×

เจาะลึกเลือกตั้งกาตาลุญญา 7 ผู้สมัครกับอนาคตของชาวคาตาลัน

19.12.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins read
  • ผลโพลหลายสำนัก รวมถึงนักวิชาการไทยชี้ ผู้สมัครจากฝ่าย Pro Unity ที่สนับสนุนให้กาตาลุญญายังคงเป็นส่วนหนึ่งของสเปนต่อไป มีโอกาสคว้าชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้สูงมาก
  • แต่อย่างไรก็ตามผู้สมัครจากฝ่าย Pro Independence อย่างนายการ์เลส ปิกเดมองต์ และ นายโอริออล ยุงเคอรัส เองก็ยังได้รับความนิยมจากชาวคาตาลันไม่น้อย
  • น่าจับตาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำพาอนาคตของชาวคาตาลันเดินไปในทิศทางไหน

หลังจากที่นายมาเรียโน ราฮอย (Mariano Rajoy) นายกรัฐมนตรีสเปนได้ประกาศใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 155 ต่อแคว้นกาตาลุญญา โดยประกาศให้ผลการลงประชามติเพื่อประกาศเอกราชจากสเปน รวมถึงการประกาศเอกราชเเต่เพียงฝ่ายเดียวเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมา กลายเป็นโมฆะและมิชอบด้วยกฎหมาย พร้อมทั้งสั่งยุบสภากาตาลุญญา ปลดคณะรัฐบาลท้องถิ่นทั้งหมดและประกาศให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นในวันที่ 21 ธันวาคมที่จะถึงนี้

 

ทำให้บรรยากาศการเมืองในกาตาลุญญาร้อนระอุขึ้นมาอีกครั้ง น่าจับตาว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะนำพาอนาคตของชาวคาตาลันเดินไปในทิศทางไหน

 

7 ผู้สมัครจาก 7 พรรคการเมือง ผู้กุมอนาคตของชาวคาตาลัน

ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นของแคว้นกาตาลุญญาในครั้งนี้ยังคงเป็นเกมการเมืองของ 2 กลุ่มหลักอย่างกลุ่มผู้สนับสนุนให้กาตาลุญญาแยกตัวเป็นเอกราช (Pro Independence) และกลุ่มสนับสนุนให้กาตาลุญญายังคงเป็นส่วนหนึ่งของสเปนต่อไป (Pro Unity) ที่ขับเคี่ยวกันแทบจะวินาทีสุดท้าย ก่อนที่การเลือกตั้งจะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

 

 

ผู้สมัครคนแรกคือ นายโอริออล ยุงเคอรัส (Oriol Junqueras) จากพรรค Pro Independence อย่าง Republican Left of Catalonia (ERC) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1931 ก่อนที่การเลือกตั้งเมื่อปี 2015 ที่ผ่านมาจะร่วมมือกับพรรคที่มีอุดมการณ์คล้ายกัน ลงเลือกตั้งภายใต้พรรค Junts pel Sí กวาดที่นั่งในสภาไปกว่า 62 ที่นั่งและได้ดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดีของแคว้นกาตาลุญญาในที่สุด ซึ่งภายหลังถูกดำเนินคดีในข้อหาก่อการกบฏ ใช้งบประมาณของรัฐในทางที่มิชอบ และปลุกระดมให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในประเทศ หลังมีคำสั่งยุบสภาตามมาตรา 155 โดยเขาหาเสียงและวางกลยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งนี้ภายในห้องขังเอสเตรเมราที่กรุงมาดริด

 

 

คนต่อมาคือ นายการ์เลส ปิกเดมองต์ (Carles Puigdemont) อดีตประธานาธิบดีแคว้นกาตาลุญญาที่ถูกปลดออกจากตำแหน่ง และต้องลี้ภัยทางการเมืองไปยังกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พร้อมอดีตรัฐมนตรีทั้ง 4 คน เพื่อเดินหน้าต่อสู้เพื่อเจตจำนงของชาวคาตาลันต่อไป นายการ์เลสเป็นผู้สมัครจากพรรค Junts per Catalunya (JuntsXCat) ที่ก่อตั้งขึ้นด้วยตัวเขาเองเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเป็นการรวมตัวกันของพรรค Catalan European Democratic Party (PDeCAT) และบรรดานักการเมืองอิสระที่สนับสนุนการแยกตัวเป็นรัฐเอกราชจากสเปน หากเขาได้รับเลือกให้เป็นผู้นำแคว้นอีกหนึ่งสมัย มีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลภายใต้การนำของเขาจะเร่งเดินหน้านำพากาตาลุญญาประกาศเอกราชจากสเปนอีกครั้งอย่างแน่นอน

 

 

อดีตพรรคร่วมในรัฐบาลชุดก่อนอย่างพรรค Popular Unity Candidacy (CUP) ได้ส่งนายการ์เลส เรียรา (Carles Riera) ผู้นำพรรคคนใหม่ลงชิงชัยเก้าอี้ผู้นำแคว้นในครั้งนี้ โดยเขามีจุดยืนในการสนับสนุนให้กาตาลุญญาประกาศตัวเป็นเอกราชและถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป ซึ่งเขาเน้นย้ำว่าจะไม่มีการเจรจาเกิดขึ้นกับพรรคการเมืองใดหรือใครก็ตามที่พยายามจะเจรจาต่อรองกับรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริด เพื่อให้เขาและพรรค CUP ปรับเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง

 

 

ในขณะที่ทางด้านฝ่ายสนับสนุนให้กาตาลุญญายังคงเป็นส่วนหนึ่งของสเปนต่อไปก็ได้รับความสนใจและเสียงตอบรับไม่น้อยจากชาวคาตาลัน โดยเฉพาะนางอิเนส อาร์รีมาดัส (Inés Arrimadas) ผู้สมัครจากพรรค Ciudadanos ที่ถูกมองว่าเป็นผู้สมัครที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่งในการเลือกตั้งหนนี้ ซึ่งพรรคของเธอมีจุดยืนต่อต้านกลุ่มชาตินิยมชาวคาตาลันมาโดยตลอด

 

 

นายมิเกล อิเซต้า (Miquel Iceta) คือผู้สมัครลงชิงตำแหน่งเก้าอี้ผู้นำแคว้นกาตาลุญญาอีกคนหนึ่งจากพรรค Socialists’ Party of Catalonia (PSC) ที่สนับสนุนความเป็นเอกภาพภายในสเปน โดยโพลหลายสำนักยกให้เขาเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจรองจากนางอิเนส แม้จะถูกโจมตีเรื่องรสนิยมทางเพศและอาจส่งผลกระทบต่อจุดยืนกับพรรคร่วมหัวอนุรักษนิยมที่ต่อต้านกฎหมายแต่งงานของเพศเดียวกันก็ตาม

 

 

ทางด้านพรรค Popular Party of Catalonia (PPC) ที่ส่งนายฆาเบียร์ การ์เซีย อัลบิออล (Xavier García Albiol) ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากนายราฮอยและรัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดให้ลงชิงชัยในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ เพื่อหวังสร้างความเป็นเอกภาพขึ้นอีกครั้งภายในประเทศ แต่ดูเหมือนว่านายฆาเบียร์จะไม่ได้รับเสียงตอบรับเท่าที่ควร ท้ายที่สุดแม้ว่าฝ่าย Pro Independence จะสูญเสียเสียงข้างมากในรัฐสภากาตาลุญญา และจบลงด้วยชัยชนะของกลุ่ม Pro Unity แต่นั่นก็ยังสะท้อนถึงความพ่ายแพ้และสูญเสียคะแนนนิยมของพรรคอนุรักษนิยมของเขาที่มีให้แก่พรรค Ciudadanos ในฐานะผู้นำกลุ่มฝ่ายสนับสนุนเอกภาพภายในสเปน

 

 

และผู้สมัครคนสุดท้ายอย่างนายฆาเบียร์ โดเมเนช (Xavier Domènech) จากพรรค Catalunya en Comú-Podem ที่ถูกมองว่าเป็นกุญแจสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก หากพรรคที่ได้ที่นั่งสูงที่สุดในสภาไม่ได้รับที่นั่งเกินกึ่งหนึ่งหรือ 68 ที่นั่ง จาก 135 ที่นั่ง เนื่องจากจุดยืนของพรรคการเมืองนี้ไม่แน่ชัดและพร้อมปรับเปลี่ยนตลอดเวลา โดยพรรคมีมติสนับสนุนการเลือกลงประชามติของชาวคาตาลันเมื่อวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา แต่กลับไม่สนับสนุนให้กาตาลุญญาประกาศแยกตัวเป็นเอกราชจากสเปน ซึ่งทำให้นายฆาเบียร์น่าจับตามองไม่น้อย

 

ภาพรวมของผลโพลก่อนการเลือกตั้ง

 

จากผลการสำรวจรอบที่สองของ The National ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 1,000 คนเกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นของแคว้นกาตาลุญญาพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ต่างเทใจให้แก่นางอิเนส ผู้สมัครจากพรรค Ciudadanos ถึง 24.06% (32-33 ที่นั่ง) ในขณะที่พรรค Pro Independence อย่างพรรค ERC ของนายโอรีออลตามมาเป็นอันดับที่ 2 ด้วย 20.73% (30-31 ที่นั่ง) ตามติดมาด้วยพรรค JuntsXCat ของอดีตผู้นำอย่างนายการ์เลสที่กวาดความนิยมไป 18.99% (27-29 ที่นั่ง) ซึ่งจะทำให้ภาพรวมของรัฐบาลท้องถิ่นชุดใหม่เป็นรัฐบาลผสมที่มาจากความร่วมมือของหลากหลายพรรคการเมือง และคาดว่าจะมีชาวคาตาลันออกมาใช้สิทธิราว 83.1%

 

 

ในขณะที่ผลสำรวจของ El Periòdico ล่าสุดในช่วงวันที่ 15-17 ธันวาคมที่ผ่านมา พบว่าโพลมีการเปลี่ยนแปลงไปจากผลสำรวจครั้งก่อนหน้าที่พรรค ERC ของนายโอรีออล อดีตรองประธานาธิบดีที่ต้องโทษจำคุกอยู่ภายในขณะนี้มีคะแนนความนิยมมาเป็นอันดับ 1 ก่อนที่จะถูกนางอิเนส ผู้สมัครจากพรรค Ciudadanos ขับเคี่ยวและแซงขึ้นมาอยู่บนสุดของหัวตาราง ซึ่งได้รับผลโหวตถึง 22.5% (29-30 ที่นั่ง) ตามมาด้วยนายโอรีออล จากพรรค ERC และนายการ์เลส จากพรรค JuntsXCat ตามลำดับ โดยนายการ์เลสยังคงเป็นผู้สมัครที่ประชาชนอยากให้ดำรงตำแหน่งผู้นำแคว้นอีก 1 สมัย

 

 

ดร.เชาวฤทธิ์ เชาว์แสงรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญาและวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมลาตินอเมริกา แสดงความเห็นสอดคล้องกับผลโพลข้างต้น โดยคาดการณ์ว่า นางอิเนส อาร์รีมาดัส ผู้สมัครจากพรรค Ciudadanos จะสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากเป็นผลพวงมาจากการเข้าควบคุมสถานการณ์ความขัดแย้งของรัฐบาลกลางสเปนที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ รวมถึงหากวิเคราะห์ผลได้ผลเสียจากการแยกตัวเป็นเอกราช พรรคของนางอิเนสดูจะเป็นตัวเลือกที่น่าจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด

 

“ถ้าหากคุณเป็นพวก Pro Independence และตัดเรื่องชาตินิยมออกไป วิเคราะห์ผลได้ผลเสียจากการเดินหน้าประกาศแยกตัว คุณจะพบว่า มันมีผลเสียมากกว่า คุณจะไม่มีที่ยืนในสหภาพยุโรป ผู้สมัครจากพรรคที่ Pro Independence ก็ยังไม่ได้ให้ข้อสรุปแนวทางหรือแพลตฟอร์มว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร ผมจึงมองว่า นางอิเนสจากฝ่าย Pro Unity จะได้รับชัยชนะ เพราะผมมองถึงความเป็นพลเมืองโลก (Citizens of the World) เป็นหลัก”

 

“ส่วนกระแสชาตินิยมในกาตาลุญญาก็ยังจะคงเดินหน้าต่อไป รัฐบาลกลางที่กรุงมาดริดอาจอาศัยช่วงเวลานี้เจรจาต่อรองเรื่องอำนาจในการปกครองตนเองกับรัฐบาลเเคว้นกาตาลุญญา โดยเฉพาะสิทธิในการบริหารจัดการและจัดเก็บภาษี รวมถึงค่าใช้จ่ายและงบประมาณต่างๆ ซึ่งยังสงวนหน้าที่ด้านการต่างประเทศ กลาโหมและการพิมพ์ธนบัตรให้ยังเป็นหน้าที่ของรัฐบาลกลางต่อไป”

 

 

ในขณะที่ณภัทร พุ่มศิริ เจ้าหน้าที่ฝ่ายกงสุล สถานเอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทยและอดีตนักเรียนเเลกเปลี่ยน ผู้เคยอาศัยอยู่ในแคว้นกาตาลุญญา แสดงความเห็นต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า เป็นเกมการเมืองที่น่าจับตามอง เนื่องจากผู้สมัครในแต่ละฝ่ายต่างมีผลโพลสำรวจที่ค่อนข้างสูสีกันมาก ซึ่งทั้งกลุ่มสนับสนุนและต่อต้านการประกาศเอกราชต่างมีผู้สมัครเป็นของตนเอง

 

โดยณภัทรได้ตั้ง ‘ข้อสังเกตบางประการ’ ถึงการเลือกตั้งผู้นำแคว้นกาตาลุญญาว่า การประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 155 จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของโพลแต่ละสำนักมากน้อยแค่ไหน และหากนายโอรีออล จากพรรค ERC ได้รับคะแนนโหวตสูงสุดและมีอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาล เขาจะได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขังให้ออกมาเดินหน้าบริหารประเทศหรือไม่

 

แต่อย่างไรก็ตามยังมีความเป็นไปได้สูงมากที่นางอิเนส จากพรรค Ciudadanos จะได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของแคว้นกาตาลุญญา เนื่องจากฐานเสียงของกลุ่ม Pro Unity จำนวนไม่น้อยเบื่อหน่ายกับบรรดาพรรคการเมืองเดิมๆ และพรรคของอิเนสก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

 

 

ต้องมาจับตาดูกันว่า ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นของเเคว้นกาตาลุญญาที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคมนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน อนาคตของชาวคาตาลัน ที่ผูกโยงอยู่กับเสถียรภาพและความมั่นคงของสเปน รวมถึงภูมิภาคยุโรปจะเป็นอย่างไร โปรดติดตาม

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: วิกฤตการเมืองสเปน-กาตาลุญญา เดินทางมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร  https://thestandard.co/spanish-catalan-political-crisis/

 

Photo: AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X