ปี 2564 ที่ผ่านมา ถือว่าเป็นปีสำคัญของไทยด้านการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากมีการเติบโตทั้งการนำเข้าและส่งออกสูงที่สุดในรอบ 10 ปี สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากปริมาณการค้าระหว่างประเทศในช่วงปี 2563 มีการหดตัวลงในระดับรุนแรง โดยเป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด แต่เมื่อเข้าสู่ปี 2564 ที่มีการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าในตลาดโลก ส่งผลให้ราคาสินค้าหลากหลายประเภทปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น สนับสนุนให้การนำเข้าและส่งออกสินค้าของไทยสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด
ในปี 2564 การค้าระหว่างประเทศของไทยเติบโต 23.1% เป็นการเติบโตจากการนำเข้า 29.8% และส่งออก 17.1% ซึ่งในภาพรวมการค้าไทยเติบโตได้ดีในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดในประเทศจีนที่มีมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้าเติบโตกว่า 30% รองลงมาคือตลาดในประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรปที่เติบโต 20% และ 19% ตามลำดับ
นอกจากนี้การนำเข้าและส่งออกยังเติบโตในหลากหลายหมวดอุตสาหกรรมที่มีความต้องการฟื้นตัวสูง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และอุปกรณ์ประกอบรถยนต์ที่มีมูลค่าการค้าเติบโต 23% และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าการค้าเติบโต 21%
จากสถานการณ์ที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าของไทยปี 2564 เติบโตสูงกว่ามูลค่าการส่งออก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ ทั้งในอุตสาหกรรมการเกษตร การผลิต และพลังงาน ทำให้มูลค่าการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยสินค้าที่มีมูลค่าการนำเข้าเติบโตสูงในปี 2564 ได้แก่ เหล็กแปรรูปที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นกว่าเท่าตัวในตลาดโลก ส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าเติบโต 37% และสินค้าในกลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมันดิบที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นกว่า 40% ก็มีมูลค่าการนำเข้าเติบโตกว่า 30%
สำหรับปี 2565 แนวโน้มการนำเข้าและส่งออกสินค้าของไทยจะมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากมีความเสี่ยงด้านการระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์ใหม่ในระดับต่ำ ประกอบกับปัญหาความล่าช้าในการผลิตและการขนส่งในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) มีทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นแม้การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกจะชะลอตัวลง แต่แนวโน้มความต้องการสินค้าในตลาดโลกยังคงทรงตัวเช่นเคย และมีแนวโน้มเติบโตในระดับสูงบางกลุ่มสินค้า เช่น สินค้าเกษตร และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าอัตราการเติบโตของการนำเข้าและส่งออกของไทยในปี 2565 อาจไม่ได้มีอัตราการเติบโตที่สูงโดดเด่นเช่นปีที่ผ่านมา เพราะการนำเข้าและส่งออกในปีนี้ไม่ได้มีฐานที่ต่ำเช่นเดียวกับปี 2563 ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนด้านการประเมินเบื้องต้นของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี ที่ประเมินว่าการส่งออกสินค้าไทยปี 2565 มีการเติบโตที่ 4.5% ภายใต้มูลค่าสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศจีนยังคงเป็นประเทศที่มีแนวโน้มการส่งออกที่ดี เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการบริโภคผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ เพื่อเป็นการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงประเมินว่าปี 2565 การส่งออกไปประเทศจีนจะเติบโตได้ถึง 7.7% นำโดยการส่งออกด้านอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และสินค้าเกษตรที่จะได้รับอานิสงส์จากการส่งออกสินค้าผ่านเส้นทางการส่งออกใหม่ๆ เช่น เส้นทางรถไฟ เป็นต้น
ด้านมูลค่าการนำเข้าของไทยในปี 2565 ประเมินว่าจะเติบโต 3.5% เนื่องจากราคาสินค้าวัตถุดิบในตลาดโลกทั้งราคาพลังงานและเหล็กจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงเพียงแค่ช่วงครึ่งปีแรกเท่านั้น และจะปรับตัวลดลงในช่วงครึ่งปีหลังเมื่ออุปสงค์และอุปทานปรับตัวกลับเข้าสู่สมดุล ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการนำเข้าตลอดทั้งปีเติบโตไม่สูงมากนัก แต่เมื่อเทียบกับอดีต การนำเข้าสินค้าของไทยปี 2565 ก็ยังคงมีการเติบโตที่ดี หลังมีการหดตัวต่อเนื่องในปี 2562 และ 2563
สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกควรพึงระวังในปี 2565 มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็น ประเด็นแรกคือ ค่าขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางเรือ ในปี 2564 ค่าระวางเรือปรับตัวเพิ่มสูงสุดในรอบหลายปี ถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้นำเข้าและส่งออก ถึงแม้ความสามารถในการขนส่งสินค้าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 2565 แต่สิ่งที่ควรพึงระวังคือ การส่งผ่านด้านต้นทุนราคาพลังงานมาสู่ค่าระวางเรือ โดยราคาพลังงานในตลาดโลกที่นำโดยกลุ่มน้ำมันดิบที่ยังคงปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลกระทบทำให้ราคาค่าขนส่งปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้ปี 2565 ผู้นำเข้าและส่งออกจำเป็นต้องแบกรับต้นทุนการขนส่งในราคาที่เพิ่มสูงขึ้น
ประเด็นที่ 2 ที่เป็นความเสี่ยงสำคัญต่อผู้ทำธุรกิจระหว่างประเทศนั่นคือ ความผันผวนของค่าเงินบาท โดยในปี 2565 ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักมาจากปัจจัยภายนอกประเทศ เช่น นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ในปีนี้มีแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง
การคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลให้ตลาดการเงินมีการไหลเข้าและออกของเงินทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นที่น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น และส่งผลกระทบต่อประเทศไทยคือ เกิดการไหลเข้าและออกของเงินบาทไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าระดับปกติ ทำให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนมากขึ้น เมื่อศึกษาความผันผวนของค่าเงินบาทผ่านดัชนีความผันผวนระหว่างสกุลเงินบาทและสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในช่วงปี 2558 อันเป็นช่วงเวลาก่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในระดับ 9% ต่อปี ถือเป็นระดับสูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ในรอบ 10 ปี
กล่าวโดยสรุปคือ ปี 2565 จะเป็นอีกปีที่การนำเข้าและส่งออกของไทยมีทิศทางการเติบโตที่ดี ภายใต้การฟื้นตัวของภาคการผลิตและการบริโภคจากต่างประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นความเสี่ยงที่ต้องระวัง เช่น ต้นทุนที่สูงขึ้น และความเสี่ยงด้านค่าเงิน ดังนั้นผู้นำเข้าและส่งออกจึงควรศึกษาเครื่องมือทางการเงินเพื่อลดความเสี่ยงด้านการผันผวนของค่าเงินบาท ผ่านการประกันความเสี่ยงค่าเงินด้วยเครื่องมือที่เหมาะสม เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า หรือการใช้บัญชีเงินฝากสกุลเงินต่างประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาทได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP