จำได้ไหมว่าครั้งสุดท้ายที่ได้ออกกำลังกายคือเมื่อไร? หรือถ้าคุณเป็นคนที่ชีวิตนี้ไม่เคยออกกำลังกายเลย ลองคิดดูว่าเมื่อตัวเลขอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากวัย 20 ไปสู่ 30 และ 40 ปี แล้วจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายบ้าง
หลังจากที่คนเราเกิดมานั้น ร่างกายจะมีการเจริญเติบโตตามช่วงวัยต่างๆ ตั้งแต่ทารก วัยเด็ก วัยรุ่น จนกระทั่งเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่นที่เป็นจุดเริ่มต้นของวัยเจริญพันธุ์ (อายุราว 11-13 ปี) ที่ร่างกายเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามฮอร์โมนเพศ จนกระทั่งอายุ 17-20 ปี ที่ลักษณะทางกายภาพเจริญเติบโตอย่างเต็มที่จนไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างใหญ่ๆ อีก ซึ่งเป็นช่วงที่เราเข้าสู่วัยผู้ใหญ่อย่างเต็มตัวนั่นเอง
จุดสำคัญที่ต้องเริ่มดูแลร่างกายจึงเริ่มต้นในช่วงอายุ 17-20 ปี เนื่องจากร่างกายของเราแทบจะไม่มีพัฒนาการใดๆ ที่ธรรมชาติจัดสรรให้อีก ฉะนั้นถ้าอยากจะถนอมสุขภาพให้แข็งแรงอย่างยั่งยืน ตัวช่วยที่ดีที่สุดก็คือการออกกำลังกายนั่นเอง
คำถามคือการออกกำลังกายที่ว่านี้มันครอบคลุมกิจกรรมแบบไหนบ้าง? หมอแพนแนะนำว่าเพียงแค่เราทำกิจกรรมทางกายอะไรก็ได้ในปริมาณและระยะเวลาที่เหมาะสม อาจจะเป็นการทำงานบ้าน เดินรอบหมู่บ้าน หรือออกไปวิ่งเพื่อให้หัวใจแข็งแรง ก็ถูกต้องทั้งนั้น และเอพิโสดนี้จะมาแบ่งกลุ่มให้เข้าใจกันชัดๆ ว่าควรออกกำลังกายแบบไหนในแต่ละช่วงอายุ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของร่างกายให้ตรงจุดมากที่สุด
ช่วงอายุ 20 ปี
เป็นช่วงเวลาทองในการสะสมความแข็งแรงของร่างกาย เพราะอวัยวะของเราเพิ่งเติบโตสมบูรณ์อย่างเต็มที่
แต่หากไม่ออกกำลังกายเลยก็จะมีความแข็งแรงสะสมอยู่น้อย เมื่อถึงวัยที่ร่างกายถดถอย แน่นอนว่าความเสื่อมย่อมเกิดขึ้นไวกว่าคนอื่นที่แอ็กทีฟและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ช่วงอายุ 30 ปี
เป็นช่วงที่ฮอร์โมนที่ช่วยในการเติบโตและซ่อมแซมร่างกาย เช่น Growth Hormone เริ่มมีการหลั่งในสัดส่วนที่น้อยลง อัตราการเผาผลาญของร่างกายจึงค่อยๆ ลดลงตามไปด้วย เมื่อเรานอนน้อยหรือทำงานหนักก็จะเริ่มอ่อนเพลียง่าย นั่นเป็นเพราะร่างกายเริ่มใช้เวลาในการฟื้นฟูและซ่อมตัวเองนานขึ้นกว่าตอนเด็กๆ
ถ้าไม่ได้ออกกำลังกายเลย ร่างกายของเราก็จะทรุดโทรมลงเร็วกว่าเพื่อนวัยเดียวกันที่ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นั่นเป็นเพราะความแข็งแรงที่เราสะสมไว้มีน้อยกว่านั่นเอง ฉะนั้นก่อนที่จะสายเกินไป เริ่มออกกำลังกายตอนนี้ก็ยังทัน เพราะเริ่มเร็วแค่ไหนก็ยิ่งได้ผลไวเท่านั้น
ช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป
เป็นช่วงที่จะเริ่มตรวจเจอโรคประจำตัวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง ฯลฯ อีกทั้งยังเริ่มเข้าใกล้วัยทองเข้าไปทุกที ร่างกายกำลังเข้าสู่ช่วงการถดถอยที่ชัดเจนตามธรรมชาติ ทำให้คนที่ไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนต้องนำเอาความแข็งแรงที่เคยสะสมไว้ออกมาใช้มากขึ้น เมื่อใช้หมดไปโดยที่ไม่ได้เติมก็จะทำให้ร่างกายทรุดโทรม ป่วยหนักขึ้น ไปจนถึงเสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร
สำหรับคนที่ชีวิตเดินทางมาถึงช่วงวัยนี้แล้วยังไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน จะเริ่มตอนนี้ก็ยังไม่สายและไม่ยากเกินไป แค่เริ่มทำทีละน้อยๆ ช้าๆ อย่างน้อยก็เพื่อคงความแข็งแรงละความสามารถของเราในขณะนั้นไว้ให้มากที่สุด และถ้าทำได้สม่ำเสมอ ผลของการออกกำลังกายก็จะเป็นไปตามเป้าหมายสุขภาพดีที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน
การออกกำลังกายก็เหมือนเป็นการลงทุนสำหรับสุขภาพในระยะยาว ไม่ว่าคุณจะอยู่ในช่วงอายุเท่าไร เชื่อว่าไม่สายเกินไปที่จะเริ่มต้นแน่นอน รับรองว่าเมื่อได้ลองทำจนเป็นกิจวัตรแล้ว คุณจะได้พบตัวเองในเวอร์ชันใหม่ที่ทั้งกระปรี้กระเปร่าและแข็งแรง ซึ่งนี่คือจุดเริ่มต้นของการปรับมายด์เซ็ตในการใช้ชีวิตเพื่อสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน
ติดตามฟังพอดแคสต์ Health Hacker ได้ทุกวันพุธและอาทิตย์ ทาง THE STANDARD Podcast ทุกช่องทาง
Credits
The Host แพทย์หญิงศุภรัศมิ์ ทวนนวรัตน์
Show Creator Care Label
Project Manager ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Creative นัทธมน หัวใจ
Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์
Videographer เสาวภา โตสวาท
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์
Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์
Proofreader วรรษมล สิงหโกมล
Webmaster อารยา ปานศรี
Social Media Admins สุทธกิตติ์ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วนัชพร ดวงนิล, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์
Archive Officer ชริน จำปาวัน