“มาเร่เข้ามา มาดูโคโยตี้บนรถปิกอัพ
ไงคุณพี่เซ็กซี่ไหมครับ”
งานเลี้ยง แสงสี ดนตรีรถบั๊มสลับหมอลำ อีกหนึ่งความบันเทิงที่ขาดไม่ได้ก็คงเป็นสุราและ ‘นารี’ สาวสวยที่ร่ายรำอยู่ท่ามกลางชายหลากหลายวัย อาชีพที่เรียกกันอย่างคุ้นหูว่า ‘โคโยตี้’
โคโยตี้ เป็นอาชีพที่มาพร้อมกับความสนุกสุดเหวี่ยงเสมอ แต่ในอีกแง่หนึ่งอาชีพนี้แทบจะเป็นอาชีพ Top 10 ที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดเช่นกัน ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นความคิดตั้งต้นให้ ไททศมิตร วงเพื่อชีวิตจากค่าย Gene Lab แต่งเพลง โคโยตี้ เพลงเพื่อชีวิตจังหวะสนุกสนานชวนให้ลุกขึ้นเต้น พร้อมเนื้อหาเผ็ดร้อนที่ได้ MILLI (มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล) มาร่วมถ่ายทอด
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ถอด 6 มุมมองต่อ ‘Sex Worker’ เมื่อเป็นอาชีพหนึ่ง ไม่ใช่ปัญหาศีลธรรมและกฎหมาย แต่สังคมมองชั่วร้าย กดทับ ตีตรา
- สรุปประเด็นถกสถานะ ‘Sex Worker’ ที่รัฐต้องเหลียวแล ปิดทางฉวยโอกาสปล่อยเป็นธุรกิจสีเทา
ในทางดนตรี เพลงโคโยตี้เป็นเพลงที่น่าสนใจและแปลกใหม่สำหรับไททศมิตร ด้วยส่วนประกอบของเพลงที่เยอะกว่าชิ้นส่วนรถปิกอัพ ที่สมาชิกทุกคนในวงตั้งใจหยิบเอาดนตรีสามช่ามาปรับให้มีความทันสมัยมากที่สุด โดยการผสมดนตรีหลากหลายแนวเข้าไป ตั้งแต่ Rock, House, EDM, DJ Remix เสียงจากเครื่องดนตรีภาคอีสาน ไปจนถึงซาวด์เอฟเฟกต์จากเสียงของ ตุ๊ก-พัฒนภูมิ ชอุ่มผล (กลอง) ที่มารับบทดีเจยูโร่ ทำให้เพลงนี้มีทั้งความซับซ้อนของดนตรีและสนุกสนาน เหมาะกับบรรยากาศแบบงาน Motor Show บ้านๆ ที่หลายคนคุ้นเคย
นอกจากดนตรีที่น่าสนใจแล้ว เนื้อหาของเพลงนี้ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน เพราะเพลงนี้เป็นหนึ่งในเพลงที่ไททศมิตรตั้งใจนำมาใส่ในอัลบั้ม เพื่อชีวิตกู อัลบั้มเต็มชุดที่ 2 ของวง เพื่อให้อาชีพโคโยตี้ที่มักจะถูกสังคมวิจารณ์ ผลัดมาเป็นผู้วิจารณ์สังคมดูบ้าง
“เหน็บเงินตรงร่องลองลูบ ลามลงไปที่ต้องห้าม
มอมแล้วยังตะล่อมบอก จบที่ห้องเปล่า
น้องอย่ามาปฏิเสธ นี่เรตพิเศษ
ถ้าดูจากเกรด คงเจนสนาม เล่นตัวจังวะ”
แม้ว่าร่างกายจะเป็นของเราและชีวิตก็เป็นของเรา แต่สังคมกลับเป็นผู้ตัดสินคุณค่าของเราจากอาชีพและการแต่งตัว ทำให้อาชีพสุจริตที่ต้องนุ่งสั้น เต้นกินรำกินอย่างโคโยตี้ กลายเป็นอาชีพที่ขัดต่อศีลธรรมและจริยธรรมอันดีของสังคม
รวมไปถึงกฎหมายที่ยังไม่สามารถคุ้มครองพวกเธอได้อย่างเต็มที่ ก็มีส่วนทำให้อาชีพนี้ยังคงเป็นเหมือนเครื่องสนองตัณหา เป็นตุ๊กตาที่ใครจะมาจับ มาลูบ หรือทำอะไรมากกว่านั้นก็ย่อมได้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็ส่งผลให้ผู้หญิงที่ทำอาชีพบริการต้องเจอกับการเอาเปรียบจากนายจ้าง คำดูถูกจากคนรอบข้าง และยังตกเป็นเหยื่อของการคุกคามทางเพศไปจนถึงอาชญากรรมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมเรามักเห็นคนกลุ่มนี้เป็นเหยื่อในคดีอาชญากรรมอยู่บ่อยๆ ตามหน้าหนังสือพิมพ์ โดยแทบไม่มีใครเห็นใจ พ่วงด้วยความคิดเห็นในเชิง Victim Blaming (การประณามเหยื่อ) อย่างไม่ยุติธรรม จากการแต่งตัววาบหวิว การทำงานในสถานบันเทิง หรือการต้องเดินทางในเวลากลางคืนบ่อยๆ
ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาความเหลือล้ำที่เกิดขึ้นในสายอาชีพบริการแล้ว เราคงต้องช่วยกันแก้ไขทัศนคติเดิมๆ ของสังคม และผลักดันกฎหมายให้เข้าถึงพวกเขามากขึ้นไปพร้อมๆ กัน
“แค่ชอบเต้น โปรดอย่าโง่งั่ง
ทำมาหากินด้วยอาชีพสุจริต
อย่ามาดูถูกในสิ่งที่กูเชื่อมั่น”
และเพลงโคโยตี้ ก็คงเป็นอีกกระบอกเสียงหนึ่งที่จะบอกว่า “ไม่มีอาชีพไหนต่ำถ้าทำด้วยใจสูง” แม้ว่าอาชีพโคโยตี้จะดูไม่ดีในความคิดของใคร แต่ไม่ควรมีอาชีพสุจริตอาชีพไหนโดนเอาเปรียบ ดูถูก และฉกฉวยคุณค่าในตัวเองไป เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนย่อมทำมาหากินเพื่อปากท้องและชีวิตที่ดีกว่าของตัวเองกันทั้งนั้น
เหมือนคำพูดของโมส-ตฤณสิษฐ์ สิริพิชญาศานต์ (ร้องนำ / กีตาร์) ที่บอกว่า “คงมีอีกหลายอาชีพที่ต้องเต้นกินรำกิน โดนดูถูกเหยียดหยาม พวกเราหวังว่าเพลงนี้จะอยู่เป็นเพื่อนคุณ นอกจากความสนุกแล้ว เพลงนี้ต้องการจะให้กำลังใจเพื่อนๆ ครับ”
ฟังเพลง โคโยตี้ จาก TaitosmitH (ไททศมิตร) Feat. MILLI ได้ที่