เรื่องครอบครัวมักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเสมอในเรื่องราวเกี่ยวกับคดีเยาวชน แต่ Juvenile Justice พาเราเข้าไปถึงแก่นของปัญหาและนึกถึงคำว่า ‘มีลูกเมื่อพร้อม’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอายุหรือฐานะทางการเงิน แต่หมายถึงคนที่พร้อมจะรับผิดชอบชีวิตคนอื่นในฐานะพ่อแม่
ในเรื่องเราจะได้เห็นทั้งคนที่มีเงินทองมากมาย แต่ให้ความสำคัญเรื่องลูกเป็นลำดับสุดท้าย ผู้หญิงที่เห็นแก่ตัวเกินกว่าจะเป็นแม่ใคร หรือผู้ชายที่ถ่ายทอดความรุนแรงที่ตัวเองเคยได้รับไปสู่ลูกสาว ฯลฯ ทั้งหมดส่งผลไปที่ตัวเด็ก และมักทำผิดซ้ำๆ เพราะถึงจะทำดีไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา
*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน
ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมความกล้าของผู้ผลิตซีรีส์เกาหลีในยุคหลังๆ ที่หยิบยกประเด็นสังคมมาตีแผ่ได้อย่างน่าติดตาม ไม่ว่าเรื่องนั้นจะล่อแหลมสักเพียงไหน ซึ่ง Juvenile Justice เป็นอีกข้อพิสูจน์ด้วยการหยิบประเด็นคดีอาชญากรรมจากฝีมือของเด็ก มาเล่าผ่านการทำงานของผู้พิพากษาหญิงผู้ประกาศตัวว่า ‘เกลียดเยาวชนผู้กระทำผิดเข้าไส้’ ทำให้ฉงนสงสัยว่า ชิมอึนซอก ตัวละครหลักของเรื่องจะมาดีหรือมาร้าย เพราะในใจลึกๆ ของคนทั่วไปก็พร้อมจะให้อภัย ‘เด็ก’ อยู่แล้ว แม้ว่าเด็กทุกคนจะไม่ได้ไร้เดียงสาก็ตาม
และด้วยเหตุผลนี้เองที่ทำให้กฎหมายในเกาหลีใต้กำหนดโทษสถานเบาให้กับเยาวชน จนกลายเป็นช่องโหว่ให้มีคดีเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ
Juvenile Justice ค่อยๆ พาเราเข้าไปสัมผัสชีวิตการทำงานของเจ้าหน้าที่ด้านกฎหมายเยาวชนที่ไม่ใช่แค่การตัดสินถูกผิด แต่ยังต้องรับแรงเสียดทานของสังคม และเข้าไปแก้ปัญหาละเอียดอ่อนที่หล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งกลายเป็นอาชญากรขึ้นมาได้ โดยจะอาศัยความเห็นอกเห็นใจอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ต้องใช้กฎของสังคม นั่นก็คือกฎหมาย เข้ามาร่วมด้วย แม้ผลที่ออกมาจะไม่ถูกใจก็ตาม นอกจากความสนุกสนาน เข้มข้น และเพลิดเพลินไปกับการแสดงของ คิมฮเยซู ผู้รับบท ชิมอึนซอก แล้ว เรื่องราวในซีรีส์ยังทำให้เราฉุกคิดว่า คำว่า ‘เบื้องหลังคำว่าถูกหรือผิดมีความสลับซับซ้อนกว่านั้น’ ถึงแม้จะไม่ใช่ประเด็นใหม่เสียทีเดียว แต่ก็ให้มุมมองที่ต่างออกไปในแง่รายละเอียด
ไม่ควรมีใครอยู่เหนือกฎหมาย
“เห็นว่าถ้าอายุไม่ถึง 14 ปีฆ่าคนก็ไม่ติดคุกนี่ เจ๋งอะ” นี่คือประโยคชวนสะอึกจากคดีแรกของซีรีส์ที่ทำให้คิดได้ว่าเด็กทุกคนอาจไม่ใช่ผ้าขาว แต่มีสีหม่นหมองติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด ขึ้นอยู่ที่ว่าจะขัดเกลาให้เข้ารูปเข้ารอยได้อย่างไร ซึ่งตลอดทั้งเรื่องเน้นย้ำประเด็นนี้ผ่านคำพิพากษาของชิมอึนซอก ที่ไม่ว่าจะอายุน้อยแค่ไหนหรือตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์หรือไม่ แต่เมื่อทำผิดแล้ว ท้ายที่สุดก็ต้องได้รับบทเรียนจากการกระทำของตัวเอง รวมทั้งผู้ใหญ่ก็ไม่มีข้ออ้างใดที่ให้สิทธิ์ในการทำร้ายผู้อื่น ถึงแม้จะเคยถูกกระทำมาก่อนหรือมีบุญคุณในฐานะพ่อแม่ เพราะก็มีหลายๆ ครอบครัวที่พ่อแม่นี่แหละคือเจ้ากรรมนายเวรที่สร้างบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจให้กับลูก
จุดเริ่มต้นของการทำผิดอันใหญ่หลวงคือครอบครัว
เรื่องครอบครัวมักถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงเสมอในเรื่องราวเกี่ยวกับคดีเยาวชน แต่ Juvenile Justice พาเราเข้าไปถึงแก่นของปัญหาและนึกถึงคำว่า ‘มีลูกเมื่อพร้อม’ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงอายุหรือฐานะทางการเงิน แต่หมายถึงคนที่พร้อมจะรับผิดชอบชีวิตคนอื่นในฐานะพ่อแม่ ในเรื่องเราจะได้เห็นทั้งคนที่มีเงินทองมากมาย แต่ให้ความสำคัญเรื่องลูกเป็นลำดับสุดท้าย ผู้หญิงที่เห็นแก่ตัวเกินกว่าจะเป็นแม่ใคร หรือผู้ชายที่ถ่ายทอดความรุนแรงที่ตัวเองเคยได้รับไปสู่ลูกสาว ฯลฯ ทั้งหมดส่งผลไปที่ตัวเด็ก และมักทำผิดซ้ำๆ เพราะถึงจะทำดีไปก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา
“เด็กๆ ที่มีแผลใจจากครอบครัวมักทำร้ายตัวเอง พวกแกก่ออาชญากรรมและจับกลุ่มกับเด็กไม่ดี ทั้งๆ ที่รู้ดีว่าไม่ควรทำแต่ก็ยังทำ เพราะอยากให้ความทรมานจากการทำร้ายตัวเองสร้างแผลใจให้กับครอบครัวเหมือนกัน” คำกล่าวของหัวหน้าศูนย์ฟื้นฟูเยาวชนพูรึมช่วยขยายภาพความเจ็บปวดของเยาวชนผู้กระทำผิดให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จนบางทียังแอบนึกสงสาร แม้จะหมั่นไส้พฤติกรรมเด็กเปรตของเด็กเหล่านั้นก็ตาม
ความดีที่เคยสั่งสมไว้ไม่สามารถลบล้างความผิดได้
สำหรับผู้เขียน ตอนที่อธิบายความสลับซับซ้อนของความยุติธรรมและกฎหมายได้ดีที่สุดคือคดีที่ข้อสอบของชมรมพิเศษเดการ์ตรั่ว ซึ่งสั่นคลอนศีลธรรมของผู้พิพากษา คังวอนจุง ที่ได้ชื่อว่าอุทิศตนเพื่อเยาวชนมาโดยตลอด
ความผิดแม้จะเพียงเล็กน้อยก็คือความผิด ในตอนนี้ซีรีส์สื่อให้เห็นในเรื่องนั้น แม้จะพยายามมองข้าม ปิดบัง แต่สุดท้ายก็หนีความจริงไปไม่พ้น มันทำให้เรารู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เหมือนความรู้สึกของคังวอนจุงที่ต้องพิพากษาความผิดอันน้อยนิดของลูกตัวเอง แต่จะมีผลกับอนาคตของเขาไปทั้งชีวิต คังวอนจุงพยายามใช้ช่องทางกฎหมายทำให้ลูกพ้นผิด แต่ในท้ายที่สุดเขาก็มีศีลธรรมมากพอจะยอมรับผลการกระทำของตัวเอง ทำให้ย้อนนึกถึงการประดิษฐ์คำสวยหรูของกฎหมายในเมืองไทยให้หลายๆ คนพ้นผิด ทั้งยกคุณงามความดีจากอดีตมาลบล้างความผิดในปัจจุบัน ซึ่งเอาเข้าจริงๆ กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ก็อยู่ที่ใจคนเหมือนกัน
เมื่อคนหนึ่งถูกคุมขัง อีกคนจะได้รับการปลดปล่อย
ถ้าลองสังเกตในอีพีแรกและอีพีสุดท้าย มีบางอย่างที่คล้ายกันคือการได้ปลดปล่อยตัวเองจากความทุกข์ระทมของคนเป็นแม่ โดยในอีพีแรก แม่ของเด็กชายที่เป็นเหยื่อนำของเล่นของลูกไปมอบให้กับคนอื่นเหมือนยอมละทิ้งอดีตไป ในขณะที่ตอนสุดท้าย เราได้เห็นการหลอมละลายของราชินีน้ำแข็งอึนซอก ทั้งที่ก่อนหน้านั้นก็คงมีแต่เอลซ่าที่จะเย็นชาได้มากกว่าเธอ
จะเรียกว่าการล้างแค้นหรืออะไรก็ตาม แต่นั่นคือสิ่งที่ปลดล็อกพันธนาการในใจ เมื่อได้เห็นคนที่ทำผิดได้รับผลกรรมที่ก่อเอาไว้ ซึ่งกฎหมายเป็นวิธีละมุนละม่อมที่สุดในการชดใช้ความผิดเหล่านั้น ต้องยอมรับว่าการแสดงของ คิมฮเยซู ทำให้เรารู้สึกได้ถึงความแตกสลายของคนเป็นแม่ รูปแต่ละรูป ของแต่ละชิ้นที่เธอค่อยๆ ทำลายไป เหมือนการทำลายเรื่องราวดีๆ ในอดีต แม้จะเป็นความทรงจำที่ดี แต่ถ้าเก็บไว้ชีวิตก็ก้าวต่อไปข้างหน้าไม่ได้
Juvenile Justice เป็นซีรีส์ที่ดูสนุก ถึงจะไม่ถึงกับว้าวในเรื่องการชิงไหวชิงพริบ ปะฉะดะแบบซีรีส์กฎหมายที่เคยได้ดูกัน แต่ก็ให้แง่คิดที่น่าสนใจผ่านคำคมปิดท้ายในแต่ละตอนที่ไม่อยากให้พลาดทุกประโยค Juvenile Justice รับชมได้ทาง Netflix
ภาพ: Courtesy of Netflix