×

ทำไมสหราชอาณาจักรเริ่มผ่อนคลายมาตรการ

31.01.2022
  • LOADING...
ผ่อนคลายมาตรการ

“วัคซีน การตรวจหาเชื้อ และยาต้านไวรัส ช่วยให้มั่นใจว่าเรามีระบบป้องกันที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป และช่วยให้เรากลับไปใช้แผน A อย่างระมัดระวัง ซึ่งฟื้นคืนอิสรภาพมากขึ้นให้กับประเทศ” ซาจิด จาวิด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร กล่าวเมื่อวันที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่สหราชอาณาจักรเริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิดอีกครั้ง หลังจากใช้แผน B มา 7 สัปดาห์ 

 

แผน B (Plan B) เป็นแผนการควบคุมโควิดในฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาวที่เตรียมไว้ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2564 เพราะเป็นช่วงที่จะมีการระบาดของไวรัสทางเดินหายใจตามฤดูกาลเป็นประจำทุกปี ทำให้คาดการณ์ได้ว่าจะมีการระบาดของโควิดเพิ่มขึ้น เมื่อฤดูหนาวมาถึงมีการระบาดของโอมิครอน ผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าทุก 2-3 วัน ทำให้ทางการตัดสินใจใช้แผน B เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564

 

ทำไมสหราชอาณาจักรถึงกลับมาใช้แผน A ถ้าเลือกได้คำตอบเดียว คำตอบนั้นน่าจะเป็นการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะปัจจุบันมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้วมากกว่า 60% (คำนวณเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 12 ปี) ถึงแม้การรณรงค์ฉีดเข็มกระตุ้นในสหราชอาณาจักรจะเริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคมแล้ว แต่ในช่วงที่มีการประกาศใช้แผน B ได้มีการรณรงค์อย่างเข้มข้น จนสามารถฉีดวัคซีนได้วันละเกือบ 1 ล้านโดสตลอดสัปดาห์ก่อนเทศกาลคริสต์มาส

 

“มีเหตุผลทางระบาดวิทยาที่พยายามและชะลอการระบาดเพื่อซื้อเวลามากขึ้นในการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพราะเราเชื่อว่าคนที่ได้รับเข็มกระตุ้นจะมีระดับการป้องกันดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

“นอกจากนี้ยังซื้อเวลามากขึ้นในการประเมินภัยคุกคามนี้” ศ.นีล เฟอร์กูสัน นักระบาดวิทยาจาก Imperial College London แสดงความเห็นในวันที่ 8 ธันวาคม 2564 “แผน B ซึ่งประกอบด้วยการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) อาจชะลอการระบาดมากกว่าจะหยุดโอมิครอน ระยะเวลาที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า (Doubling Time) จะยาวขึ้นเป็นทุก 5-6 วัน”

 

ผลจากการซื้อเวลาดังกล่าวทำให้พบว่า การฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนชนิด mRNA ทั้ง Pfizer-BioNTech และ Moderna ในสหราชอาณาจักร สามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อแบบมีอาการได้ประมาณ 60% และลดความเสี่ยงในการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ประมาณ 80-90% นำมาซึ่งคำตอบที่ 2 คือสายพันธุ์โอมิครอนรุนแรงน้อยกว่าเดลตา โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว

 

ข้อมูลจากการศึกษาเมื่อปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาพบว่า อัตราการรักษาตัวในโรงพยาบาลของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนน้อยกว่าเดลตาประมาณ 1 ใน 3 เมื่อวัคซีนป้องกันอาการรุนแรง ประกอบกับมีผู้ที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มมากกว่า 80% และได้รับเข็มกระตุ้นมากกว่า 60% ถึงแม้ไวรัสแพร่ระบาดเร็วขึ้น แต่จำนวนผู้ป่วยอาการหนักจะไม่เพิ่มขึ้นมากจนเกินศักยภาพของระบบสาธารณสุข

 

ปัจจุบันจำนวนผู้ติดเชื้อมีแนวโน้มลดลงเหลือ 240 รายต่อประชากร 1 ล้านคน กราฟอัตราการติดเชื้อรายวันผ่านจุดสูงสุดเมื่อต้นเดือนมกราคม 2565 มาแล้ว ทว่ายังไม่ลดลงไปเท่ากับช่วงก่อนประกาศใช้แผน B ทำให้แพทย์บางคนเตือนว่า การผ่อนคลายครั้งนี้เร็วเกินไป เพราะทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยกว่าความเป็นจริง (False Sense of Security) และระบบสาธารณสุขยังตึงตัวอยู่

 

คำตอบที่ 3 คือการเคารพในเสรีภาพและการตัดสินใจด้วยตนเองของประชาชน เพราะมาตรการในแผน B เป็นการบังคับใช้กฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการบังคับสวมหน้ากากในสถานที่สาธารณะ การบังคับใช้วัคซีนพาสปอร์ต (NHS COVID Pass) ในการเข้าใช้บริการร้านอาหารและสถานบันเทิง และการให้ทำงานจากที่บ้าน ส่วนในแผน A มาตรการข้างต้นนี้จะเป็นความสมัครใจของประชาชนทั้งหมด

 

โดยยังแนะนำให้สวมหน้ากากในสถานพยาบาล เช่น โรงพยาบาล ร้านขายยา สถานที่แออัด/อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และผู้ติดเชื้อยังต้องกักตัว 10 วัน หรือ 5 วัน ร่วมกับผลการตรวจเป็นลบ 2 ครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่สหราชอาณาจักรตัดสินใจกลับไปใช้แผน A สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนที่ชื่อ BA.2 กำลังเพิ่มขึ้นจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งในประเทศและต่างประเทศบางประเทศ ข้อมูลเบื้องต้นพบว่า แพร่กระจายเร็วกว่า BA.1 (สายพันธุ์หลัก) แต่การหลบหลีกภูมิคุ้มกันดูเหมือนว่าจะไม่ต่างกัน ดังนั้นเราจะได้เห็นแนวโน้มสถานการณ์จริงของสายพันธุ์ใหม่ในอีกไม่ช้านี้

 

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X