จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีการแก้ปัญหาราคาหมูในประเทศว่า ภาพรวมของการแก้ปัญหาหมูนั้นทุกฝ่ายทราบแล้วว่าปริมาณหมูในระบบขาดแคลน โดยต้องดำเนินการร่วมกันหลายกระทรวง และนายกรัฐมนตรีก็เข้ามาช่วยดูแลสั่งการ ซึ่งทางแก้ ประการแรกต้องเร่งเพิ่มปริมาณหมูในระบบ เพื่อให้อุปสงค์และอุปทานมีความสมดุลขึ้น ราคาจะได้ปรับลดลงสู่ระดับที่สมดุลขึ้นกว่าในปัจจุบัน
ประการต่อมาต้องเร่งส่งเสริมการเลี้ยงหมู ซึ่งขณะนี้รัฐบาลมีมติเตรียมดำเนินการวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขพิเศษ ให้กระทรวงการคลังดำเนินการเร่งส่งเสริมการเลี้ยงหมู วงเงิน 3 หมื่นล้านบาท และกรมปศุสัตว์เร่งผลิตลูกหมูประมาณ 3 แสนตัวต่อสัปดาห์ และเร่งประสานงานกับผู้เลี้ยงหมูรายย่อย
รมว.พาณิชย์ กล่าวต่อว่า สำหรับในส่วนของอาหารสัตว์ที่เป็นต้นทุนสำคัญในการเลี้ยงหมูขณะนี้มีความเห็นบางส่วนเสนอว่าควรปรับลดภาษีวัตถุดิบบางส่วนซึ่งเป็นหน้าที่กระทรวงการคลังพิจารณา ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาไปแล้ว 2 เรื่อง ได้แก่
- สั่งห้ามส่งออกหมูเป็นการชั่วคราว เพื่อให้หมูกลับสู่ระบบอีกประมาณ 1 ล้านตัว
- ติดตามการขายหมูตั้งแต่หน้าฟาร์ม โดยทำงานร่วมกับกรมปศุสัตว์ กำหนดราคาหมูหน้าฟาร์ม และกำหนดทิศทางราคาที่ควรจะเป็นโดยกรมการค้าภายใน ไม่ให้เข้าข่ายการค้ากำไรเกินควรหรือฉวยโอกาส เพื่อมุ่งเน้นให้ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูมีรายได้ที่จูงใจให้กลับเข้ามาเลี้ยงหมูต่อไป และมีกำไรพอยังชีพต่อไปได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็อยู่ได้ ผู้บริโภคก็พอใจ ไม่เป็นภาระจนเกินสมควร
“ผู้ที่ฉวยโอกาสในการขึ้นราคาสินค้าหรือค้ากำไรเกินควรจะมีการดำเนินคดีโดยเคร่งครัด และที่ปรากฏเป็นกระแสข่าวว่าอาจจะมีการกักตุนเนื้อหมูที่จังหวัดสงขลา ขณะนี้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเป็นแกนสำคัญในการเข้าไปตรวจสต๊อกร่วมกับกรมปศุสัตว์และพาณิชย์จังหวัด หากพบว่ามีการกักตุนสินค้าหรือฉวยโอกาสขึ้นราคา จะมีการดำเนินคดีลงโทษขั้นสูงสุด และฝากขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา หรือหากพบการกระทำความผิดหรือสงสัยว่าเป็นการกระทำความผิดขอให้ช่วยแจ้งสายด่วน 1569 ด้วย เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้ลงไปตรวจสอบและดำเนินการได้ทันที” จุรินทร์กล่าว
จุรินทร์กล่าวอีกว่า นอกจากการดูแลปัญหาราคาหมูแล้ว ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังเร่งดูแลราคาสินค้าอื่นๆ ในภาพรวมด้วย โดยได้สั่งการให้ตั้งวอร์รูมทั้งในกรุงเทพมหานครและทุกจังหวัด โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ
นอกจากนี้ยังได้สั่งการให้กรมการค้าภายในเรียกประชุมผู้ผลิต ผู้ประกอบการผู้ค้า และสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจับมือกันตรึงราคาสินค้าหมวดสำคัญต่อชีวิตประจำวัน มีมาตรการออกมาชัดเจนในหลายเรื่องเช่น
- เครื่องใช้ไฟฟ้าจะไม่มีการขึ้นราคา
- น้ำอัดลม
- บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
- ซอสปรุงรส
ส่วนของไข่ไก่นั้นตกลงกันว่าจะตรึงราคาไข่ไก่หน้าฟาร์มไว้ที่ 2.90 บาท ส่วนราคาขายส่งขายปลีกจะบวกไป ซึ่งมีสูตรคำนวณชัดเจนอยู่แล้ว
ส่วนเรื่องไก่ได้มีมติให้เป็นสินค้าควบคุมทั้งไก่เป็นและผลิตภัณฑ์จากไก่ ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารหน้า (25 มกราคม) รวมทั้งกำหนดให้ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับไก่ต้องแจ้งสต๊อก ต้นทุน และให้กรมการค้าภายในประชุมร่วมกับผู้ประกอบการและเกษตรกรถึงราคาที่เหมาะสมควรว่าควรจะเป็นเท่าไร ซึ่งได้ดำเนินการไปเรียบร้อยแล้ว
“ขณะนี้ในภาพรวมสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันที่จะต้องขออนุญาตจากกรมการค้าภายในหากมีการปรับราคา กรมการค้าภายในยังไม่มีการอนุญาตให้สินค้ารายใดที่ต้องขออนุญาตปรับราคาขึ้นแต่อย่างใดทั้งสิ้น เรามีนโยบายชัดเจนว่าต้องตรึงราคาไว้ให้มากที่สุด แต่ทุกฝ่ายต้องอยู่ได้ด้วยความเป็นธรรม และถ้าใครทำผิดกฎหมาย ละเมิดข้อตกลง หรือว่ากักตุนฉวยโอกาสค้ากำไรเกินควร ให้ผู้มีหน้าที่ดำเนินคดีและให้ลงโทษขั้นสูงสุด” รมว.พาณิชย์ กล่าว
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP