มประดับภาพของเทวดาในศิลปะศรีวิชัย ทำจากหินทรายสีแดง พบที่โบราณสถานเขาน้อย ปัจจุบันจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

 

ความจริงแล้วสทิงพระก็เป็นพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง เพราะทุกวันนี้ยังมีกระบวนการขุดลักลอบโบราณวัตถุ ทำให้แหล่งโบราณคดีเสียหายไปมาก ทางการและประชาชนอาจต้องช่วยกัน เพราะสงขลาเป็นเมืองที่มีศักยภาพต่อการยกเป็นมรดกโลก

 

ในสมัยอยุธยาตอนกลาง-ปลาย สงขลากลายเป็นเมืองท่าการค้าสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อกลุ่มชาวมลายูมุสลิม (บางหลักฐานว่าเป็นชวา แต่ที่ไม่ค่อยน่าเชื่อถือคือเป็นชาวเปอร์เซีย) นำโดย ดาโต๊ะ โมกอล ได้ตั้งเมืองขึ้นที่บริเวณหัวเขาแดงเมื่อ พ.ศ. 2162-2185 ตรงกับสมัยพระเจ้าทรงธรรม (ข้อมูลบางแหล่งว่าตั้งสมัยพระเอกาทศรถก็มี) โดยขึ้นกับเมืองนครศรีธรรมราช

 

แต่ด้วยความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของอยุธยา ที่ตั้งราชวงศ์ใหม่คือ ราชวงศ์ปราสาททอง จึงทำให้สุลต่านสุลัยมานแข็งเมือง ประกอบกับเผชิญกับโจรสลัดที่เข้าปล้นเมือง เป็นเหตุผลทำให้มีการสร้างป้อมกำแพงเมืองล้อมรอบเมืองและภูเขาบนเขาแดง ในจังหวะเดียวกันนี้ ทางบริษัทการค้าของอังกฤษ (EIC) พยายามเข้าไปแทรกแซงการเมืองของสงขลาด้วยการไปช่วยซ่อม สร้างป้อมปราการให้แก่เจ้าเมืองสงขลาเมื่อราว พ.ศ. 2223 เพราะหวังจะเข้าไปมีผลประโยชน์ทางการค้า

 

เขาน้อย-เขาแดง สงขลา

ป้อมหมายเลข 9 เมืองสงขลาเก่า จากลักษณะเป็นงานก่อสร้างสมัยก่อนลามาร์และคงได้รับการปรับปรุงใหม่โดยลามาร์ (อ้างอิง: ชนาธิป ไชยานุกิจ, 2559)

 

แต่แล้ว ในปี พ.ศ. 2223 สมเด็จพระนารายณ์ทรงส่งกองทัพมาปราบสุลต่านสุลัยมาน (ซึ่งถือเป็นกบฏ) ได้สำเร็จ ทำให้ในครั้งนั้นพระองค์สั่งให้รื้อป้อมกำแพงเมืองลงหลายจุด ดังที่ มองซิเออ เวเรต์ ได้บันทึกไว้ในจดหมายลงวันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228) ว่า “…แต่ก่อนนี้เมืองสงขลาเปนบ้านเมืองมีป้อมคูประตูหอรบ แต่พระเจ้ากรุงสยามได้โปรดให้ทำลายเสียประมาณ 3 หรือ 4 ปีมาแล้ว (พ.ศ.2223) เพราะเหตุว่าได้เกิดมีพวกขบถไปยึดเมืองสงขลาไว้ และพระเจ้ากรุงสยามก็ต้องทำศึกปราบพวกขบถเหล่านี้มากว่า 30 ปีแล้ว…” (หอสมุดพระวชิรญาณ 2470ก, 114-115) 

 

ตัวแปรใหม่ที่เข้ามาคือ ฝรั่งเศสได้พยายามโน้มน้าวสมเด็จพระนารายณ์ให้เห็นประโยชน์ของการยอมยกเมืองสงขลาให้กับตน โดยใช้เหตุผลว่า ฮอลันดากำลังขยายอิทธิพลควบคุมการค้าในอ่าวไทย หากฮอลันดาคิดจะใช้เรือรบปิดปากอ่าวก็ย่อมทำได้ไม่ยาก ดังนั้นถ้าหากเมืองสงขลาเป็นของฝรั่งเศสก็จะมีคนมาคอยคุ้มกันเมืองให้กับทางอยุธยา (หอสมุดพระวชิรญาณ 2470ข, 62-63) ผลก็คือ สมเด็จพระนารายณ์ทรงเห็นด้วย จึงส่งนายช่างฝรั่งเศสลงไปปรับปรุงป้อมกำแพงเมือง

 

เขาน้อย-เขาแดง สงขลา

แผนผังเมืองสงขลาและทะเลสาบสงขลา วาดโดยลามาร์ เมื่อ พ.ศ. 2230 รูปสี่เหลี่ยมคางหมูคือแนวกำแพงเมืองสงขลา เขาน้อยและเขาแดงนั้นอยู่ทางด้านทิศใต้ อนึ่ง ภาพนี้วาดใหม่ตามของเดิมโดยเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร (อ้างอิง: ชนาธิป ไชยานุกิจ, 2559)

 

เขาน้อย-เขาแดง สงขลา

สภาพบางส่วนของเขาแดงที่ถูกระเบิดเขาน้อยจนกลายเป็นทะเลสาบ

 

มองซิเออร์ เดอ ลามาร์ วิศวกรฝรั่งเศส ได้ลงไปราว พ.ศ. 2229-30 จากบันทึกของลามาร์ พบว่าเขาได้วางแผนการสร้างป้อมกำแพงเมืองสงขลาไว้อย่างดี เพื่อให้มีสภาพเป็นเมืองป้อมบนภูเขา กำแพงเมืองกับป้อมมีความหนาและความสูงมากเป็นพิเศษ กระจายไปทั่วหัวเขาแดง เพื่อสามารถต่อสู้กับปืนใหญ่จากเรือได้ ส่วนยอดหัวเขาแดงยังสร้างป้อมรูปดาว (fort en étoile) ไว้ด้วย เพื่อใช้ควบคุมเรือในทะเลและเมืองด้านล่างไปพร้อมกัน เพื่อให้เป็นเมืองป้อมที่ทหารประจำการได้อย่างยาวนาน ยังสร้างแท็งก์น้ำก่อด้วยหินให้กับทหารประจำบนป้อมอีกด้วย   

 

เขาน้อย-เขาแดง สงขลา

ป้อมใกล้ชายฝั่งทะเลของเมืองสงขลาเก่า (อ้างอิง: ชนาธิป ไชยานุกิจ, 2559)

 

จากการสัมภาษณ์ ชนาธิป ไชยานุกิจ นักโบราณคดีประจำสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา รายงานว่า เดิมทีป้อมมีทั้งหมด 15 ป้อม โดยอยู่บนบก 14 ป้อม และบนเกาะเล็กๆ ในทะเล 1 ป้อม ซึ่งปัจจุบันมองไม่เห็นแล้ว (เนื้อหาเกี่ยวกับเมืองสงขลา หัวเขาแดงนี้ บางส่วนปรับปรุงมาจากบทความเรื่อง ‘สร้างป้อม สร้างกำแพงเมือง ขอบเขตอยุธยา ปัญหาการเมืองและการค้าในสมัยสมเด็จพระนารายณ์’ เขียนโดย พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ ใน Ayutthaya Underground ประวัติศาสตร์อยุธยาจากวัด วัง ชั้นดิน และสิ่งของ. กรุงเทพฯ: มติชน, 2562) 

 

นอกเหนือไปจากความสำคัญทางประวัติศาสตร์แล้ว เขาแดงยังมีความสำคัญทางด้านจิตวิญญาณของคนสงขลาอีกด้วย ชาวจีนและชาวไทยต่างมีความเชื่อต่อ ‘ทวดเขาแดง’ ว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาเมืองสงขลา เชื่อว่าทุกที่มีเจ้าที่ประจำอยู่ตามป่าเขา ตามสุสาน ตามสะพาน เจดีย์ ดังนั้นทุกปีจึงมีพิธีกรรมบูชาสมโภชปู่ทวดหัวเขาแดง นอกจากนี้แล้ว ในพิธีเก่าแก่คือโนราโรงครู ยังมีการเรียกวิญญาณทวดเขาแดงให้มาลงทรงอีกด้วย เช่นเดียวกับชาวมุสลิมที่เชื่อว่า ครั้งหนึ่ง ‘โต๊ะผ้าแดง’ ได้เคยมาช่วยพัดลมพายุไม่ให้เข้าเมืองสงขลา

 

แม้ว่าตัวโบราณสถานที่เป็นสิ่งก่อสร้างยังไม่ถูกทำลายโดยตรงก็ตาม แต่การบุกรุกของนายทุนบนเขาน้อย-เขาแดงนี้ถือเป็นการทำลายสิ่งที่เรียกว่า ‘ภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม’ (Cultural Landscape) ที่เกี่ยวเนื่องกับโบราณสถาน ทำให้โบราณสถานนั้นเสื่อมคุณค่าไปอย่างน่าเสียดาย ไม่ต่างจากกรณีของหมู่บ้านป่าแหว่ง ดอยสุเทพ ส่งผลทำให้คุณค่าของพื้นที่ทางประวัติศาสตร์โบราณคดีนั้นเสื่อมลง 

 

ที่สำคัญคือ การบุกรุกทำลายอย่างโจ่งแจ้งนี้ยังเป็นการทำลายสิ่งที่เรียกว่า ‘จิตวิญญาณ’ อันเป็นหัวใจของทั้งเมืองและผู้คนอีกด้วย เพราะโบราณสถานไม่ใช่แค่ ‘วัตถุ’

 

มองกันให้ลึกขึ้น ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเกิดปัญหาเรื่องการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมนี้ เกิดจากปัญหาของโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่สั่งสมมายาวนาน โดยเฉพาะระบบอุปถัมภ์และระบบพวกพ้อง จนทำให้ระบบมาเฟียยิ่งใหญ่เหนือกฎหมายและความถูกต้อง การจะแก้ไขเรื่องนี้จึงไม่ง่าย ขอให้กำลังใจกับสำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา และภาคประชาสังคมที่พยายามเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้ได้คำตอบของเรื่องนี้ที่ชัดเจนเพื่อวางมาตรการแก้ไขในอนาคต 

 

คำอธิบายภาพเปิด: ภาพมุมสูงแสดงตำแหน่งของโบราณสถานเขาน้อยและเขาแดง จะเห็นได้ว่าพื้นที่ใกล้กับโบราณสถานเขาน้อยนั้นถูกบุกรุกอย่างหนัก (ภาพจาก สามารถ สาเร็ม นักวิชาการท้องถิ่น)

 

ขอขอบคุณ: 

  • ลักษณ์ บุญเรือง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา กรมศิลปากร 
  • สามารถ สาเร็ม นักวิชาการท้องถิ่นสงขลา

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising