ท่ามกลางเหตุการณ์ร้อนระอุตลอดปี 2021 ทั้งโรคระบาดที่เรื้อรังมานานกว่า 2 ปี เหตุการณ์ทางการเมืองที่ยังคงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ การส่งออกวัฒนธรรมหรือ Soft Power กลับกลายมาเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังรัฐบาลไทยทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับประเทศจีนเพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์และละคร อีกทั้งยังพูดถึงการผลักดัน Soft Power ของไทยผ่าน Netflix ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นแรงกระเพื่อมจากความสำเร็จของ Squid Game ในปีที่ผ่านมา
แต่ก่อนที่รัฐบาลไทยจะหมายมั่นปั้นมือกับการส่งออก Soft Power (ซึ่งจริงๆ ก็บอกว่าจะ ‘ปั้น’ มาหลายครั้งแล้ว ให้มากขึ้นในปีต่อๆ ไป เรามาย้อนดูกันดีกว่าว่าตลอดปี 2021 การส่งออกวัฒนธรรมของเราไปได้ไกลแค่ไหน และมีแนวโน้มอะไรบ้างที่จะทำให้ประเทศไทยเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นในปี 2022
คนไทยที่ทำให้ชื่อ ‘ประเทศไทย’ กลับไปโลดแล่นบนสื่อทั่วโลกอีกครั้ง
หากจะพูดถึงคนไทยสักคนที่โด่งดังไปในระดับโลก ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล สมาชิกชาวไทยจากวง BLACKPINK คงเป็นคนแรกๆ ที่หลายคนนึกถึงและปฏิเสธไม่ได้ว่าเธอเป็นหนึ่งในแรงกระเพื่อมสำคัญที่ทำให้รัฐบาลไทยหันกลับมาให้ความสนใจกับการส่งออก Soft Power อีกครั้ง
หลังจากที่เพลงโซโล่เดบิวต์อย่าง LALISA ถูกปล่อยออกมาในช่วงต้นเดือนกันยายน และกลายเป็นมิวสิกวิดีโอที่ขึ้น Trending อันดับ 1 ใน YouTube ด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง
โดยมิวสิกวิดีโอเพลงนี้ได้สอดแทรกวัฒนธรรมไทยเอาไว้หลายอย่าง ทั้งท่าเต้นที่มีการดัดแปลงมาจากท่ารำไทย และชุดของลิซ่าที่สวมใส่ผ้าไหมไทยกับรัดเกล้า ทำให้หลังจากปล่อยมิวสิกวิดีโอออกมาไม่นาน รัดเกล้าและชฎาที่มีลักษณะใกล้เคียงกันก็ถูกเหมาจากร้านค้าในตลาดสำเพ็งและร้านค้าออนไลน์จนหมดสต๊อก
จนถึงวันนี้ทั้งชุดผ้าไหมไทย รัดเกล้า หรือท่ารำไทย ก็ได้ถูกเผยแพร่ออกไปสู่สายตาคนทั่วโลกมากกว่า 367 ล้านครั้ง (เช่นเดียวกับบางสายตาของคนไทยที่บอกว่า ไม่เหมาะสม!) ผ่านมิวสิกวิดีโอเพลง LALISA
นอกจากคนดังในฝั่งของวงการเพลงแล้ว ในปี 2021 ยังมีคนไทยที่ได้ไปพิสูจน์ความสามารถในแวดวงภาพยนตร์ระดับโลกเช่นกัน ด้วยผลงานภาพยนตร์เรื่อง Memoria จากฝีมือการกำกับของ เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่คว้ารางวัล Jury Prize จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ 2021 มาได้สำเร็จ
และกลายเป็นชาวไทยคนแรกที่คว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ไปถึง 3 ครั้ง ได้แก่ รางวัล Un Certain Regard Prizes จากภาพยนตร์ สุดเสน่หา (2002), รางวัล Jury Prize จากภาพยนตร์ สัตว์ประหลาด! (2004) และรางวัล Palme d’Or จากภาพยนตร์ ลุงบุญมีระลึกชาติ (2010) ด้วยความสามารถของเจ้ย จึงทำให้ชื่อของผู้กำกับไทยและประเทศไทยกลับไปอยู่บนสื่อระดับโลกอีกครั้งในปีที่ผ่านมา
ในขณะที่ประเทศโคลอมเบีย (หนึ่งในประเทศร่วมทุนสร้าง) ส่ง Memoria เป็นตัวแทนชิงรางวัลออสการ์ สาขาหนังต่างประเทศยอดเยี่ยม ต้องมารอดูกันว่ารัฐบาลไทยที่บอกว่าจะสนับสนุน Soft Power ไทย จะมีรีแอ็กชันอย่างไรกับภาพยนตร์ไทยที่ไปได้ไกลระดับนี้
T-Pop กับการติดโผในชาร์ตเพลงระดับโลก
แม้วงการบันเทิงไทยจะซบเซาไปมากหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด แต่นับได้ว่า 2021 กลับกลายเป็นปีทองที่ 7 เพลงไทยขึ้นไปโลดแล่นอยู่บนชาร์ต Billboard ได้สำเร็จ
เริ่มต้นปี 2021 ด้วยเพลงไทยเพลงแรกที่สามารถทะยานเข้าสู่ชาร์ต Billboard Global ในลำดับที่ 89 ได้สำเร็จ นั่นคือ เพลง ทน ของ Sprite (สไปร์ท-ศุกลวัฒน์ พวงสมบัติ) และ Guygeegee (กาย-กล้าไม้ ไมเกิ้ล) ที่นอกจากจะเป็นก้าวสำคัญของวงการเพลงไทยแล้ว ยังนับเป็นอีกหนึ่งก้าวที่น่าจับตามองของวงการฮิปฮอปไทยด้วยเช่นกัน
ตามมาด้วยเพลงในอัลบั้ม 365 ของ มิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ ที่ขึ้นไปติดโผอยู่บนชาร์ต Billboard World Digital Song Sales ถึง 5 เพลงด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Drowning ในอันดับที่ 4, Missing You ในอันดับที่ 5, Let Me Be ในอันดับที่ 6, More And More ในอันดับที่ 7 และ Time Machine ในอันดับที่ 8 จนทำให้สื่อทั่วโลกหันมาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก แม้แต่บทความในนิตยสารระดับโลกอย่าง Forbes ยังเขียนชื่นชมถึงการเข้าสู่ Billboard Charts ครั้งแรกถึง 5 เพลงรวดของมิวด้วยเช่นกัน
ส่งท้ายปี 2021 ด้วยโปรเจกต์พิเศษของ 3 ศิลปินมากความสามารถ อย่าง F.HERO (กอล์ฟ-ณัฐวุฒิ ศรีหมอก), Milli (มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล) และ ชางบิน สมาชิกวง Stray Kids ที่ส่งเพลง Mirror Mirror ให้กลายมาเป็นเพลงไทยเพลงที่ 7 ที่สามารถไต่ขึ้นชาร์ต Billboard World Digital Song Sales ในอันดับที่ 19 ได้สำเร็จ จนทำให้เสียงแหบเสน่ห์ของ F.HERO กับแรปที่เต็มไปด้วยจริตความน่ารักของ Milli กลายเป็นที่พูดถึงของแฟนเพลงต่างชาติจำนวนมาก
เมื่อภาพยนตร์และซีรีส์ไทยค่อยๆ เข้าไปครองพื้นที่ในใจของผู้ชมเอเชีย
หลายปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าภาพยนตร์และซีรีส์เกาหลีได้เข้ามาครองใจผู้ชมชาวไทยไว้ได้อย่างเหนียวแน่น จนกระทั่งปี 2021 เรากลับพบว่าภาพยนตร์ไทยอย่าง ร่างทรง ด้วยฝีมือการกำกับของ โต้ง-บรรจง ปิสัญธนะกูล ได้เข้าไปสร้างตำนานความสยองขวัญจนครองใจผู้ชมเกาหลีใต้ด้วยการไต่ขึ้นสู่ Top 3 บน Box Office เกาหลีใต้ และโกยรายได้ถึง 5.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (184 ล้านบาท) หลังเข้าฉายเพียง 7 วัน
นอกจากความสำเร็จในเชิงรายได้ ร่างทรงยังเป็นภาพยนตร์ไทยที่ได้นำวัฒนธรรมไทยในแบบฉบับความเชื่อท้องถิ่นและวิถีชีวิตของชาวอีสานไปเผยแพร่สู่สายตาชาวต่างชาติอีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่าการเผยแพร่ Soft Power ไม่จำเป็นจะต้องยึดติดกับการรำไทย อาหารไทย ชุดไทยเพียงอย่างเดียว เพราะหากเปิดใจให้กว้างจะพบว่าประเทศไทยมีวัฒนธรรมท้องถิ่นที่พร้อมนำมาส่งออกผ่านสื่อได้มากมาย ขาดแค่เพียงการให้คุณค่าและหยิบยกมาบอกเล่าต่อก็เท่านั้น
ในปี 2021 ยังมีซีรีส์ไทยอีกหลายเรื่องที่โกอินเตอร์ไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทยอยู่ในมุมต่างๆ ของโลก เช่น ซีรีส์ เด็กใหม่ ซีซีน 2 ออริจินัลซีรีส์จาก Netflix กับการกลับมาอีกครั้งของ ‘แนนโน๊ะ’ ที่ส่งให้ซีรีส์เรื่องนี้ก้าวขึ้นสู่หนึ่งใน 10 อันดับคอนเทนต์ยอดนิยมในหมวด TV Shows ของ 7 ประเทศแถบเอเชีย อีกทั้งยังเกิดเป็นกระแสการใส่ชุดนักเรียนไทยเลียนแบบนักแสดงในซีรีส์จนเว็บไซต์ซื้อขายออนไลน์ต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ได้นำชุดนักเรียนไทยมาเปิดขายเป็นจำนวนมาก
สิ่งนี้ไม่เพียงแสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของซีรีส์ เด็กใหม่ ซีซัน 2 เท่านั้น แต่สะท้อนถึงการที่ซีรีส์ไทยกำลังได้รับการยอมรับและมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้คนในต่างประเทศมากขึ้น ไม่ต่างกับการที่เราดูซีรีส์เกาหลีแล้วอยากแต่งตัว แต่งหน้า หรือรับประทานอาหารเลียนแบบในซีรีส์เกาหลี
เมื่อพูดถึงซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกมากที่สุดในปีที่ผ่านมา คงหนีไม่พ้น ‘ซีรีส์วาย’ ที่หลายคนมองว่ากำลังกลายเป็นความหวังใหม่ในการส่งออก Soft Power ไทย และตลอดปีที่ผ่านมาซีรีส์วายก็ได้เดินทางไปครองใจผู้ชมทั่วเอเชียไว้ได้สำเร็จ
เริ่มต้นด้วย เพราะเราคู่กัน 2gether The Series ซีรีส์ที่แจ้งเกิด ไบร์ท-วชิรวิชญ์ ชีวอารี และ วิน-เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร ให้กลายเป็นขวัญใจแฟนซีรีส์วายในเวลาอันรวดเร็ว และแม้จะผ่านมาข้ามปี แต่กระแสของซีรีส์เรื่องนี้ยังคงไม่หายไปไหน อีกทั้งยังมีการดัดแปลงเป็นเวอร์ชันภาพยนตร์เพื่อเข้าฉายที่ประเทศญี่ปุ่น และได้รับการตอบรับอย่างดีจนทำให้บัตรชมภาพยนตร์ขายหมดทุกรอบ ทุกโรงภาพยนตร์ เมื่อไม่นานมานี้เองทางเกาหลีใต้ก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์เรื่องนี้ไปดัดแปลงเป็นการ์ตูนทาง WEBTOON อีกด้วย
นับสิบจะจูบ เป็นซีรีส์วายเรื่องแรกของช่อง 3 ที่สามารถสร้างเสียงฮือฮาได้ตั้งแต่วันแรกของการแถลงข่าวจนวันที่ซีรีส์ออนแอร์จบ และยังเป็นซีรีส์ยอดนิยมใน WeTV ของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นฟิลิปินส์ เวียดนาม ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน อีกทั้งยังติดเทรนด์โลกใน Twitter แทบจะทุกสัปดาห์ที่ซีรีส์ออนแอร์ ในสัปดาห์สุดท้าย #NubsibTheEnd ก็สามารถติดเทรนด์โลกสูงสุดด้วยอันดับที่ 3 จากการพูดถึงของแฟนซีรีส์ทั่วโลก
แปลรักฉันด้วยใจเธอ ยังคงมีกระแสอย่างต่อเนื่องในปี 2021 เพราะนอกจากซีซัน 2 จะถูกพูดถึงบนโลกออนไลน์อย่างสม่ำเสมอ ซีรีส์เรื่องนี้ยังคว้ารางวัล International Drama of the Year จากงาน Seoul International Drama Awards ที่จัดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย
นอกจากนี้ แปลรักฉันด้วยใจเธอ ยังเป็นซีรีส์ที่ได้รับเชิญให้เข้าฉายในงาน Hong Kong Asian Film Festival เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และได้รับกระแสตอบรับอย่างล้มหลามจากแฟนซีรีส์ฮ่องกง จนทำให้ตั๋วทั้ง 3 รอบขายหมดในเวลาเพียง 1 ชั่วโมงเท่านั้น
นอกจากภาพยนตร์และซีรีส์แล้ว เมื่อมองกลับมายังฝั่งของละครไทย แม้จะเป็นความบันเทิงที่คนไทยหลายคนเบือนหน้าหนี แต่ต้องยอมรับว่าในปี 2021 ก็ยังคงมีพื้นที่และโอกาสใหม่ๆ ให้กับละครไทยอยู่ เมื่อช่องทีวีหลายช่องเริ่มหันมาเห็นโอกาสจาก OTT (Over-the-top TV) ซึ่งเป็นบริการรับชมเนื้อหาผ่านทางสตรีมมิงแพลตฟอร์มมากขึ้น ทำให้เกิดการทดลองเล่าเรื่องราวใหม่ๆ ที่เราไม่เคยเห็นในละครไทยมาก่อน
ตัวอย่างเช่น ให้รัก..พิพากษา ละครที่เล่าเรื่องราวความรักของทนายสาวและทนายฝึกหัดที่อายุน้อยกว่า ผ่านเส้นเรื่องหลักเกี่ยวกับอาชีพทนายและอัยการ นับเป็นเรื่องราวที่เราไม่พบมากนักในละครไทย และถือเป็นการเปิดทางที่ดีให้กับการทดลองตลาด OTT ในปีที่ผ่านมา เพราะ ให้รัก..พิพากษา สามารถติดอันดับ 1 ใน Netflix ประเทศไทยได้ถึง 3 สัปดาห์ และมีกระแสพูดถึงจนติดเทรนด์บนโลกออนไลน์ของประเทศในแถบเอเชียหลายครั้ง
Soft Power ไทยจะงัดไม้เด็ดอะไรมาฮุกต่อในปี 2022?
การเดินทางของ Soft Power ไทยในปี 2021 อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น แต่ก็นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีทีเดียว เพราะความสำเร็จที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าผู้คนทั่วโลกกำลังเปิดใจรับเพลงไทย ภาพยนตร์ไทย หรือซีรีส์ไทย เข้าไปในใจมากขึ้น
เมื่อมองไปถึงโอกาสในการเผยแพร่ Soft Power ในปี 2022 ซีรีส์วายก็ดูจะเป็นโอกาสที่น่าสนใจมากที่สุด เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าจะมีซีรีส์วายออกมากี่เรื่องก็ต้องยอมรับว่ามักจะได้รับความสนใจและมีกระแสตอบรับที่ดีจากแฟนซีรีส์ชาวไทยและต่างชาติอยู่เสมอ ประกอบกับการเข้ามาของสตรีมมิงแพลตฟอร์มอย่าง WeTV หรือ Viu ก็เป็นโอกาสที่ซีรีส์วายจะได้ไปโลดแล่นในตลาดผู้ชมต่างประเทศมากขึ้น
และจากการเปิดตัวซีรีส์วายในช่วงที่ผ่านมา ในปีหน้าประเทศไทยคงมีซีรีส์วายให้รับชมกันประมาณ 20-30 เรื่อง เพราะแค่ GMM TV ค่ายเจ้าประจำในการผลิตซีรีส์วาย ก็เปิดตัวซีรีส์ในโปรเจกต์ GMMTV 2022 ออกมาแล้วถึง 8 เรื่อง ในขณะที่แพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่าง WeTV ก็ประกาศเปิดตัวซีรีส์วายที่จะออนแอร์ในปีหน้าออกมา 4 เรื่องด้วยกัน ยังไม่นับรวมค่ายอื่นๆ ที่เริ่มทยอยประกาศเปิดตัวซีรีส์วายเรื่องใหม่กันอีกหลายเรื่อง
จึงน่าจับตามองว่าปี 2022 อาจเป็นปีที่ซีรีส์วายไทยจะได้ไปครอบครองพื้นที่ในระดับโลกมากขึ้น ในขณะที่กระแสของละครไทยที่เข้ามาทดลองตลาด OTT ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้มากขึ้น ทำให้ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องยึดติดอยู่กับผู้ชมละครไทยกลุ่มเดิม และได้ทดลองสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ มากขึ้น
อีกหนึ่งกระแสที่น่าจะเป็นโอกาสทองในปี 2022 คือกระแส T-Pop ที่กำลังค่อยๆ เติบโตขึ้น แม้ 2 ปีที่ผ่านมาจะประสบกับปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด จนทำให้การทำเพลง การถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ และการจัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มฐานแฟนคลับเป็นไปได้ยาก แต่การเกิดขึ้นของค่ายเพลงใหม่ๆ ที่พร้อมผลักดันและผลิตศิลปินหน้าใหม่ออกมาก็ถือเป็นโอกาสที่ดีของวงการเพลงไทย
โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ YGMM จากความร่วมมือของค่ายเพลงอันดับต้นๆ ในไทยอย่าง GMM Grammy และค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ทางฝั่ง K-Pop อย่าง YG Entertianment ที่เมื่อไม่นานมานี้ได้เปิดรับสมัครศิลปินฝึกหัดเป็นที่เรียบร้อย และมีคนจากทั่วโลกส่งผลงานมาออดิชันออนไลน์มากกว่า 60,000 คน
นอกจากนี้ในปีที่ผ่านมายังเกิดรายการค้นหาไอดอลรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เพียงการค้นหาศิลปินเดี่ยวหรือวงดนตรีแบบที่เคยมีมา แต่เป็นรายการเซอร์ไววัลค้นหาบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปที่เราเคยเห็นกันบ่อยๆ ในวงการเพลงของเกาหลีใต้ เช่น รายการ Last Idol Thailand หรือรายการ LAZ iCON ไอคอนป๊อป ตัวท็อปเดบิวต์ ที่กำลังออนแอร์และเป็นกระแสอยู่ในตอนนี้
ประกอบกับกระแสจากวงบอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปอย่าง 4EVE, PiXXiE, 9×9, TRINITY, 4MIX, ATLAS และวงอื่นๆ ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ ก็ช่วยสร้างฐานแฟนคลับให้กับ T-Pop ได้มากพอสมควร ด้วยการดึงดูดแฟนเพลงต่างชาติให้หันมาสนใจ T-Pop มากขึ้น และที่สำคัญคือการดึงดูดแฟนเพลงชาวไทยที่ชื่นชอบ K-Pop, J-Pop หรือ C-Pop ให้กลับมาติดตามวงการเพลงไทยอีกครั้ง จนเกิดเป็นกลุ่มแฟนคลับทั้งชาวไทยและต่างชาติที่พร้อมสนับสนุน T-Pop มากขึ้นในอนาคต
นอกจากโอกาสและแนวโน้มใหม่ๆ ที่จะเป็นแต้มต่อในการส่งออกวัฒนธรรมไทยในอนาคต สิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยหรือแม้แต่ผู้ผลิตควรคำนึงถึงคือการปรับมุมมองเกี่ยวกับการเผยแพร่วัฒนธรรมเสียใหม่ เพราะวัฒนธรรมไทยยังมีอะไรที่มากกว่าการรำไทย อาหารไทยที่นอกเหนือจากตำรับชาววัง และมีวิถีชีวิตของผู้คนที่รอได้รับการมองเห็นเพื่อหยิบยกไปบอกเล่าต่อ เพราะหากประเทศไทยยังส่งออกแต่วัฒนธรรมแช่เเข็งที่ปรับเปลี่ยนหรือแตะต้องไม่ได้ วัฒนธรรมที่พยายามรักษาหรือหวงแหนก็จะค่อยๆ หายไปในที่สุด
ต่อจากนี้ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่าแนวทางการเผยแพร่ Soft Power ที่รัฐบาลหันมาให้ความสนใจจะเป็นอย่างไร และจะมีโอกาสใหม่ๆ อะไรบ้างที่จะช่วยผลักดันวัฒนธรรมไทยไปสู่ระดับโลกในอนาคต
ซึ่งแน่นอนว่าฝั่ง ‘รัฐบาล’ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญว่าจะช่วยสนับสนุนการส่งออกวัฒนธรรมครั้งนี้อย่าง ‘จริงจัง’ และ ‘เข้าใจ’ มากแค่ไหน เพื่อไม่ให้ Soft Power เป็นแค่วัฒนธรรมขายฝัน แต่สุดท้ายก็ปล่อยให้ฝั่งผู้ผลิต ศิลปิน และประชาชน เป็นคนออกแรงผลักดันด้วยตัวเองเหมือนที่ผ่านมา
อ้างอิง:
- https://www.instagram.com/lalalalisa_m/?hl=es
- https://www.facebook.com/photo?fbid=10219645004538220&set=a.1150741651279
- https://www.facebook.com/festivaldecannes
- https://web.facebook.com/MewSuppasitStudio
- https://www.facebook.com/Highcloudentertainment/
- https://www.facebook.com/gdh559
- https://web.facebook.com/NetflixTH
- https://mobile.facebook.com/2GetherTheSeries/photos/a.100230868354634/100230875021300/?type=3&_rdc=1&_rdr
- https://web.facebook.com/NadaoContent/?_rdc=1&_rdr
- https://mobile.facebook.com/wetvthailand/
- https://ch3plus.com/drama/1159
- https://web.facebook.com/gmmtvofficial
- https://web.facebook.com/4EVEofficial/photo