หลายคนอาจไม่รู้ว่าความเครียดหรือภาวะทางอารมณ์ที่รุนแรงก็ทำร้ายหัวใจเราได้เช่นกัน เพราะอาจส่งผลให้การทำงานของหัวใจผิดปกติ ทำให้ตกอยู่ในภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียด ส่วนใหญ่มักมีอาการกะทันหันชั่วคราว หรือร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต ทางที่ดีเราจึงควรรับมือกับความเครียดให้ถูกวิธี หมั่นดูแลหัวใจให้แข็งแรง เพื่อไม่ให้ร่างกายต้องเผชิญกับอาการใจอ่อนแอ
ใจป่วย Broken Heart Syndrome คืออะไร
Broken Heart Syndrome หรือ Stress Cardiomyopathy เป็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงจากความเครียด ซึ่งค้นพบครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นในชื่อเรียกว่า Takotsubo Cardiomyopathy พบมากในหญิงวัยกลางคน ที่มีความสัมพันธ์กับความเครียดจากโรคทางกาย (Physical Stress) หรือความเครียดด้านจิตใจ (Mental Stress) ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจไม่บีบตัวและอ่อนกำลังลงชั่วคราว หัวใจด้านล่างซ้ายผิดปกติโป่งออกรูปร่างคล้ายไหจับหมึกของญี่ปุ่น ความรุนแรงนั้นอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตได้
ตัวการที่ทำให้เกิดภาวะใจอ่อนแอ
เรื่องนี้ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน แต่หมอพบว่ามีความสัมพันธ์กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ ความเครียด เช่น ความเจ็บป่วยทางการแพทย์, การสูญเสียคนรัก การหย่าร้าง, ปัญหาการงานและการเงิน, ความผิดหวังอย่างรุนแรง, อาการบาดเจ็บสาหัส, ยาเสพติด ฯลฯ ซึ่งความเครียดทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่สะสม จะทำให้หลอดเลือดหดตัว หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ เกิดภาวะหัวใจขาดเลือดและล้มเหลวได้ รวมถึงปัจจัยอื่นอย่างฮอร์โมน ที่กลุ่มอาการนี้หรือโรคนี้ส่วนใหญ่พบในผู้หญิงที่หมดประจำเดือน ฮอร์โมนเอสโตรเจนจะหมดไป ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทนต่อฮอร์โมนที่เกี่ยวกับความเครียด (Stress Hormone) ในร่างกายได้น้อย นำไปสู่ภาวะ Broken Heart Syndrome ที่จะมีอาการแสดงให้เห็นได้จาก การแน่นหรือเจ็บหน้าอก, หอบเหนื่อย, หายใจลำบาก, หน้ามืด หรือความดันเลือดต่ำ
จะรู้ได้อย่างไรว่าเราเข้าข่าย Broken Heart Syndrome
การตรวจวินิจฉัย Broken Heart Syndrome อายุรแพทย์โรคหัวใจจะพิจารณาจากอาการ ประวัติความเครียด และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นสำคัญ ประกอบไปด้วยการซักประวัติ, การตรวจเลือด, การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG/EKG) เพราะในผู้ป่วย Broken Heart Syndrome ลักษณะคลื่นหัวใจไฟฟ้าจะผิดปกติเหมือนกราฟไฟฟ้าหัวใจของผู้ป่วยหลอดเลือดหัวใจอุดตันเฉียบพลัน การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram) ที่ลักษณะการบีบตัวของหัวใจห้องล่างซ้ายผิดปกติ ความแรงในการบีบตัวของหัวใจจะลดลง ส่งผลให้หัวใจห้องล่างซ้ายอ่อนกำลัง รวมถึงการฉีดสีตรวจหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography: CAG)
การรักษาและการป้องกันอาการนี้
ภาวะ Broken Heart Syndrome ส่วนใหญ่ต้องรับไว้รักษาเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล มีอาการตั้งแต่น้อยจนถึงมากและรุนแรง หากไม่รุนแรงอายุรแพทย์โรคหัวใจจะรักษาด้วยยา สำหรับกรณีที่รุนแรงและมีภาวะหัวใจล้มเหลวร่วมด้วยอาจต้องมีการใส่ท่อและเครื่องช่วยหายใจ และต้องรักษาภาวะเครียดที่เป็นปัจจัยกระตุ้นร่วมด้วย จากรายงานวารสารต่างประเทศ ส่วนใหญ่หัวใจจะกลับมาปกติ มีโอกาสเสียชีวิตน้อยประมาณ 1% โอกาสเป็นซ้ำได้ 2-5% ส่วนการป้องกันให้เริ่มจากตนเองด้วยการทำใจให้สบาย ไม่เครียด ปรับมุมมอง เปลี่ยนความคิด นั่งสมาธิ ลองพูดคุยกับคนในครอบครัวและเพื่อน เพื่อแบ่งปันเรื่องราวและปัญหา อย่าแบกความเครียดไว้คนเดียว หมั่นดูแลสุขภาพให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สนุกกับชีวิ ด้วยกิจกรรมต่างๆ ทั้งการท่องเที่ยว ทำอาหาร เดินป่า ปลูกต้นไม้ เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ และอย่าลืมตรวจเช็กสุขภาพหัวใจ นอกจากตรวจเช็กสุขภาพทุกปี ควรต้องตรวจเช็กสุขภาพหัวใจตามคำแนะนำของแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ
ย้ำว่า Broken Heart Syndrome สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้หากเกิดความเครียด ทางที่ดีที่สุดคือเราต้องดูแลหัวใจให้เข้มแข็ง พร้อมรับมือกับทุกปัญหาด้วยความเข้าใจ สามารถจัดการความเครียดได้อย่างถูกวิธี ไม่เก็บไว้นาน และหากมีอาการผิดปกติแนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที
ภาพ: Shutterstock